ข่าว

ศาลปกครองกลาง สั่ง "ป.ป.ช." เปิดเผยผลสอบ  คดีนาฬิกาเพื่อน ของ "บิ๊กป้อม"

ศาลปกครองกลาง สั่ง "ป.ป.ช." เปิดเผยผลสอบ คดีนาฬิกาเพื่อน ของ "บิ๊กป้อม"

15 ก.ย. 2564

ศาลปกครองกลาง สั่ง "ป.ป.ช." เปิดเผยผลสอบ คดีนาฬิกาเพื่อน และคำเเจง ”บิ๊กป้อม”ทั้ง 4 ครั้ง ชี้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแสดงให้เห็นว่าโปร่งใสและตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 15 กันยายน2564 ที่สำนักงานศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 2557/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 1327/2564 ในคดีที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. กรณีไม่เปิดเผยข้อมุลข่าวสารเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรูของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2561 

โดยศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จำนวน 2 รายการที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ให้กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ประกอบด้วย 1.) รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ในวันที่มีมติเกี่ยวกับคดีนี้ รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 2.) คำชี้แจงของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ในคดีนี้ รวมทั้งหมด 4 ครั้ง 

ทั้งนี้ ให้ปกปิดข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะของบุคคล และให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเผยใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

โดยเหตุผลในคำพิพากษาบางส่วนระบุว่า
“การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนี้ จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อันจะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและศรัทธาในการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช. อีกทั้งผู้ฟ้องคดีสมควรจะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องเปิดเผย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 41 และ 59 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ตามหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และเพื่อให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.ให้สิ้นสงสัย อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจ ที่ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลยพินิจ” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกสิ่งที่น่าสนใจในคดีนี้ นอกจากผลของคำพิพากษาที่สั่งให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารคดีนาฬิกาหรูของ "พล.อ.ประวิตร" ข้างต้นแล้ว ยังมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายจาก ป.ป.ช. ที่ศาลปกครองกลางปัดตก คำอ้างของ ป.ป.ช. ในหลายๆ กรณี 

อาทิ ป.ป.ช.อ้างว่าตัวเองเป็น องค์กรอิสระ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการทำหน้าที่ควรถูกเก็บไว้เป็นความลับ และกฎหมาย ป.ป.ช.เองก็ออกมาใช้ในปี 2561 หลังจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่ออกมาใช้ในปี 2540 ซึ่งตามหลักหากมีบทบัญญัติกฎหมายขัดกัน จะต้องยึดตามกฎหมายที่ออกมาภายหลัง โดยศาลชี้ว่า กฎหมาย ป.ป.ช. โดยเฉพาะมาตรา 36 ไม่ใช่บทยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แต่อย่างใด และ ป.ป.ช.เองก็เป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามนิยามของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 4 จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้

ศาลปกครองกลาง ยังยกกฎหมายหลายฉบับมายืนยัน หน้าที่ ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของ ป.ป.ช. และ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจาก ป.ป.ช. ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 3 วรรคสอง (องค์กรอิสระต้องปฏิบัติตามกฎหมาย) มาตรา 41 (รับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ) มาตรา 59 (รัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ) มาตรา 215 (องค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติ), กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 36 (คดีที่ ป.ป.ช.มีมติแล้วให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้) มาตรา 180 (กำหนด “ข้อยกเว้น” โทษในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของ ป.ป.ช.) และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 15 ที่เขียนถึงการให้เจ้าหน้าที่มีดุลยพินิจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยจะต้องพิจารณาถึง 3 ปัจจัย คือ การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐ ประโยชน์ของสาธารณะ และประโยชน์ของเอกชน

ส่วนที่ ป.ป.ช.อ้างว่า ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ ที่มีข้อหาเรื่องการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน จะถูกนำไปใช้กับสำนวนคดีอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น ข้อหารับทรัพย์สินหรือประโยชน์เกิน 3,000 บาท และข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ศาลปกครองกลางก็ปัดตกคำอ้างนี้เช่นกัน โดยระบุว่า เป็นคนละกรณีกัน

อย่างไรก็ตาม ทาง ป.ป.ช.ยังสามารถอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา