Lifestyle

แสน ทอง  สุขมงคลนามแห่งพระพุทธรูป ๓ สมัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แสน ทอง  สุขมงคลนามแห่งพระพุทธรูป ๓ สมัย  : เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ กฤชนันท์ ธรรมไชย

             พระพุทธศาสนาแผ่เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ประมาณ ๓๐๐ ปี โดยพระโสณะ พระอุตตระ และพระภิกษุติดตามอีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางแห่งสุวรรณภูมิซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณ จ.นครปฐม แม้จะมีข้อสันนิษฐานไปต่างๆ

             ส่วนปฏิมากรรมพระพุทธรูป ผู้สร้างมักเป็นช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญที่สุดในท้องถิ่นหรือยุคสมัยนั้น จัดสร้างอย่างประณีตบรรจง และเป็นประติมากรรมที่มีวิธีการจัดสร้างอย่างศักดิ์สิทธิ์เปี่ยมศรัทธา แต่เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมอยู่ ๓ ยุค ๓ สมัย คือ สมัยเชียงแสน สมัยอู่ทอง และสมัยสุโขทัย ด้วยมงคลนามสั้นๆ ที่ว่า “แสน ทอง สุข”

             “แสน” มากจากคำว่า  “เชียงแสน”

             “ศิลปะเชียงแสน” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “ศิลปะล้านนา”   อันหมายถึงรูปแบบศิลปะที่กระจายอยู่ในภาคเหนือตอนบนตั้งแต่จ.ตาก  แพร่ น่าน ขึ้นไป

             ประติมากรรมไทยสมัยเชียงแสนเป็นประติมากรรมในดินแดนสุวรรณภูมิที่นับว่าสร้างขึ้นโดยฝีมือช่างไทยเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๑ มีปรากฏแพร่หลายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย แหล่งสำคัญอยู่ที่เมืองเชียงแสนวัสดุที่นำมาสร้างงานประติมากรรมที่ทั้งปูนปั้นและโลหะต่างๆ ที่มีค่าจนถึงทองคำบริสุทธิ์ประติมากรรมเชียงแสนแบ่งได้เป็น ๒ ยุค เชียงแสนยุคแรก มีทั้งการสร้างพระพุทธรูปและภาพพระโพธิสัตว์หรือเทวดาประดับศิลปสถาน

             พระพุทธรูปโดยส่วนรวมมีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปอินเดียสมัยราชวงปาละ มีพระวรกายอวบอ้วนพระพักตร์กลมคล้ายผลมะตูม พระขนงโก่ง พระนาสิกโค้งงุ้ม พระโอษฐ์แคบเล็ก พระหนุเป็นปมพระรัศมีเหนือเกตุมาลาเป็นต่อมกลม ไม่นิยมทำไรพระสก เส้นพระสกขมวดเกษาใหญ่พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้น ตรงปลายมีลักษณะเป็นชายธงม้วนเข้าหากัน เรียกว่าเขี้ยวตะขาบส่วนใหญ่นั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัยฐานที่รององค์ พระทำเป็นกลีบบัวประดับ มีทั้งบัวคว่ำบัวหงาย และทำเป็นฐานเป็นเขียงไม่มีบัวรองรับ

             “ทอง” มากจากคำว่า  “อู่ทอง”

             ศิลปะอู่ทอง เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นในภาคกลางของประเทศไทย เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทวาราวดี ขอม เชียงแสนและศิลปะสุโขทัย ศิลปะอู่ทองพบมากที่สุดในบริเวณรอบเกาะเมืองอยุธยา เมืองลพบุรี สุพรรณบุรี และเมืองสรรค์บุรี

             ลักษณะโดยทั่วๆ ไปของพระพุทธรูปแบบอู่ทอง มีไรพระศก ชายจีวรหรือสังฆาฏิตัดเป็นเส้นตรง ประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัยและมีฐานเป็นหน้ากระดานแอ่นเป็นร่องเข้าข้างใน สำหรับอิทธิพลทวาราวดีและขอมผสมกัน พระพุทธรูปมักมีรัศมีเป็นรูปบัวตูม ส่วนอิทธิพลขอมหรือลพบุรี พระพุทธรูปจะมีรัศมี เป็นเปลว ส่วนอิทธิพลสุโขทัยนั้น ถึงแม้จะมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยเข้ามาปนอยู่มาก แต่พระพุทธรูปก็ยังคงมีไรพระศกและฐานเป็นหน้ากระดานแอ่นเป็นร่องเข้าข้างใน

             ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี ได้กล่าวถึงคุณค่าของพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองในงาน “เรื่องประติมากรรมไทย” ว่า “ศิลปะอู่ทองมีค่ายิ่งกว่าของอยุธยาและรัตนโกสินทร์ โดยเหตุที่มีแบบวิธีแปลกและมีคุณค่าของศิลปะอู่ทอง เป็นอาการปรากฏดีที่สุดในหมู่สกุลช่างต่างๆ ของพระพุทธปฏิมาศิลปะสุโขทัยและศิลปะอู่ทองนั้นมีลักษณะตรงกันข้าม ศิลปะสุโขทัยมีวงรูปนอกและรายละเอียดประณีตสุขุม ทำให้เห็นอย่างบริบูรณ์ซึ่งพระรูปโฉมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนศิลปะอู่ทองมีลายเส้นคร่ำเคร่งและตึงเครียด และมีลายเส้นขนาดใหญ่ เป็นอาการสำแดงบ่งให้เห็นว่าพระพุทธองค์ยังมีอำนาจแห่งจิตที่จะเอาชนะแก่โลกีย์ และค้นหาทางหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดให้ถึงซึ่งวิมุตติ (ความหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง)”

             “สุข” มากจากคำว่า  “สุโขทัย”

             ศิลปะแบบสุโขทัยเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ บริเวณลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แถบ จ.สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ พิษณุโลก และบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ทางตอนใต้ของ จ.กำแพงเพชร เป็นศิลปะที่เกิดจากความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ผลงานสร้างสรรค์แบบสุโขทัยปรากฏในงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม

             พระพุทธรูปสุโขทัยจัดเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดในบรรดาศิลปกรรมไทยนิยม สร้าง ๔ อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน หรือที่เรียกกันว่า ปางลีลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะเฉพาะของสุโขทัยที่งดงามที่สุด ส่วนประติมากรรมที่งดงามอีกประเภทหนึ่ง คือ ลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งอาคารและเทวรูปหล่อสำริดที่มีความงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น คือ พระเกศมีรัศมีเป็นเปลว ขมวดพระเกศาเล็กน้อย พระพักตร์รูปไข่ พระโขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์ยิ้มเล็กน้อย พระอังสะใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่อเฉียงชายจีวรยาวลงมาถึงพระนาคีคล้ายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ สร้างเป็นปางต่างๆ เช่น ปางมารวิชัยประทับขัดสมาธิราบ ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง เป็นต้น

             ขอคุณภาพพระสังกัจจายน์ศิลปะเชียงแสน เนื้อทองคำพระพุทธรูป ศิลปะอู่ทอง เนื้อทองคำพระพุทธรูป ศิลปะสุโขทัย เนื้อทองคำ นายสุขธรรม ปานศรี  หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” นักสะสมพระหลวงพ่อทวดมานานกว่า ๑๐ ปี ส่วนผู้ที่สนใจศึกษาพระเนื้อทองคำ รวมทั้งพระองค์ที่ขึ้นชื้อว่าสวยแชมป์ สามารถเข้าชมความงามของพุทธศิลป์ของพระที่อยู่ในความครอบครองในรังพระของเฮียกุ่ยได้ ที่ “WWW.SOONPRARATCHADA.COM” ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ