Lifestyle

รู้หรือไม่ อาการ หลงลืม แค่ วางของผิดที่ เข้าข่าย "อัลไซเมอร์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาการขี้ลืม หรือ หลงๆ ลืมๆ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย หรือแม้แต่คนที่มีสิ่งต้องคิดต้องทำเยอะๆ แต่การหลงลืมนั้นมีหลายรูปแบบ อาการบางอย่างอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมประเภท "อัลไซเมอร์"

ซึ่งวันนี้เรามี 10 อาการ หลง   ลืม ๆ ที่เข้าข่าย “อัลไซเมอร์” มาให้คุณผู้อ่านได้สังเกตกัน

 

1. หลงลืม ในเรื่องที่ไม่น่าลืม มีความจำที่แย่ลง

ผู้ที่เริ่มเป็น “อัลไซเมอร์” จะมีอาการ หลงลืม สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าความจำระยะสั้น ลืม วันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่เพิ่งผ่านมา ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะลืม เช่น ลืมการฉลองวันเกิดคนในครอบครัวที่เพิ่งผ่านมา ลืมว่าเพิ่งไปงานรับปริญญาของหลาน หรือมักถามอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งถามไป เพราะลืมไปว่าถามแล้ว รู้แล้ว แต่หากเป็นการหลงลืมเพียงครั้งคราว พอเวลาผ่านไปสักพักกลับนึกขึ้นได้หรือจำได้ นั่นไม่ใช่อาการของโรคอัลไซเมอร์

 

2. บกพร่องในขั้นตอนที่เคยทำเป็นประจำ

ใช้เวลามากขึ้นในการทำกิจวัตร เช่น ตักข้าว กินข้าว ซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ และรวดเร็ว รวมถึงกิจวัตรที่มีขั้นตอนซับซ้อนก็ทำได้ช้าลง หรือทำไม่ได้เพราะจำขั้นตอนและกระบวนการในการทำไม่ได้ เช่น การติดกระดุมเสื้อ การใส่เสื้อผ้า ลืม ทำขั้นตอน เช่น ทำอาหารแล้วลืมใส่เครื่องปรุง หรือ ลืม ว่าใส่แล้วจึงใส่อีก มีปัญหาในการดูแลตัวเอง เช่น การกิน การอาบน้ำ การขับถ่าย การแปรงฟัน การหวีผม คือทำเองไม่ได้ หรือทำได้แต่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สามารถซื้อของตามรายการที่ต้องการ ไม่จ่ายเงินตามจำนวนที่ใบเสร็จแจ้ง ซึ่งไม่ใช่การหยิบเงินผิด หรือได้ยินยอดเงินไม่ถนัด มองไม่ชัด หรือแค่เข้าใจผิดเพียงครั้งคราวเท่านั้น แต่เป็นเพราะคำนวณไม่ได้หรือไม่เข้าใจจำนวนเงิน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่เคยเข้าใจนั่นเอง

 

3. ลืมเส้นทาง หลงทาง สิ่งที่เคยทำได้ดีกลับทำได้แย่ลง

ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรืองานออฟฟิศที่คุ้นเคยกลับรู้สึกทำได้ยาก ลืมเส้นทางที่เคยไปเป็นประจำ เช่น เส้นทางไปทำงาน เส้นทางกลับบ้าน ทำให้ขับรถหลงทางบ่อยๆ ลืมทางเข้าสำนักงาน ทางเข้าบ้านที่ปกติเข้าออกเป็นประจำ ก็ขับรถวนไปวนมาหาไม่เจอ สูญเสียทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ลืมวิธีการใช้โทรศัพท์ การใช้เครื่องไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำเป็นประจำไม่ได้ซับซ้อน หรือต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือของชิ้นใหม่

 

4. สับสนเรื่องวัน เวลา และสถานที่

มักจะสับสนในเรื่องวัน เวลา สถานที่ ฤดูกาล หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร และไปทำไม ซึ่งไม่เหมือนกับการลืมว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ วันนี้เป็นวันอะไรของสัปดาห์ ซึ่งเป็นการ ลืม แบบที่จะนึกออกและรับรู้ได้ในภายหลังเมื่อตั้งสติได้หรือทบทวนเองได้แล้ว

 

5. ไม่เข้าใจในภาพที่เห็น ไม่สามารถรวบยอดความสัมพันธ์ระหว่างภาพกับตัวเองได้

เวลาเดินผ่านกระจกหรือส่องกระจก พอเห็นภาพในกระจกจะไม่รู้ว่านั่นคือภาพของตัวเองในกระจก ไม่รู้ว่านั่นคือกระจก คิดว่าเป็นอีกห้องหนึ่งที่มีคนอื่นอยู่ในนั้น ซึ่งแตกต่างจากความเข้าใจผิดที่เกิดจากสายตาไม่ดีของผู้สูงวัยทั่วไป

 

6. มีปัญหาในการพูด การเขียน การเลือกใช้คำ

ระหว่างคุยกัน อาจจะมีการหยุดพูดไปดื้อๆ เพราะนึกคำไม่ออก ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรต่อ เรียบเรียงคำไม่ถูก เพราะเกิดปัญหา หลงลืม ข้อมูลที่เคยจำได้ พอพูดออกมาก็มักเรียงลำดับคำผิด พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ หรือเรียกชื่อสิ่งของผิด และไม่สามารถเรียกชื่อสิ่งของที่เคยใช้เป็นประจำได้ เช่น ปากกา จาน ช้อน รถ ก็เรียกไม่ถูก

 

7. ลืมของ วางของผิดที่ผิดทาง

มักวางของผิดที่ผิดทาง แต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นการวางของผิดที่ เช่น เก็บรีโมตทีวีไว้ในตู้เย็น พอจะหาของที่ปกติเก็บไว้ในที่เดิมๆ กลับหาไม่เจอ เพราะนึกไม่ออกว่าปกติแล้วเก็บไว้ตรงไหน แต่กลับไปหาสิ่งของนั้นในที่ที่ไม่น่าจะไปวางได้ หรือถ้าหากหาของไม่เจอก็จะมักโทษว่ามีคนอื่นหยิบเปลี่ยนที่วาง หรือคิดว่ามีคนมาขโมยไปแล้ว

 

8. สูญเสียการตัดสินใจที่ถูกต้อง ความสามารถในการตัดสินใจลดลง

ผู้ที่เป็น "อัลไซเมอร์" จะมีพฤติกรรมการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง เช่น เมื่อมีความจำเป็นต้องไปงานสำคัญ กลับไม่ยอมอาบน้ำ ไม่แต่งตัว ไม่ทำผม และคิดว่าตนเองทำถูกต้องแล้วที่ทำแบบนั้น พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่เพราะเกิดจากความขี้เกียจ หรือการไม่ให้ความสำคัญ หรือนิสัยเปลี่ยนไป แต่เกิดจากการตัดสินใจที่ไม่ตรงกับที่ควรจะเป็น

 

9. มีการแยกตัวและลดการเข้าสังคมลง

มักไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ ไม่อยากทำงานที่เคยทำแบบให้เหตุผลไม่ได้ ไม่อยากพบปะผู้คน เฉื่อยชา ไม่สนใจหรือตื่นเต้นต่อสิ่งต่างๆ เก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนเองกำลังมีปัญหาต่างๆ เช่น ลืม เส้นทาง นึกคำไม่ออก ลำดับกิจกรรมที่ต้องทำไม่ได้เหมือนเคย ก็เลยเกิดการแยกตัว ไม่อยากไปไหน

 

10. อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป

มีอารมณ์หงุดหงิดง่ายขึ้นเมื่อต้องไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย มีอาการสับสน หวาดระแวง ซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดกลัว และปรับตัวไม่ได้ เป็นแม้กระทั้งกลับหรือออกจากสถานการณ์นั้นๆ มาสักพักแล้ว

 

ทั้งหมดนี้คือ 10 พฤติกรรม "อัลไซเมอร์" ที่เราสามารถสังเกตได้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงถึง 4 ด้านด้วยกัน คือ

  1. ด้านความจำ
  2. ด้านความคิด
  3. ด้านคำพูด และ
  4. ด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ

 

หากสังเกตแล้วพบว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยกับผู้สูงวัยใกล้ตัว หรือเริ่มส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนๆ นั้น ก็ควรหาโอกาสพาไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องตามอาการต่อไป เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยผู้ป่วยแล้ว คนที่ดูแลผู้ป่วยจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 

ข้อมูล : โรงพยาบาลเปาโล

 

ติดตาม คมชัดลึก คลิก

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote  ในครั้งนี้

รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform

(https://awards.komchadluek.net/#)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ