ข่าว

วุฒิสภา รับหลักการร่างกฎหมาย" กยศ. ลุ้นมีดอกเบี้ยหรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่างกฎหมาย กยศ.ผ่านวาระแรก วุฒิสภา รับหลักการแล้ว แต่ยังต้องหาข้อสรุปว่า จะคิดอัตราดอกเบี้ย และมีผู้ค้ำประกันหรือไม่

ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 179 ต่อ 4 งดออกเสียง 4  รับหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ ร่าง พ.ร.บ. กยศ. พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ 27 คน กรอบการพิจารณา 30 วัน  ส่วนใหญ่อภิปรายไปแนวทางเดียวกันคือ เห็นด้วยกับหลักการร่างพ.ร.บ. กยศ.ที่ช่วยเหลือนักศึกษาได้มีเงินกู้ยืมเรียน  แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไม่คิดดอกเบี้ย-ไม่มีเบี้ยปรับ เกรงจะเป็นต้นเหตุไม่มีใครคืนเงินกู้ยืม ทำให้กองทุน กยศ.ดำเนินการต่อไปไม่ได้

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า เห็นด้วยหลักการกฎหมายฉบับนี้ แต่ทักท้วงที่ตัดหลักการการปฏิรูปการคิดอัตราดอกเบี้ยชำระหนี้ ซึ่งเป็นการคิดแบบใหม่อันจะส่งผลต่อการคิดดอกเบี้ยในอนาคต เพราะปัจจุบันการชำระหนี้กู้ยืม ลำดับการคิดชำระคือการชำระค่าปรับชำระดอกก่อนที่จะไปชำระเงินต้น แต่ร่างของ ครม. เป็นการปฏิรูปครั้งใหม่ที่นำเงินไปชำระเงินต้นก่อนที่จะนำมาชำระดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังห่วงเรื่องกรอบการพิจารณาหากมีการปรับแก้เนื้อหาของร่างโดยไทม์ไลน์ การบังคับใช้กฎหมายจะไม่ทันสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้

 

วันชัย สอนศิริ ส.ว.อภิปรายว่า การไม่มีผู้ค้ำประกันถ้ากู้มาแล้วเรียนไม่จบ จะหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ เงินจะยิ่งสูญไป เรื่องนี้เป็นการกู้ยืม ไม่ใช่เรียนฟรี หมายความว่าต้องคืน จำเป็นต้องมีหลักประกัน แต่ควรมีข้อยกเว้นตามหลักเกณฑ์ แต่ไม่ควรถึงขั้นให้ไม่มีการค้ำประกัน ดูแล้วหลักลอยไป ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการไม่คิดดอกเบี้ย ทำให้คนกู้ไม่คิดที่จะชดใช้ ยิ่งไม่มีทั้งดอกเบี้ย ไม่มีคนค้ำประกัน นักศึกษาจะเอาเงินไปชำระหนี้มือถืออย่างเดียว  แต่หนี้ กยศ.ทุกคนมองไม่ชำระก็ได้ ร่างกฎหมายนี้ทำให้ทุกคนขาดความรับผิดชอบ ขาดจิตสำนึก คิดว่าไม่ใช่เงินพ่อแม่

พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.อภิปรายว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ไม่ชำระหนี้ กยศ.ขณะนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 26 ถ้ากฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เงินทุนหมุนเวียนในกองทุนกยศ.ปีละ 4หมื่นล้านบาท จะหายไปปีละ 1-2หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน2-3ปี เงินสะสมในกองทุนกยศ.ก็จะหมด เด็กรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสได้เรียน

 

ขณะที่ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเนื้อหาที่สภาผู้แทนราษฎรแก้ไข มองว่าการศึกษาเป็นสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ใช่การให้กู้ยืมเงิน การออกกฎหมายกองทุนกู้ยืมเงินผิดมาตั้งแต่ต้น ไม่ควรให้เป็นการกู้ยืมเงิน แต่ต้องจัดเป็นสวัสดิการให้ประชาชน ในช่วงใกล้เลือกตั้งพรรคการเมืองเกทับรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองให้ประชาชนได้มากกว่ารัฐบาล ยิ่งใกล้เลือกตั้งประชาชนจะเลือกใคร ยิ่งภาวะปัจจุบัน อาจถูกกล่าวหาว่าขายชาติ จากนโยบายที่ออกมา ทั้งที่ไม่ได้ขายชาติ ทั้งนี้ขอรับหลักการ และจะแปรญัตติเสนอให้รัฐต้องหางานให้ผู้เรียนจบได้ทำเพื่อมีรายได้ มาใช้หนี้และมีชีวิตอยู่ที่ดี

 

ติดตามคมชัดลึกได้ที่

LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ