ข่าว

คุยกับ นักวิชาการ มองภาพ สถานการณ์การเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุยกับ นักวิชาการ รัฐศาสตร์ มองภาพรวม สถานการณ์ การเมือง ชี้ นายกฯ ไปต่อ แต่อำนาจต่อรองลดลง ชี้ ม็อบ ไม่ใช่ทางออกที่ดี คน หวังใช้ กลไก การเลือกตั้ง


นับตั้งแต่ การวินิจฉัย ของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดถึงการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ยังไม่สิ้นสุด เพราะยึดตามที่ว่า นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ก่อนการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 จึงพ้นจากมลทิน นั้น กระแสการเมือง ก็กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ฝ่ายคัดค้านนอกสภา ม็อบกลุ่มต่าง ๆ แสดงท่าทีพร้อมลงถนนเต็มที่ การเมืองภายใน พรรคพลังประชารัฐ เอง ก็เรียกได้ว่า เร่าร้อนไม่ต่างกัน ด้วยกระแส ให้ลดตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ ลง เปิดทาง ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ลิ้มรสชาติ เก้าอี้นายกฯ ต่อ อีกทั้ง พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็โหมตีตามกระแส ถึงความหมดสภาพ ของ รัฐบาล นี้ แน่นอน ย่อมมุ่งหวัง ให้ยุบสภา ในเร็ววัน เพื่อลงสู้ศึกการเลือกตั้ง ที่ในขณะนี้ แต่ละพรรคการเมือง ก็ออกมาเคลื่อนไหว อย่างมีนัยยะสำคัญ ก็อย่างคึกคัก 

ไม่ว่ามองไปทางใด ความร้อนแรง ก็ไม่ลดลงเสียแม้แต่มุมใดมุมหนึ่ง แล้วสถานการณ์จะเดินไปอย่างไรต่อ 

 รศ.ดร. วันวิชิต บุญโปร่ง

รศ.ดร. วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  มองภาพรวมของการเมือง โดยเฉพาะ นายกรัฐมนตรี ว่า การทำงานของนายกรัฐมนตรี ก็ยังทำงานต่อไป ลดข้อสังเกตความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำเนินการอย่างไร เป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การอยู่จัดงานประชุมเอเปค และ มองว่า การยุบสภา ยังจะไม่เกิดขึ้นโดยเร็ว แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการยุบสภาไปก่อน มองแล้วว่าไม่มีทาง 

 

“เพราะในเดือนตุลาคมนี้ เป็นวาระการพิจารณากฎหมายลูก ในเรื่องของ การเลือกตั้งด้วย มันแน่นอนอยู่แล้ว นอกจากยุบสภาไม่ได้ และมีการประชุมเอเปค การเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ดูไม่สมเหตุสมผล ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีนั้น อยู่ที่ 50-50 เพราะว่า การกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอน พรรคพลังประชารัฐ กร่อยพอสมควร ท่าทีของผู้ใหญ่ภายในพรรค อย่าง วีระกร คำประกอบ จะเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ 3 คน มีทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และคนที่ 3 ที่ยังไม่เปิดเผยชื่อ แสดงให้เห็นว่า อำนาจต่อรอง ของ พล.อ. ประยุทธ์ ในพรรค นั้น เปลี่ยนไปแล้ว และมีแนวโน้ม ลดลงไปค่อนข้างมาก  จากที่ว่า เมื่อก่อนนั้น ไม่สู้ดี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดต ชื่อเดียวของพรรค สะท้อนให้เห็นความนิยม ความศรัทธา  และหยั่งกระแสการเมืองว่า กระแสความนิยม ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมือนเดิมแล้ว

รวมทั้งภายในพรรคเอง ก็กำลังสร้างความร่วมแรงร่วมใจกันใหม่ ในเรื่องของสปิริต ลดความหวาดระแวง การทะเลาะเบาะแว้ง ตั้งแต่ได้ พล.อ.ประวิตร มาเป็น นายกฯ รักษาการ พลังประชารัฐ สามารถเดินหน้าทางการเมือง ไปในทิศทางที่เป็นเอกภาพได้ มันชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์อนาคตทางการเมือง ของ นายกฯ ไม่สู้ดี แต่ถ้าไม่มีอุบัติเหตุใดๆ ก็อยากจะอยู่ให้ครบวาระ ให้ยาวนานที่สุด” 


ส่วน เมื่อมองประเด็น การเมืองบนถนน การลงถนน ของ กลุ่มม็อบต่าง ๆ นั้น อาจารย์วันวิชิต มองว่า การเคลื่อนไหวนั้น ยังมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่การที่จะมีจำนวนคนเข้ามาร่วมลงถนน มากเท่าช่วงก่อนหน้านี้ คงเป็นไปได้ยาก เพราะเชื่อโดยส่วนตัวว่า คนส่วนใหญ่จะยอมเล่นตามกฎกติกา เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  ก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว อยากจะเปลี่ยนแปลงด้วยกลไกของ รัฐธรรมนูญ จะดีกว่า และสังคมไทยผ่านบททดสอบมามากมาย จึงทำให้ คนไทย กลายเป็นคนที่ อดกลั้น ต่อ ความรู้สึกการเมืองอะไรที่มันแปลก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์  อย่างผู้ว่า กทม. หรือ เลือกตั้ง  นายก อบจ. ที่กาฬสินธุ์ หรือ ร้อยเอ็ด 
“ แน่นอน มันเป็นเสียงสะท้อนไม่เอารัฐบาล แต่ถ้าจะให้ไปลงถนนนั้น ผมคิดว่ามันอาจจะทำลายความชอบธรรม หากไปทำแบบนั้น แล้วนำไปสู่การเป็น ข้ออ้าง ของฝ่ายความมั่นคง หรือ ใคร ก็แล้วแต่ ที่จะบอกว่าไม่สามารถที่จะจัดการเลือกตั้ง ในแนวทางปกติได้ นี้จะเป็นสิ่งที่อันตรายมากกว่า ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ อยากจะให้น้ำหนักไปเปลี่ยนแปลงตามกติกากลไกการเลือกตั้งนั่นเอง เพราะมันคือทางออกที่สันติที่สุด”  
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ