ข่าว

แค่น้ำประปา ก็เป็นปัญหาที่ต้อง 'ปลดล๊อกท้องถิ่น'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประธานพรรคก้าวหน้า ยกตัวอย่างน้ำประปา เป็นปัญหาที่ต้อง 'แก้รัฐธรรมนูญ' เพื่อให้มีการปลดล็อกท้องถิ่น จากส่วนกลาง

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เริ่มต้นการอภิปรายนำเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น ด้วยการชูขวดน้ำประปาจาก อบต.พนมไพร อ.ค้อใหญ่ ร้อยเอ็ด ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาน้ำประปาในตำบลส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่มีปัญหาขุ่นข้น กำหนดเวลาเปิดปิด ประชาชนต้องดิ้นรนหาน้ำสะอาดเอง การจะลงทุนเพื่อปรับปรุงน้ำประปาทั้งระบบในตำบลให้ใสสะอาด สามารถทำได้ด้วยการใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาทต่อตำบล ซึ่ง อบต. ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเงินลงทุนต่อปีแค่ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น

 

ถือเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีอิสระและไม่มีงบประมาณของท้องถิ่น หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ท้องถิ่นต้องใช้คือการวิ่งเต้นของบประมาณจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งหลายเรื่องผ่านไปหลายสิบปี โครงการก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

 

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

ธนาธรระบุว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิด และถ้าเราถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนแก่จนตายและส่งต่อไปถึงลูกหลานของเรา เราต้องการสังคมแบบนี้ต่อไปหรือ สังคมที่คนหนุ่มสาวต้องเดินทางไปแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่เพราะไม่มีงานอยู่ที่บ้าน โครงการพัฒนาจากส่วนกลางที่ไม่ตอบโจทย์คนพื้นที่เต็มไปหมด เต็มไปด้วยปัญหาถนนที่ส่งผลถึงความเป็นความตายในการเดินทางไปโรงพยาบาลไปโรงเรียน น้ำประปาที่ซักผ้าล้างหน้า แปรงฟันยังไม่ได้ ระบบชลประทานที่คลุมแค่ 23% ของพื้นที่เพาะปลูก

 

ร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่นมีหลักใหญ่ใจความ 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คืออำนาจและอิสระในการบริหาร ยึดหลักอำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกตัวแทนของตัวเอง ร่างฯ นี่คือการทำให้หลักการนี้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความอีก ว่าอำนาจในการให้บริการสาธารณะเป็นของใคร นี่คือการทำให้ท้องถิ่นมีอิสระและอำนาจเต็มที่ในการออกแบบพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหามากกว่าคนในพื้นที่ รักบ้านของตัวเองมากกว่าคนในพื้นที่ อยากเห็นบ้านของตัวเองพัฒนามากกว่าคนในพื้นที่ และคนที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีแรงจูงใจในการตอบสนองประชาชนมากกว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางแน่นอน

 

 

ส่วนการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมเหมาะสม ร่างฯ นี้เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมและเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ จากที่ได้รับส่วนแบ่งงบประมาณร้อยละ 30 ในปัจจุบัน ให้เป็นร้อยละ 50 ในอนาคต การจัดสรรงบประมาณใหม่เช่นนี้ ทำให้ท้องถิ่นไม่ต้องวิ่งเต้นหางบประมาณอีกต่อไป งบประมาณมาอยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประชาชนเข้าถึงงบประมาณได้ผ่านตัวกลางเดียวคือบัตรเลือกตั้ง เลือกคนที่จะมาใช้งบพัฒนาพื้นที่ด้วยตัวเอง สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ ออกแบบการจัดบริการสาธารณะแบบที่ประชาชนต้องการได้ด้วยตัวเอง

 

ธนาธรสรุปว่า รัฐสภาแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งรวมศูนย์ภาพของไทยได้ดีที่สุด นั่นคือ ทุกวันก่อนเริ่มประชุม ส.ส. จะต้องใช้เวลาคนละ 2 นาที ปรึกษาหารือ ซึ่งตัวเลขจากสำนักประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ร้อยละ 65 ของเรื่องปรึกษาหารือ เป็นเรื่องถนน ไฟฟ้า ประปา ซึ่งเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นกลับขาดงบและอำนาจในการแก้ปัญหา จนประชาชนต้องพึ่งพา ส.ส. ให้นำเรื่องมาสู่สภา กว่าเรื่องจะถูกแก้ ก็ผ่านไป 2-3 ปี ไม่ทันกับความต้องการของประชาชน จึงขอเรียกร้องสมาชิกรัฐสภา ให้ช่วยกันผ่านร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อจบปัญหาในรุ่นจองเรา ให้ท้องถิ่นได้ทำหน้าที่รับใข้ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ