Lifestyle

ทำความรู้จัก "โรคซึมเศร้า" และข้อกฎหมาย นายจ้าง มีสิทธิไม่รับ ทำงาน หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อธิบายข้อกฎหมาย ป่วย "โรคซึมเศร้า" นายจ้าง มีสิทธิที่ไม่รับเข้า ทำงาน หรือไม่ พร้อมทำความเข้าใจอาการซึมเศร้า และสาเหตุ

เพจกฎหมาย กฎหมายแรงงาน อธิบายข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" และการทำงาน ตอบข้อสงสัยที่ว่า เป็น โรคซึมเศร้า บริษัทมีสิทธิที่จะไม่รับหรือไม่ ? โดยอธิบายไว้ว่า การพิจารณารับบุคคลเข้าทำงาน เป็นการพิจารณาเพื่อทำสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นความผูกพันกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา ๕๗๕ ที่ว่า

 

"อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้"

การรับเข้าทำงานหรือไม่รับเข้าทำงาน เป็นดุลพินิจของนายจ้างที่สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสมว่าประสงค์จะเข้าทำสัญญาด้วยหรือไม่ โดยทั่วไปจะพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ทัศนคติ ประสบการณ์การทำงาน นอกจากนั้นอาจพิจารณาจากโรคติดต่อ  หรือประวัติอาชญากรรม หรือพิจารณาจากเกณฑ์อื่น ๆ ก็ได้ 

 

แต่จะไม่รับเข้าทำงานเพราะเลือกปฎิบัติต่อเพศ  ความเชื่อ สีผิว ความเห็นทางการเมือง อาจขัดรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายอื่น ๆ 

 

ในส่วนของการป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า" หรือโรคอะไรก็ตาม หากนายจ้างพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจไม่เหมาะกับงานก็อาจพิจารณาไม่รับเข้าทำงาน หรือไม่ตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานด้วยก็ได้ ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา ส่วนกรณีเข้ามาทำงานแล้ว หากนายจ้างจะเลิกจ้างเพราะเหตุป่วย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
 

"โรคซึมเศร้า" คืออะไร

เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่มีในชีวิตประจำวัน ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่าง ๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของ "โรคซึมเศร้า" แล้ว ซึ่ง "โรคซึมเศร้า" ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายได้ 

 

ผู้ที่ป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า" นอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย คนที่เป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านน้อยลงหรือมีงานบ้านคั่งค้าง คนที่ทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อย ๆ จนถูกเพ่งเล็ง เรียกว่าตัวโรคทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ บกพร่องลง ผู้ที่ป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า" จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ร่วมกับอาการทางร่างกายต่างๆ 

 

ดังนั้น การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ แต่ที่เป็นแบบนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง และกลับมาเป็นผู้ทีจิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่าง ๆ ดังเดิม


 เกณฑ์การวินิจฉัย "โรคซึมเศร้า" หากมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า

1. มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน
3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

* ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ
 * ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่
 

 

โรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกับ "โรคซึมเศร้า"


- ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ เป็นภาวะที่เกิดจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ย้ายบ้าน ตกงาน เกษียน เป็นต้น โดยจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วยได้ แต่มักจะไม่รุนแรง ถ้ามีคนมาพูดคุย ปลอบใจก็จะดีขึ้นบ้าง อาจมีเบื่ออาหารแต่เป็นไม่มาก ยังพอนอนได้ เมื่อเวลาผ่านไป ค่อย ๆ ปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าที่มีก็จะทุเลาลง
 
- โรคอารมณ์สองขั้ว ในโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง และมีอยู่บางช่วงที่มีอาการออกมาในลักษณะตรงกันข้ามกับอาการซึมเศร้า เช่น อารมณ์ดีเบิกบานมากผิดปกติ พูดมาก ขยันมาก เชื่อมั่นตัวเองมากกว่าปกติ ใช้เงินเปลือง เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกระยะนี้ว่า ระยะแมเนีย ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วบางครั้งจะมีอาการของโรคซึมเศร้า บางครั้งก็มีอาการของภาวะแมเนีย
 
- โรควิตกกังวล พบบ่อยว่าผู้ที่เป็น "โรคซึมเศร้า" มักจะมีอาการวิตกกังวล ห่วงโน่นห่วงนี่ ซึ่งเป็นอาการหลักของโรควิตกกังวล ที่ต่างกันคือในโรควิตกกังวลนั้น จะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย ร่วมด้วย อาการเบื่ออาหารถึงมีก็เป็นไม่มาก น้ำหนักไม่ลดลงมากเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้านั้นนอกจากอาการวิตกกังวลแล้วก็จะพบอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต ร่วมด้วยโดยที่อาการอารมณ์เศร้านี้จะเห็นเด่นชัดกว่าอาการวิตกกังวล
 

 
ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิด "โรคซึมเศร้า" 


1. กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง

 

2. สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้

 

3. ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้


ขอบคุณ ที่มาข้อมูล เพจกฎหมายเเรงงาน คณะเเพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ