ข่าว

บีทีเอสปล่อยคลิป 'เจ้าสัวคีรี' ทวงหนี้สายสีเขียว 4 หมื่นล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

BTS เผยคลิป เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ ถามหาผู้รับผิดชอบ ชี้ถึงเวลารัฐ-กทม. จ่ายหนี้"รถไฟฟ้าสายสีเขียว"4 หมื่นล้าน

วันที่  21 พ.ย.65 ฝ่ายประชาสัมพันธ์รถไฟฟ้า "บีทีเอส" ได้เผยแพร่คลิปสั้นความยาว 2 นาที ถึงการสัมภาษณ์ของ"นายคีรี กาญจนพาสน์" ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ส์ จำกัด  (มหาชน)  เรียกร้องทวงถามหาผู้รับผิดชอบให้รีบแก้ปัญหาการชำระหนี้ ให้กับ"บีทีเอส" 

 

นายคีรี กาญจนพาสน์

บีทีเอส ได้ขึ้นข้อความว่า  "คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน... ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน… ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้านบาท" 

พร้อมกันนี้ในคลิปสั้น "นายคีรี" ให้สัมภาษณ์ว่า  ช่วงเวลาสามปีกว่า ได้ทำให้ความเสียหายต่อบีทีเอสเป็นตัวเงินถึงสี่หมื่นกว่าล้านบาท  ใครก็รับไม่ได้  ภาคเอกชน  ผู้ลงทุน ต้องจ่ายทุกวัน ทั้งเป็นค่าใช้จ่ายให้พนักงาน ค่าไฟก็ต้องจ่าย 

 

"บีทีเอส"ถามหาผู้รับผิดชอบถึงเวลาจ่ายหนี้"รถไฟฟ้าสายสีเขียว"4 หมื่นล้าน

 

 

"นายคีรี"  กล่าวว่า  ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ไม่ว่าเป็น กทม. หรือการเมืองของประเทศ ต้องเข้ามาดูได้แล้ว  เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ท่านใดที่อยู่ในอำนาจ ควรคิดได้แล้วว่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป ยังไงก็ต้องจ่าย  มันเป็นสิ่งที่ใครเสียหาย ผมเชื่อว่า ประชาชน ภาษีเราเสียหาย  อย่าปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้ จะเอาอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม "นายคีรี" กล่าวว่า แม้บีทีเอสได้รับความเสียหายจากการที่ภาครัฐไม่ชำระหนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่บีทีเอสไม่ทำอยู่อย่างเดียว คือว่า  เราจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน 

 

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงกรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีทีเอสซี” เผยแพร่วิดีโอโฆษณาบนรถไฟฟ้าเรียกร้องให้ภาครัฐชำระหนี้คืนบริษัทกว่า 40,000 ล้านบาท จากกรณี กทม.ไม่ชำระค่าจ้างเดินรถให้ ว่า มีเพียงประเด็นกฎหมาย จากที่ข้อบัญญัติ กทม.ระบุว่า การสร้างภาระหนี้ผูกพันงบประมาณ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.ก่อน 


นายชัชชาติ กล่าวว่า จะเห็นว่าสภา กทม.ยังไม่ได้เห็นชอบทำสัญญาจ้างเดินรถ และติดตั้งงานระบบ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จึงมีการทำหนังสือเพื่อสอบถามทางสำนักงานเลขาธิการสภา กทม.ว่า ส่วนนี้ผ่านการอนุมัติจากสภา กทม.แล้วหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องมีการทำสัญญาใหม่ให้เรียบร้อยก่อน 


“เข้าใจว่า ได้มีการส่งหนังสือไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือไม่ก็ภายในสัปดาห์นี้ โดยส่วนของมูลหนี้จากส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 เหลือเพียงแต่ให้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ที่ต้องการนำมูลหนี้ไปรวมกับการต่อสัญญาสัมปทาน ยืนยันว่า ใจเราไม่ได้มีปัญหา กทม.เป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย”

 

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ขณะที่การรับโอนทรัพย์สินในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม.เช่นเดียวกัน ดังนั้น หากไม่ผ่านสภา กทม.จะต้องทำให้ถูกกฎหมาย ถ้าจะเป็นการสร้างหนี้ในอนาคต ก็ต้องผ่านทางสภา กทม. อาจจะต้องทำสัญญาใหม่ 


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ส่วนการสืบสวนการทำสัญญามอบหมายงานในขณะนั้น ก็มีความเห็น 2 ส่วนด้วยกัน คือต้องผ่านสภา กทม.ก่อน และเมื่อเกิดหนี้ค่อยมาขออนุมัติงบประมาณจากสภา กทม. ภายหลัง แต่แนวคิดของผู้บริหารชุดปัจจุบันถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพัน จะต้องให้สภา กทม.เห็นชอบก่อน ไม่ใช่พอทำสัญญาแล้ว แล้วบังคับให้ทางสภา กทม.เป็นผู้อนุมัติเงิน จะเป็นการทำผิดตามข้อบัญญัติ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ