ข่าว

เปิดทริคสู่ความสำเร็จ "สหกรณ์ยางพารา" บ้านเขาซก "ซื่อสัตย์-มีความรู้ "

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บ้านเขาซก"สหกรณ์ต้นแบบประสบผลสำเร็จแปรรูปผลผลิตยางพารา พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร เปิดทริคต้นแบบสู่ความสำเร็จ ซื่อสัตย์-มีความรู้

"การบริหารงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ที่ประสบความสำเร็จเนื่องจาก การยึดมั่นบริหารงานด้วย "ความซื่อสัตย์ สุจริต" โดยระดับผู้จัดการและกรรมการถือเป็นกลุ่มหลัก ๆ ที่ต้องเสียสละจัดการช่องโหว่ต่าง ๆ ทั้งนี้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความเสียสละตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ไม่มีปัญหา แต่ขอฝากไปถึงกรรมการสหกรณ์รุ่นต่อ ๆ ไปที่จะสืบสานการบริหารวางแผนดำเนินการสหกรณ์อย่างไรให้มีความโปร่งใสไม่ทุจริต" นายธวัชชัย สุระประเสริฐ รองประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด กล่าวถึงการบริหารจัดการจนกระทั่งสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ประสบผลสำเร็จ 

ตามด้วยหลักดำเนินการในข้อที่ 2 ที่ว่าผู้จัดการ กรรมการ ของสหกรณ์ฯ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินการด้านการตลาด บริหารงานเพื่อหารายได้ เพราะสหกรณ์ถือเป็นการทำกิจการค้า อีกทั้งต้องแข่งขันกับภาคเอกชนหากไม่มีความรู้ความสามารถสหกรณ์ก็อาจมีปัญหาไปไม่รอด เพราะราคายางเกี่ยวโยงไปถึงต่างประเทศ วัถตุดิบ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นเรื่องของเศรษฐกิจโดยตรง นอกจากนี้อยากให้การบริหารของสหกรณ์อยู่ในรูปแบบของบริษัทมหาชนที่มีความยั่งยืนหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการ ที่ไม่ต้องยึดกับคนใดคนหนึ่งเพราะในอดีตหากสหกรณ์บางแห่งไม่มีผู้จัดการกลับทำให้สหกรณ์นั้น ๆ ปิดตัวลง

 

ที่ผ่านมาจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ มีผลมาจากปัจจัยความต้องการยางพาราของตลาดโลก และปัญหาต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบกับเกษตรกรอย่างมาก ทำให้มีรายได้ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ มีภาระหนี้สิน และส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เป็นสหกรณ์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ ซึ่งจากเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวส่วนใหญ่นำส่งขายให้กับโรงงานในเขตพื้นที่อำเภอใกล้เคียงในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายจากปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และค่าจ้างแรงงานมีราคาสูง 
 

ประกอบกับเกษตรกรได้รับผลกระทบในเรื่องราคาอ้อย และมันสำปะหลังตกต่ำ จึงมีเกษตรกรบางรายมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาทดแทน จึงได้มีการนำยางพาราเข้ามาทดลองปลูกในพื้นที่ซึ่งได้ผลดี

 

จนกระทั่งในปี 2534 มีการรวมตัวกันของเกษตรกร โดยหันมาทำยางแผ่น แทนการขายน้ำยางสด และรวมกันขายเป็นกลุ่ม จากการร่วมมือช่วยเหลือกันของสมาชิกภายในกลุ่ม จึงได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ ในการสร้างโรงอบยาง เพื่อปรับปรุงคุณภาพยาง และได้ก่อตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2537 สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด 

 

นอกจากนี้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่ทำให้ดำเนินธุรกิจไปอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการดำเนินงานในรูปแบบการตลาดนำการผลิต สามารถรับซื้อยางพาราในราคา 52.09 บาท ผลผลิตที่ได้ประมาณ 54 ตันต่อวัน หรือ ประมาณ 1,400 ตันต่อปี รวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ สร้างรายได้ถึง 72 ล้านบาท โดยแผนการพัฒนาของสหกรณ์ในอนาคตจะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราในแบรนด์สหกรณ์อย่างครบวงจร ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้ที่มั่นคง มีอาชีพทางการเกษตรที่ยั่งยืน ที่สำคัญไม่เป็นหนี้สินทางด้านการเกษตร

 

"แม้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัดจะประสบความสำเร็จหรือบรรลุจุดประสงค์ในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ แล้วก็ตาม แต่เหลือในขั้นตอนของปลายน้ำ ที่มีแนวคิดทำอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น การแปรรูปไม้ยางพารา การทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นการดำเนินการโดยสหกรณ์ ไม่มีพ่อค้าคนกลางมากำหนดราคา นอกเหนือจากใช้ยางที่เราใช้ประโยชน์อยู่แล้ว
 

นอกจากนี้สหกรณ์ได้ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่โดยกู้เงินจากธกส.คาดว่าจะเปิดทำการได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต" รองประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด กล่าว

 

ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกจำนวน 902 ราย ควบคุมการรวบรวมผลผลิตทุกอำเภอในจังหวัดชลบุรี รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง โดยมีการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า เป็นสหกรณ์ดำเนินธุรกิจครบวงจรมุ่งพัฒนาบุคลากร ตอบสนองมวลสมาชิก ผลิตยางแท่งสู่มาตรฐานสากล" ซึ่งมีการดูแลและบริการเกษตรกรสมาชิก ได้แก่ จัดหาสินค้าทางการเกษตรมาจำหน่าย (ปุ๋ย,เคมีการเกษตร,วัสดุอุปกรณ์) รวบรวมผลผลิตยางพารา (ยางแผ่น,ยางก้อนถ้วย) แปรรูปผลผลิตยางพารา (ยางแท่ง STR 20) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แก่ โครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร (ASPL) ได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน เพื่อนำมาจัดซื้อเครื่องชั่งรถบรรทุกพร้อมหลังคาคลุมขนาด 80 ตัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการรวบรวมยางขายให้สหกรณ์ และสหกรณ์แห่งนี้จึงสามารถเดินหน้าการดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงปัจจุบัน
 

เปิดทริคสู่ความสำเร็จ "สหกรณ์ยางพารา" บ้านเขาซก "ซื่อสัตย์-มีความรู้ " เปิดทริคสู่ความสำเร็จ "สหกรณ์ยางพารา" บ้านเขาซก "ซื่อสัตย์-มีความรู้ " เปิดทริคสู่ความสำเร็จ "สหกรณ์ยางพารา" บ้านเขาซก "ซื่อสัตย์-มีความรู้ "

 


ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/


เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่   

 (https://awards.komchadluek.net/#)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ