Lifestyle

จากพิพิธภัณฑ์มีชีวิตสู่ 'เรือนวราพร' พื้นที่สีเขียว ในซอยเจริญกรุง 43

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากพิพิธภัณฑ์มีชีวิตสู่ 'เรือนวราพร' พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในซอยเจริญกรุง 43 สัมผัสความร่มรื่นพร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

มูลนิธิอินสาท-สอาง และ มูลนิธิหมอฟรานซีส คริสเตียน เชิญชวนคนไทยรู้จัก ‘เรือนวราพร’ พื้นที่สีเขียวเล็กๆ เพื่อชุมชนในซอยเจริญกรุง 43 และที่ทำการของมูลนิธิฯ เพื่อระลึกถึง ‘อาจารย์วราพร สุรวดี’ ผู้ก่อตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชาวบางกอกในช่วง พ.ศ.2470-2500 ก่อนจะส่งมอบให้กรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ.2547 โดยมูลนิธิฯ ยังได้สานต่อเจตนารมณ์ของอาจารย์วราพรในการเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี พุทธศาสนา สาธารณสุข ตลอดจนสนับสนุนกิจการเพื่อคุณภาพชีวิตและมลภาวะ และร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป

 

เรือนวราพร

 

เรือนวราพร

 

เรือนวราพร

ภายหลังจากการสูญเสียอาจารย์วราพรในวัย 82 ปี เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2560 ทั้งสองมูลนิธิฯ ได้ร่วมกันดำเนินการก่อสร้าง ‘เรือนวราพร’ ขึ้นอย่างเรียบง่ายทว่าร่มรื่นสบายตาบนพื้นที่ขนาด 105 ตารางวา ผืนดินที่อาจารย์วราพรและคนไทยร่วมกันบริจาคเงินซื้อที่ดินมูลค่า 40 ล้านบาท เพื่อยุติการก่อสร้างอาคารสูง 8 ชั้น อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกอย่างมาก โดยอาจารย์วราพรได้ใช้เงินส่วนตัว 30 ล้านบาท และยอดบริจาคจากคนไทยทั้งประเทศกว่า 10 ล้านบาท (ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน) กลายเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความหวงแหนของคนไทยที่มีต่อมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยแรงบันดาลใจนั้นนำไปสู่การก่อสร้าง ‘เรือนวราพร’ ที่คนไทยต่างก็เป็นเจ้าของพื้นที่สีเขียวเล็กๆ แห่งนี้ร่วมกัน

 

เรือนวราพร

 

เรือนวราพร

 

เรือนวราพร

 

โอกาสนี้ มูลนิธิฯ จึงได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ ‘เรือนวราพร’ ไว้อย่างเรียบง่าย ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘เมือง-มิตร-ดี’ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของย่านการค้าเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ผสมผสานความเป็นพหุวัฒนธรรมของย่านเจริญกรุง ตลาดน้อย ทรงวาด และพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมีเสน่ห์และร่วมสมัย โดยมี ‘กุลยา กาศสกุล’ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิอินสาท-สอาง และมูลนิธิหมอฟรานซีส คริสเตียน เป็นภัณฑารักษ์

 

เรือนวราพร

 

ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหว ‘เรือนวราพร’ ได้ทาง https://www.facebook.com/BkkMuseum

 

ภาพ : สมัชชา อภัยสุวรรณ

logoline