Lifestyle

เตือนระวัง 9 "โรคติดเชื้อ" ร้ายในหน้าฝน อยู่ให้ห่างป้องกันไว้ไม่เสี่ยง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อเข้าหน้าฝนมี"น้ำท่วม" ทำให้มีเชื้อโรคที่ทำเราติดกันได้ง่ายมากมาย ยิ่งหากมีน้ำท่วมขังอีก ยิ่งเสี่ยงทำให้เกิด 9 "โรคร้าย"นี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

          ในช่วงหน้าฝนล้วนเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คนเราป่วยได้ง่าย ไม่ว่าจะป่วยตอนโดนฝนตก ละอองฝน ป่วยเพราะอากาศเปลี่ยนมีความชื้น แถมยังป่วยไม่สบายเพราะน้ำท่วมและหลังน้ำท่วมได้  ฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ เหล่านี้แถมยังมีโควิดอยู่อีก มาดูกันว่ามีโรคอะไรที่ต้องระวังไว้บ้าง   

1) โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส โรคนี้เรียกว่าเป็นได้ตลอดปี แต่ช่วงฝนตกนี้ยิ่งป่วยได้ง่าย แถมยังติดต่อได้ทุกเพศทุกวัย แพร่กระจายในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย อาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ไอจาม อ่อนเพลีย  ป้องกันได้ด้วยใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ใส่หน้ากากอนามัย ดูแลร่างกายให้อบอุ่น  หมั่นดื่มน้ำอุ่นมากๆ แต่หากป่วยมีไข้สูงติดต่อกันหลายวันควรรีบพบแพทย์

2) โรคปอดบวม เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงการสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด เช่น สำลักน้ำสกปรก รวมถึงการติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทำให้มีอาการไข้สูง ไอมาก หอบหายใจเร็ว เห็นชายโครงบุ๋ม ไปจนถึงมีริมผีปากซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม  ซึ่งหากสงสัยว่ามีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

 

 

เตือนระวัง 9 "โรคติดเชื้อ" ร้ายในหน้าฝน อยู่ให้ห่างป้องกันไว้ไม่เสี่ยง

 

 

3) โรคน้ำกัดเท้า  สาเหตุเกิดได้ทั้งจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนอง  ซึ่งมาจากการย่ำน้ำหรือเท้าไปแช่น้ำที่มีเชื้อโรค ตลดจนการอับชื้นจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด หรือเปียกชื้นเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนคือผิวหนังอักเสบได้  การป้องกันทำได้ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

4) โรคตาแดง   จะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1 – 2 วัน เริ่มจากระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้ มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ทั้งนี้หากดูแลถูกวิธีจะหายได้ใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่แนะนำว่าหากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้หรือดูแลไม่ดี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ หรืออาการรุนแรงอื่นๆได้ ส่วนการป้องกันทำได้ด้วยการล้างดวงตาให้สะอาดเมื่อถูกฝุ่นละออง หมั่นล้างมือบ่อยๆ และไม่ควรขยี้ตา

 

 

เตือนระวัง 9 "โรคติดเชื้อ" ร้ายในหน้าฝน อยู่ให้ห่างป้องกันไว้ไม่เสี่ยง

 

 

 5) โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร  เกิดจากการได้รับเชื้อโรคจากอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย  เช่น อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูด ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค และโรคบิด ทำให้มีอาการอุจจาระร่วง ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายมีมูกเลือด การป้องกันคือหมั่นล้างมือให้สะอาด เลือกกินอาหารร้อนปรุงสุก สะอาด กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน

 6) โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส โรคที่มีเชื้อมาจากฉี่ของหนูแล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง ติดต่อทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือไชเข้าตามเยื่อบุตา จมูก ปาก หลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูงทันที ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดศีรษะมาก บางรายตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดินร่วมด้วย ซึ่งต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจรุนแรงถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้  การป้องกันคือสวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ ทำความสะอาดที่พักไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู

 

 

7) โรคไข้เลือดออก  มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่คน ทำให้มีอาการไข้สูงตลอดทั้งวัน หน้าแดง เกิดจุดแดงๆ เล็กๆ ตามลำตัว ต่อมาไข้จะลดลง ซึ่งต้องระมัดระวังเพราะอาจเกิดอาการรุนแรง มีความผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ ไอปนเลือด เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ การดูแลรักษาต้องระวังห้ามกินยาแอสไพริน ส่วนการป้องกันคือระวังไม่ให้ถูกยุงกัด

8)โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่มักพบในเด็ก มักเกิดจากเชื้อไวรัสที่พบมากในฤดูฝน ติดต่อง่ายผ่านการไอจาม อาการหลังจากได้รับเชื้อ 8 – 12 วัน จะมีไข้ ตาแดง พบจุดขาวๆ เล็กๆ ในกระพุ้งแก้ม  ป้องกันได้โดยฉีดวัคซีน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย

9) โรคไข้มาลาเรีย ติดต่อโดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อโรค มักพบในพื้นที่ป่าเขาที่มีแหล่งน้ำ อาการหลังรับเชื้อ 7 – 10 วัน จะทำให้ปวดศีรษะ คล้ายไข้หวัด แต่หลังจากนั้นจะหนาวสั่นและมีไข้สูงตลอดเวลา โรคนี้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้  จึงต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการทายาหรือสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด

 ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลกลาง http://www.klanghospital.go.th, https://www.bumrungrad.com

 

 

logoline