ข่าว

ย้อนงบฯ 7 ปี 8.2 หมื่นล้านแก้ปัญหา "คลองแสนแสบ" รัฐบาล ให้ มท.-เกษตร แก้ครบวงจร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับว่าครบ 7 ปีแล้ว ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา "คลองแสนแสบ" ที่เป็นคลองหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ใช้ในการระบายน้ำและการสัญจรเดินทางทางเรือแทนการใช้รถยนต์ อนาคตรัฐบาลตั้งความหวังการเดินทางเรือในอนาคตต้องเป็นเรือไฟฟ้าลดมลพิษทางอากาศและน้ำในคลอง

"คลองแสนแสบ"  ในปัจจุบันคลองที่มีความสำคัญของคนกรุงเทพฯและปริมณฑล ในการใช้สัญจรทางเรือแทนรถยนต์ เนื่องจากสะดวกและรวดเร็ว โดยปัจจุบัน มีประชาชนใช้บริการการเดินเรือยนต์ในคลองแสนแสบ 40 ลำต่อวัน รวมระยะทาง 18 กม.จากเส้นทางวัดศรีบุญเรือง-สะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยเฉลี่ย  2 หมื่นคนต่อวันหรือ 400 กว่าเที่ยวต่อวัน  แต่วันนี้คลองแสนแสบเริ่มมีกลิ่นและสีดำคล้ำขึ้น สาเหตุอะไรที่ทำให้คลองแสนแสบยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จดั่งความหวังว่าจะเป็น "เวนิสตะวันออก

 

 

การแก้ปัญหา "คลองแสนแสบ" เมื่อปี 2558 รัฐบาลมอบหมายให้ "กระทรวงมหาดไทย" เป็นแม่งาน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2558  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติกรอบวงเงินเพื่อฟื้นฟูคลองแสนแสบจำนวน 7,000 ล้านบาท โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 จากเดิมกำหนดแล้วเสร็จปี 2563 โดยให้ กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กรมควบคุมมลพิษ, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมเจ้าท่า และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

ทั้งนี้ ใช้งบ กทม.ดำเนินการประมาณ 6,800 ล้านบาท และงบของกรมเจ้าท่าประมาณ 70 ล้านบาท ในการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) รวมทั้งได้ตั้งคณะกรรมการกำกับแผนปฏิบัติการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

เรือโดยสารใน "คลองแสนแสบ" ประชาชนใช้บริการเรือโดยสารวันละ 2 หมื่นคนต่อวัน

ปรับเพิ่มงบฯ 10 เท่า ใน 84 โครงการ แก้ปัญหาทั้งระบบ “กระทรวงเกษตรฯ” เป็นแม่งาน 

โดยในวันที่ 14 ธ.ค.2564 ครม.อนุมัติงบประมาณเพิ่มเป็น 82,563.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6 ปีก่อนกว่า 10 เท่า มีระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี (พ.ศ. 2564 - 2574) รวมจำนวน 84 โครงการ โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ  โดยกรมชลประทานจัดทำรายละเอียดการออกแบบ พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการและงบประมาณ แล้วเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และส่วนที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ รับผิดชอบโดยสำนักการระบายน้ำ มีความยาวประมาณ 47.5 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 20 - 30 เมตร และมีระดับขุดลอกเฉลี่ย -3.00 เมตร  รวมทั้งมีคลองสำคัญเชื่อมต่อ ความยาวประมาณ 0.80 – 12.50 กิโลเมตร เช่น คลองสามเสน คลองลาดพร้าว คลองบางเตย คลองตัน เป็นต้น

 

 

ครม.ฟันธง ต้นเหตุที่ทำให้ “คลองแสนแสบ” เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศ

ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ได้สรุปปัญหาคลองแสนแสบและคลองสาขามีปัญหาน้ำเสีย ดังนี้

1.กิจกรรมครัวเรือนหรือชุมชนที่มีบริเวณติดคลองแสนแสบและคลองสาขา (ร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขาทั้งหมด)

2.โรงงาน สถานประกอบการ ที่จะต้องจัดระบบการระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพมาตรฐานก่อนระบายสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง (ร้อยละ 29)  

3.การเดินเรือและการสะสมของตะกอนท้องคลอง (ร้อยละ 1)

 

มติ ครม.14 ธค.64 ผลักดันแก้ปัญหา "คลองแสนแสบ" ทั้งระบบ

โดยจากการประเมินและตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ พบว่า ในปี 2563 ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่ที่คาดว่าจะระบายลงคลองแสนแสบโดยไม่ผ่านการบำบัด อยู่ที่ 807,672ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading)* เท่ากับ 64,614 กิโลกรัมต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD)* ในพื้นที่ต่าง ๆ ระหว่าง 6.9 มิลลิกรัมต่อลิตร - 12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยคลองสาขาต่าง ๆ มีความสกปรกมาก เช่น คลองลาดพร้าว มีค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading)* 9,832 กิโลกรัมต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD)* อยู่ที่ 18 มิลลิกรัมต่อลิตร

บรรยากาศริม "คลองแสนแสบ" ช่วงอโศก-คลองตัน

น้ำใน "คลองแสนแสบ" ส่งกลิ่นฉุนและมีสีดำคล้ำ

บรรยากาศ "คลองแสนแสบ" ช่วงถนนอโศก

โดยก่อนหน้าที่ ครม.จะอนุมัติตามที่ ประชุม กนช. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 82,563.87 ล้านบาท และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ดังนี้
1. เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาปรับปรุง พื้นฟูคลองแสนแสบตามผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง
2. เห็นควรให้ กทม. และกรมชลประทานพิจารณาการปรับปรุงคลองแสนแสบและคลองบางขนากให้สอดคล้องกับผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมทั้งออกแบบองค์ประกอบให้ครบถ้วน (แผนปฏิบัติการและงบประมาณ) และเสนอผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญพิจารณาองค์ประกอบให้สมบูรณ์ก่อนเสนอ กนช. ต่อไป
3. เห็นควรให้กรมชลประทานและจังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการกำจัดผักตบชวาโดยใช้งบประมาณดำเนินงานของหน่วยงาน

 

 

ตั้งเป้า “คลองแสนแสบ” ต้องมี “เรือไฟฟ้า” ในอนาคต

โดย ครม.ได้วาง ผลสัมฤทธิ์สำหรับคลองแสนแสบแบบทั้งระบบ ดังต่อไปนี้

1. มีการพัฒนาระบบขนส่งและความปลอดภัยทางน้ำโดยมีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบในกรุงเทพมหานครทั้งสาย โดยใช้เรือไฟฟ้าในการสัญจร รองรับการใช้บริการ 800 – 1,000 คนต่อวัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือคลองแสนแสบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสาร
2. มีการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน และอาคารประเภทต่าง ๆ พร้อมมีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
3. มีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ ได้แก่
    3.1ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ระบายน้ำสามารถเร่งการระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กิโลเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่
   3.2 ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่


เปิดงบฯ 8.2 หมื่นล้านบาท ใน 84 โครงการ ผลักดัน "คลองแสนแสบ" ตอบโจทย์คนเมือง ย้อนงบฯ 7 ปี 8.2 หมื่นล้านแก้ปัญหา "คลองแสนแสบ" รัฐบาล ให้ มท.-เกษตร แก้ครบวงจร  

และจากโครงการที่ได้มีขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2564 จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 82,563.87 ล้านบาท ยังไม่แน่ใจว่า ณ วันนี้ จนถึงปี 2574 หวังว่าน้ำในคลองแสนแสบจะเป็นดั่งฝันเป็นเมือง "เวนิสตะวันออก" ตามที่เคยได้รับสมญานามไว้หรือไม่
เอาเป็นว่า ความหวังการใช้บริการโดยสารทางเรือนับว่าเป็นการตอบโจทย์การเดินทางของคนกรุงและปริมณฑลเป็นอย่างมาก สอดรับกับแบบสอบถามของ "กรมเจ้าท่า" ที่ได้ออกแบบสำรวจความพึงพอใจและความไม่พึงพอใจของผู้ใช้บริการเรือและท่าเรือโดยสารในเขต กทม. และปริมณฑล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ส่วนใหญ่ใช้บริการเฉพาะเรือคลองแสนแสบ ถึงร้อยละ 64.50 โดยมีผู้ใช้บริการอยู่ในช่วงอายุ 21-30 ปี ลองลงมาเป็นช่วงอายุ 31-40 ปี และเป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 47.86   และที่พึงพอใช้ในการใช้บริการเป็นเพราะอัตราค่าโดยสาร และความสะดวกรวดเร็ว และผลสำรวจที่มีขึ้นแสดงให้เห็นว่า คนกรุงกว่า 2 หมื่นคนต่อวันที่เดินทางด้วยเรือต้องสูดดมกลิ่นเหม็นของน้ำในคลองแสนแสบ รวมไปถึงชาวบ้านที่พักอาศัยอีกจำนวนมากต้องสูดดมกลิ่นอาจจะส่งผลเดือดร้อนรำคาญจนเคยชิน

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดด้วย 84 โครงการ 8.2 หมื่นล้านบาท คนไทยจะได้เห็น "คลองแสนแสบ" ที่สวยงาม ปลอดกลิ่น มีน้ำคลองที่สะอาดตาได้เห็นในปีไหน หรือว่าจะรอการบังคับใช้กฎหมายครัวเรือนที่ต้องให้ทุกบ้านมีการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงท่อระบายน้ำ เพื่อเป็นแบ่งเบาโครงการบำบัดน้ำเสียที่รัฐสร้างขึ้น แต่อย่างหลังนี้เชื่อว่า น่าจะยากกว่า เพราะถ้าให้ประชาชนบำบัดน้ำเสียเอง น่าจะเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนต้องแบกรับในภาวะสภาะเศรษฐกิจในปีนี้และในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า เอาเป็นว่ารอดูความคืบหน้า 84 โครงการที่รัฐบาลสร้างขึ้นน่าจะดีกว่า

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ