ข่าว

คณบดีจุฬาฯมึน 600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายสด "ฟุตบอลโลก 2022" เพื่อความเสมอภาค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เปิดใจ" คมชัดลึก" ปม "กสทช." ไฟเขียวงบประมาณกองทุน 600 ล้านบาท หนุนถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022" สุดมึนหลักคิดที่อ้างว่า "สร้างความเสมอภาค" ยกตัวอย่างเทียบ ทั้งบ้านมีเงินใช้ทั้งเดือน 2 ,000 บาท แต่มีสมาชิกเอาเงิน 600 บาท ไปซื้อรองเท้า เสมอภาคตรงไหน

ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึก"ว่า   ผิดหวังมติเสียงข้างมาก ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  "กสทช."     ที่เห็นชอบให้นำเงิน "กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส. )"    จำนวน 600  ล้านบาท   นำไปสนับสนุนให้มีการ ถ่ายทอดสด  "ฟุตบอลโลก 2022"    จากที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เสนอไป  จำนวน  1,600  ล้านบาท  ส่วนท่าทีในส่วนของฝ่ายวิชาการจากนี้ไป  คงต้องหารือว่าจะแสดงออก ทางจุดยืนอย่างไรได้บ้าง ขณะนี้กำลังศึกษาในรายละเอียดว่าที่ประชุม กสทช. มีหลักคิดอย่างไร  ต่อการจัดสรรวงเงิน  600  ล้านบาท ดังกล่าว  เพื่อนำไปสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก  ทำไมไม่เป็น 100 ,200, หรือ 1,000 ล้านบาท  

 

สิ่งที่ค้างคาความรู้สึกก็คือเหตุผลของ  ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.  ที่ระบุว่า  การอนุมัติ  เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาส ให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง ดำเนินการได้ สอดคล้อง   กับวัตถุประสงค์กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.)   จึงสนับสนุนงบประมาณ ถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022" 

"ประเด็นที่ผมหาคำตอบไม่ได้ก็คือ  การอ้างถึงความเสมอภาค    ต้องถามต่อว่า อะไรคือความไม่เสมอภาค   เพราะฟุตบอล   ถ้าไม่ได้ถ่ายทอดสด   ในเมื่อเราอยู่ในสังคมเดียวกัน บ้านหลังเดียวกัน  นั่นก็คือการที่ไม่ได้ดูทั้งหมด 
ไม่มีใครได้เปรียบ เสียเปรียบ   แต่สิ่งที่ผมเห็นว่า กสทช.กำลังทำนั่นก็คือการสร้างความไม่เสมอภาค ให้เกิดขึ้นภายในสังคม   เปรียบง่ายๆ  ถ้าเรามีเงินจำนวน 2,000 บาท  และสมาชิกคนหนึ่งของบ้าน  ต้องการเงินจำนวน 600 บาท  เพียงเพื่อไปซื้อรองเท้า  เพราะอะไรจะต้องจ่ายให้ไป ในเมื่อเงินจำนวน 2,000 บาท คือ เงินที่ต้องเก็บไว้ใช้จ่ายภายในครอบ ครัวตลอดทั้งเดือน" 

 

เขา กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น มาจากการออกกฏของ กสทช.ในอดีต  ที่สร้างปัญหาให้ทุกอย่างลุกลาม   จนกลายเป็นการเอาเงินของรัฐไปสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดสด  มติของเสียงข้างมาก อาจจะถึงกระบวนการต่าง  ที่เข้ามารองรับ เพื่อให้การอนุมัติเงินกองทุนจำนวนนี้ดูสง่างาม แต่ความเป็นจริงคือการกระทำเพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่การออกฏของกสทช. ที่ทำไว้ในอดีต   จนสร้างปัญหาตามมาในภายหลัง ทำให้การเข้าถึงลิขสิทธิ์  ต้องใช้เงินลงทุนมากมายเช่นนี้  

 

 แม้แต่เอกชนก็ไม่กล้าลงทุน และสุดท้ายกลายเป็นของเงินของภาครัฐ ที่ต้องจ่ายไปเพื่อการนี้    หลักเกณธ์ของเงินกองทุนนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ใช้ในการสนับสนุนการผลิตรายการ สร้างสรรรค์ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม แต่วันนี้กสทช.กลับอ้างเรื่องเสียงข้างมาก นำมาใช้เป็นเหตุผลในการสนับสนุนเงินลงทุน เพื่อซื้อลิขสิทธ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก  ยืนยันว่านี่คือการทำในสิ่งที่ผิดต่อหลักการ    เขา กล่าว 

 

รายละเอียดบรรทัดต่อบรรทัด แนวทางกสทช. - จุดยืนนักวิชาการ 

ได้ดูแน่ กสทช. อนุมัติเงินกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท ให้คนไทยได้ดูบอลโลก 2022 ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม

กสทช. อนุมัติเงินกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท ให้ กกท. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 20 พ.ย. – 18 ธ.ค. 2565 ให้คนไทยได้ดู ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า วันนี้ (9 พ.ย. 2565) ที่ประชุม กสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมาก มีมติอนุมัติสนับสนุนเงินงบประมาณแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ทั้งนี้ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามระเบียบต่อไป

 

ทั้งนี้ กรณีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย. – 18 ธ.ค. 2565 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ที่ประชุม กสทช. ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง กสทช. สามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have)

 

"กสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมาก อนุมัติเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท (รวมภาษีและอากรอื่นใด)เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป" ไตรรัตน์ กล่าว

#ข่าวประชาสัมพันธ์

#สำนักสื่อสารองค์กร

#สำนักงานกสทช.

.

แถลงการณ์ คัดค้านการนำเงินกองทุน กทปส. ไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

 

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นตัวแทนจาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อ ขอคัดค้านการอนุมัติสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เป็นจำนวนเงินค่าซื้อลิขสิทธิ์รวมภาษีสูงถึง 42 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท ดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

1. หาก กสทช.พิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั่นหมายถึง การนำเงินจากบัญชีของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ การเข้าถึงบริการกระจายเสียง บริการโทรทัศน์ บริการโทรคมนาคมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคม การพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพ ตลอดจนสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

2. แหล่งของเงินที่ กสทช.จะนำมาใช้ในกรณีนี้ได้ คือ เงินจากบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นคือ บัญชีที่ 1 และบัญชีที่ 2 ของกองทุน กทปส.

 

3. บัญชีที่ 1 ของกองทุน กทปส. เป็นบัญชีหลักของกองทุน กทปส. ที่ต้องสนองตอบวัตถุประสงค์ของกองทุนทุกข้อ ส่วนบัญชีที่ 2 เป็นเงินสำหรับแผนงาน USO (Universal Service Obligation) มีวัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมได้เข้าถึงบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงและเสมอภาค

 

4. ที่ผ่านมา กสทช. เคยให้การสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส.จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้การกีฬาแห่งประเทศไทยซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการกีฬาโอลิมปิก จำนวน 5 รายการ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว 2020 ณ เมืองโลซาน สมาพันธ์รัฐสวิส การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน 2022 ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล และเอเชียนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้เหตุผลและหลักการสนับสนุนว่าเป็นรายการที่มีความหลากหลายของชนิดกีฬา และมีหลายชนิดกีฬาที่คนไทยเข้าร่วมแข่งขัน เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ได้

 

5. กรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แม้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่มุ่งหมายให้ประชาชนคนไทยได้รับชมรายการกีฬาฟุตบอล แต่ก็เป็นประเภทกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนไทยให้ความสนใจจำนวนกลุ่มหนึ่ง และคนไทยไม่ได้มีส่วนร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ด้วย จึงมิได้มีลักษณะที่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ที่จะต้องสร้างและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารให้เกิดประโยชน์สาธารณะ สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงของประชาชนคนไทยในทุกกลุ่ม นับเป็นการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกับการถ่ายทอดสดเฉพาะฟุตบอลโลก 2022 ในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น

 

6. ในเว็บไซต์ของกองทุน กทปส. ได้เผยแพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการบริการกองทุน กทปส. ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 (ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ และหลังจากนั้น ในเว็บไซต์ ไม่ได้มีการเผยแพร่มติที่ประชุมอีก) ได้ระบุสถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 (รวมเงินประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลและเงินทั่วไป) คงเหลือ 3,435.07 ล้านบาท ส่วนบัญชีที่ 2 คงเหลือ 804.27 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ระบุข้อมูลจากแหล่งข่าวใน กสทช.ว่า ปัจจุบัน สถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. ที่สามารถนำมาใช้กับกรณีนี้ได้ คงเหลือประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่า งบประมาณในกองทุน กทปส. ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่คงเหลืออยู่ไม่ใช่งบประมาณที่มีอยู่มาก ในขณะที่ปัจจุบันยังมีประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์ได้ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนจำนวนและคุณภาพของสื่อกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์สำหรับเด็กซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงของสังคมอย่างแท้จริง

 

ดังนั้น การพิจารณานำเงินจากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินส่วนกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะกระทบต่อสภาพคล่องของเงินทุน ส่งผลกระทบสำคัญต่อโอกาสในการเข้าถึงบริการของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของคนไทยในวงกว้าง เกิดการหยุดชะงักของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารของประเทศ และจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้

 

คณาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อ จึงขอคัดค้านการนำเงินจากกองทุน กทปส. ไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 และเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการ กสทช. และ กทปส. ชี้แจงถึงสถานะทางการเงินล่าสุดของกองทุน กทปส. รวมทั้งพิจารณาวาระนี้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ เพื่อหาทางออกของปัญหานี้โดยไม่กระทบต่อสาธารณะ และเป็นตัวแทนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์ของภาคประชาชนวงกว้างเป็นสำคัญ

ผู้ร่วมลงนามแถลงการณ์

คณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ผศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ผศ.นันทสิทธิ์ กิตติวรากูล คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รศ.มาลีย์ บุญศิริพันธ์ นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ

ผศ.จิรภัทร กิตติวรากูล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ

อ.นรากร อมรฉัตร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

วีรวัฒน์ อำพันสุข วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

วรรณรัตน์ นาที มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อและการสื่อสาร

รศ.ดร.มนวิภา วงรุจิระ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ศักดิ์ชัย เอี่ยมกระสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร์ อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โสภิต หวังวิวัฒนา ไทยพีบีเอส

ผศ.คอลิด มิดำ คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา

ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา

พระสมชาย ชวลิตเนตร โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง

พระพงศ์วรพัฒน์ จันโทศรี วัดไตรภูมิ

นราวิชญ์ พรหมณา ช่างภาพอิสระ

นางสาวกฤติยา วรศรี โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย

ดวงแข บัวประโคน บจก.แมวขยันดี

โชตะ ฟูจิตะ โรงพยาบาลห้วยเม็ก

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.
ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube Official : https://www.youtube.com/user/KOMCHADLUEK

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ