Lifestyle

กรมควบคุมโรค เปิดผลสอบ เหตุชายวัย71 เสียชีวิตบนเครื่องบิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรค แถลงเปิดเผยผลสอบสวนผู้สูงอายุวัย 71 ปี โรคหอบหืดเสียชีวิตบนเครื่องบินขณะกลับไทย ย้ำ! ไทยมีระบบเฝ้าระวังอย่างรัดกุม

จากกรณีที่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับฝ่ายแพทย์การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สอบสวนโรคกรณีได้รับแจ้งจากสายการบิน พบ ผู้เสียชีวิตบนเครื่องบิน ระหว่างเดินทางมาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

กรมควบคุมโรค เปิดผลสอบ เหตุชายวัย71 เสียชีวิตบนเครื่องบิน

เป็นชายไทย อายุ 71 ปี มีโรคประจำตัวหอบหืด ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2(โควิด 19) แต่ไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัส MERS ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวจากกรณีดังกล่าวเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ร่วมกับฝ่ายแพทย์การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สอบสวนโรคพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชายไทย อายุ 71 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 2 เข็ม และไม่ได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

นอกจากนี้ยังได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น โดยญาติผู้เสียชีวิตปฏิเสธการแพ้ยา และผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ผู้เสียชีวิตเดินทางไปแสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบียพร้อมสมาชิกครอบครัวรวม 5 คน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 ขณะอยู่ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย 3 วันก่อนเดินทางกลับประเทศไทย ผู้เสียชีวิตมีอาการหอบหืด เหนื่อย ไอ จึงรักษาตามอาการ

 

เมื่อถึงกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ก่อนขึ้นเครื่องบินผู้เสียชีวิตมีอาการอ่อนแรง ต้องนั่งรถเข็นมาส่งหน้าประตูเครื่องบิน

 

หลังจากนั้นขณะอยู่บนเครื่อง เวลาประมาณ 8.00 น. (เวลาประเทศไทย) ผู้โดยสารที่นั่งใกล้ๆสังเกตเห็นอาการผิดปกติมีลักษณะนั่งคอพับ จึงได้แจ้งลูกเรือให้การช่วยเหลือ ซึ่งไม่พบสัญญาณชีพของผู้เสียชีวิต

 

จึงได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยลูกเรือกับพยาบาลต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารบนเครื่อง และมีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ(AED) แต่ไม่มีสัญญาณชีพใดๆ

 

และเนื่องจากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ซึ่งถือเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด จึงเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกส่วนหลัง ส่งตรวจโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และ โรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ณ สถาบันบำราศนราดูร และ ห้องปฏิบัติการด่านควบคุมโรคฯ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

ผลพบสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2(โควิด-19) แต่ไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัส MERS เจ้าหน้าที่ได้ส่งศพผู้เสียชีวิตไปชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป

 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ประเทศไทยได้วางระบบเฝ้าระวังคัดกรองไว้อย่างรัดกุม โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

 

หากผู้เดินทางมีอาการป่วยสงสัย หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศ ที่มีรายงานโรคอุบัติใหม่ขอให้ไปตรวจรักษาและแจ้งประวัติการเดินทางกับแพทย์

 

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำมาตรการที่สำคัญสำหรับประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยง 608 คือการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 4 เข็ม และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4-6 เดือน ให้รีบไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคโควิด19 ทุกสายพันธุ์ที่พบในขณะนี้

 

โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทั่วประเทศ และสำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศและเป็นกลุ่มเสี่ยงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเดินทางอย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทาง

 

นอกจากนี้ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะจากผู้อื่น ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้สังเกตอาการตนเอง และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการมากขึ้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ