ข่าว

ถอดบทเรียน "มะเร็งปอด" ผ่าน กฎหมายอากาศสะอาด ปัดตก หรือ ไปต่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ ฝุ่นพิษ "PM 2.5" มลพิษทางอากาศ ภัยร้าย ทำคนตายเร็ว ถอดบทเรียน "มะเร็งปอด" ผ่าน กฎหมายอากาศสะอาด ปัดตก หรือ ไปต่อ

มลพิษทางอากาศ และ PM 2.5 ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากหมอหนุ่ม วัย 28 ปี เจ้าของเพจ สู้ดิวะ บอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองตรวจเจอ “มะเร็งปอด” ระยะสุดท้าย ปอดขวาหายไปครึ่งหนึ่งแล้ว ทั้งที่สุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารคลีน ไม่สูบบุหรี่ จึงได้แชร์ข้อมูลให้กับผู้อื่น ว่า มะเร็ง นั้น เป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าใครก็เป็นได้

 

ผ่านไปเพียงไม่นาน ตำรวจหนุ่ม รายหนึ่ง ก็ได้บอกเล่าเรื่องราว ไม่ต่างจากหมอ ที่ตัวเองพบ เป็นมะเร็งปอด ถึงแม้ว่าจะทำงานหนัก พักผ่อนน้อย สังสรรค์บ้างตามประสาวัยรุ่น แต่ก็ชอบออกกำลังกาย ถึงขั้นเสพติดเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญ เค้าไม่สูบบุหรี่ เช่นเดียวกัน

 

 

 

แม้ว่าไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่หลายฝ่ายเริ่มตื่นตัวเรื่องมลพิษทางอากาศ ‘ฝุ่นพิษ’ PM 2.5 ที่เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งอยู่คู่กับประเทศไทยมาหลายปี และมาเป็นฤดูกาล ตั้งแต่หน้าหนาวยาวข้ามปีไปหน้าร้อน ถูกมองเป็นผู้ร้ายไปในทันที เพราะความร้ายกาจของ PM 2.5 คือ มันไม่ได้มาตัวเปล่า แต่ดันเอาเพื่อนอย่าง สารปรอท แคดเมียม โลหะหนักอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมด ล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง

 

 

ขณะที่ข้อมูลจาก นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า "มะเร็งปอด" เป็น มะเร็ง ที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ของ มะเร็ง ที่พบบ่อย มากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน

 

 

ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรค "มะเร็งปอด" คือ การสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง การสัมผัสสารก่อมะเร็งอาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะ ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

 

เมื่อมลพิษทางอากาศ ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง กฎหมายอากาศสะอาด หรือ ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (Thailand Clean Air Nerwork: CAN) ร่วมจัดทำขึ้น และเพิ่งยื่นเสนอต่อรัฐสภาเมื่อเดือนมกราคมปี 2565 ถูกพูดถึงอีกครั้งเช่นเดียวกัน

 

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย เคยกล่าวไว้ว่า “คนไทยทุกคนกำลังมีอายุขัยสั้นลง 1.8 ปี” นี่ไม่ใช่การสาปแช่ง แต่เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องเผชิญ หากอากาศที่เราสูดหายใจเข้าไปทุกวัน ยังคงมีระดับมลพิษสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำถึง 5 เท่า

 

องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ฝุ่น PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นสารก่อ มะเร็ง ในมนุษย์ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

ในขณะที่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า มลพิษในอากาศในประเทศไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลทั้งทางด้านสุขภาพและทางด้านเศรษฐกิจ

 

ดังนั้น สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เป็นสิทธิที่ทำให้บุคคลดำรงชีวิตด้วยอากาศสะอาดที่ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยในร่าง พ.ร.บ. ได้กำหนดคำว่า “อากาศสะอาด” หมายถึง อากาศที่ปลอดสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนในปริมาณที่สูงกว่าปกติ เป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่าง ๆ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ