บันเทิง

เรื่องย่อ'โหมโรง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จอแก้ว : เรื่องย่อ โหมโรง

          เรื่องย่อ โหมโรง ละครโทรทัศน์แห่งความภาคภูมิใจในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทย อันเป็นรากของแผ่นดิน ความงดงามและความไพเราะจากเครื่องดนตรีไทยอย่าง "ระนาดเอก" เริ่มต้นบรรเลงขับขานไปพร้อมกับเรื่องราวอันเข้มข้นของ "ศร" บุรุษผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "มหาคีตกวี" กับเส้นทางชีวิตมุ่งหน้าสู่ความเป็น "นักระนาดเอกมือหนึ่งของแผ่นดิน" บรมครูของนักดนตรีไทย ผู้ผ่านทั้งยุคทองที่รุ่งเรืองอย่างสูงสุด และยุคตกต่ำที่สุดของวงการดนตรีไทย  ยอดคนระนาดเอกแห่งสยามประเทศ  จะกลับมาโลดแล่นบนจอแก้ว

 

ยุครัชกาลที่ 5

          "ศร" ผู้มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ เขาสามารถเล่นระนาดได้เองโดยไม่มีใครสอน แต่อาจจะด้วยที่ชีวิตของเขาเกิดมากับเสียงของวงปี่พาทย์ของผู้เป็นพ่อคือ"ครูสิน" หัวหน้าวงปี่พาทย์มีชื่อในอัมพวา สมุทรสงคราม พี่ชายของศรเองก็เป็นนักเลงปี่พาทย์มีฝีมือ แต่ด้วยเหตุนี้ทำให้นักเลงระนาดอีกหมู่บ้านหนึ่งมาดักฟันพี่ชายของเขาจนตายไปเมื่อเขาอายุได้เพียง 10 ขวบ จากนั้นมาครูสินจึงเลิกยุ่งเกี่ยวกับดนตรีโดยเด็ดขาด เพราะไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นกับใครในครอบครัวอีก

          หลวงตาจึงได้ให้ข้อคิดกับครูสิน ว่าคนที่ฆ่าลูกชายคนโตนั้นคือผู้ที่ไม่เข้าใจดนตรีที่แท้จริง ครูสินจึงตัดสินใจกลับมาเปิดวงและรับศรเป็นลูกศิษย์ โอกาสที่ศรจะได้เรียนรู้ดนตรีไทยทุกชิ้นกลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง ครูสินพร่ำสอนกับศรว่า "ความงามของดนตรีคือ ทำให้คนมีจิตใจงดงามตามท่วงทำนอง อย่าได้ใช้ดนตรีไปในทางที่เสื่อมโดยเด็ดขาด" คำเหล่านี้จดจำอยู่ในใจศรเสมอมา

    แต่เมื่อผันเข้าสู่วัยหนุ่ม ศรกลายเป็นดาวโดดเด่นในอัมพวาจนมีชื่อเสียงมีคนในพื้นที่ใกล้เคียงมาคอยเฝ้าชื่นชม ความเหลิงทำให้เขาเริ่มใช้ดนตรีในทางผิด จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อมีวงราชบุรีมาท้าประชัน พ่อตัดสินใจไม่เอาศรลงตีระนาดเอก แต่กลับให้ไปตีฆ้องวงแทน เพื่อเป็นการดัดสันดาน แต่เมื่อให้คนในวงคนอื่นเล่นระนาดแทนก็เกิดทำให้เจ้าเมืองราชบุรีไม่พอใจ หาว่าสบประมาทฝีมือกันที่ครูสินไม่เอาของดีออกมาแสดง ในที่สุดศรก็ได้มาตีระนาดเอกและทำให้"พ่อมั่น" ระนาดเอกแห่งราชบุรีที่มาประชันนั้นต้องพ่ายแพ้ไป

          ต่อมาครูสินจึงพาศรเข้ามาสู่บางกอก เพราะอยากให้ศรได้เปิดหูเปิดตาดูในงานประชันระนาดว่ายังมีคนเก่งอีกมาก พ่อจึงฝากฝังไว้กับครูแก้วเพื่อนของพ่อ แต่แล้วพ่อมั่น ซึ่งได้มาอยู่กับวงครูแก้วเกิดกลัวคู่ประชันขึ้นมาและต้องการจะแก้แค้นศรก็เลยหาเรื่องหลบการประชัน เพราะคู่ต่อสู้นั้นฝีมือฉกาจนัก และขอให้ศรขึ้นประชันแทน ศรด้วยความอยากอวดฝีมืออยู่แล้วจึงตัดสินใจขึ้นโดยไม่ลังเล ขุนอินเมื่อได้ยินเสียงระนาดก็ตีทับขึ้นมาทันที ความแข็งกร้าวดุดันของทางระนาดขุนอินนั้นไม่มีทางที่ใครจะทานได้ ศรจึงพ่ายแพ้กลับไปอย่างยับเยิน ศรพยายามฝึกตีระนาดให้ได้อย่างขุนอิน แต่ก็ทำไม่ได้เสียที จนวันนึงศรก็ได้พบทางระนาดของตน พระองค์ชายเล็กจากในวังที่เสด็จมาตามหานักระนาดมือเอก มาเจอศรจึงชวนเข้าไปอยู่ในวัง

      

          เมื่อศรได้เข้ามาอยู่ที่วัง ก็ได้ครูหมึกและครูเทียนช่วยกันสั่งสอน และศรก็ได้พบรักกับแม่โชติ สมเด็จให้ศรประชันกับขุนอิน ศรกลัวจึงหนีกลับไปที่อัมพวาแต่ครูเทียนก็ไปตามศรกลับมาประชันจนได้ ครูเทียนให้สติศรจนศรได้ค้นพบตัวเองและทางระนาดของตัวเอง จึงสามารถเอาชนะขุนอินได้ ส่วนเรื่องของแม่โชติก็กลับกลายเป็นดี นายศรได้พิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวแม่โชติยอมรับจนในที่สุดทั้งสองได้ครองคู่ชีวิตกัน

ยุครัชกาลที่ 8

          เวลาผ่านมาจนถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายศรได้กลายเป็น"ท่านครู" ของลูกศิษย์ลูกหาหลายคนที่ชุมชนบ้านบาตรเป็นที่นับหน้าถือตาของคนดนตรีทั่วไทย ทิวเพื่อนเก่าเพื่อนแก่เองก็ถึงกับส่งลูกชายคือนายเทิด มาอยู่ร่วมวงด้วยเพราะนายเทิดรักการตีฉิ่งและวงปี่พาทย์เป็นชีวิตจิตใจ ช่างเป็นลูกไม้ที่หล่นได้ไกลต้นจากทิวผู้เป็นพ่อเหลือเกิน ลูกชายท่านครู คือประสิทธิ์รับราชการเป็นล่ามอยู่และยังจบมาจากญี่ปุ่น วันนึงประสิทธิ์ขนเปียโนเข้าบ้าน ในหนแรกนายเทิดคิดว่าคงเกิดเรื่องใหญ่แน่แล้ว เพราะท่านครูเองเป็นถึงบรมครูเครื่องดนตรีไทย แต่ลูกชายกลับนำเครื่องดนตรีสากลเข้าบ้าน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เทิดได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่แตกต่างกันนั้นสามารถผสานกันได้อย่างลงตัวเมื่อท่านครูลงไม้ระนาดตีคลอไปกับเพลงที่ประสิทธิ์เล่นได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ท่านครูบอกกับทุกคนว่า "ถ้าเข้าใจสิ่งที่เรามีอยู่การจะเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามานั้นไม่ได้ยากเกินไป แล้วเราเองก็ยังได้ฟังเสียงระนาดที่เป็นแบบของเราอยู่ เสียงเปียโนที่เป็นแบบของเขาก็ไม่ได้เสียไปเช่นกัน"

          พันโทวีระที่ดูแลเรื่องวัฒนธรรมนี้อยู่ ด้วยขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง  มีความขัดแย้งหลายอย่างเกิดขึ้นในสังคม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยรับเอาอารยธรรมจากต่างชาติเข้ามาปฏิบัติด้วยถือว่านี่คือสิ่งศิวิไลซ์ที่ประชาชนควรถือปฏิบัติ และนำชาติด้วยคำว่า "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ในยุคนั้นมีการออกกฎมากมายเกี่ยวกับดนตรี เช่นการจะแสดงดนตรีไทยต้องมีบัตรนักดนตรีเท่านั้น   ห้ามนั่งเล่นดนตรีกับพื้น เป็นต้น ข้อห้ามเหล่านี้ล้วนทำให้นักดนตรีไทยทำมาหากินยากลำบากขึ้น จนทำให้นักระนาดบางคนที่มีฝีมือดีมากอย่างเปี๊ยกกลับต้องหันเหชีวิตไปรับจ้างแบกข้าวสาร จนเกิดอุบัติเหตุข้อมือหักไม่สามารถเล่นระนาดได้อีก เปี๊ยกทำใจไม่ได้จึงตัดสินใจคร่าชีวิตตัวเองด้วยการผูกคอตาย

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นสะเทือนใจทุกคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะท่านครู ... ความขัดแย้งทั้งด้านสงครามก็ดำเนินรุนแรงขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างคนในชาติเองก็รุนแรงตามเป็นลำดับ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบ และสร้างความปวดร้าวแก่นักดนตรีไทยและคนไทยทุกคน รวมทั้งท่านครูที่แม้จะพยายามอธิบายถึงความชัดเจนในความเป็นตัวตนของไทยแล้วหากจะรับสิ่งอื่นก็ต้องรับเข้ามาอย่างเข้าใจ จึงจะผสานไปด้วยกันได้ พันโทวีระดูจะไม่เข้าใจ ท่านครูจึงจบการสนทนาด้วยการเดินไปที่ระนาดและท่านได้ใช้ความกล้าหาญในเฮือกสุดท้ายแห่งชีวิตท่านไปกับการบรรเลงเพลง แสนคำนึง ขึ้นต่อสู้เพื่อพิสูจน์คุณค่าแห่งดนตรีและวัฒนธรรมไทยที่ท่านรักดั่งชีวิต  ทำให้พันโทวีระได้ฉุกคิด เขาได้เข้าใจถึงเสียงพูดของท่านครูที่ดังไปเข้าหูเขาในวันนั้นแล้ว พันโทวีระยอมจากไปแต่โดยดีในที่สุด

          จากนั้นไม่นานท่านครูก็สิ้นลมลงด้วยความหวังว่าสิ่งเหล่านี้ที่ท่านครูเองได้ต่อสู้มานั้นจะไม่หายไปไหน ในงานศพของท่านครู เหล่านักดนตรีไทยได้มารวมตัวกันและบรรเลงเพลงร่วมกันส่งวิญญาณครูและเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ครูได้รู้ว่าตั้งแต่นี้ไปคือโหมโรงที่จะสืบทอดปณิธานของท่านครูสืบไปด้วยเช่นกัน

นักแสดงนำ ยุครัชกาลที่ 5

ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ รับบทเป็น ศร
จุฬา ศรีคำมา รับบทเป็น แม่โชติ
ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ รับบทเป็น ขุนอิน
ชนภัทร ชุ่มจิตต์ รับบทเป็น ทิว
นันทรัตน์ เชาวราษฎร์ รับบทเป็น แม่บัว
เกรียงไกร อุณหะนันท์ รับบทเป็น สมเด็จ
วิทยา เจตะภัย รับบทเป็น ครูสิน
ปริศนา กล่ำพินิจ รับบทเป็น แม่ยิ้ม

นักแสดงนำ ยุครัชกาลที่ 8

นพพล โกมารชุน รับบทเป็น ท่านครู
ปานเลขา ว่านม่วง รับบทเป็น นางโชติ
อรรถพร ธีมากร รับบทเป็น พันโทวีระ
ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ รับบทเป็น ดวงใจ
วุฒิสิทธิ์ สืบสุวรรณ รับบทเป็น ประสิทธิ์
ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ รับบทเป็น เทิด

บทประพันธ์ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์
บทละครโทรทัศน์ สานุ แสงสีทอง (ภูเขา)
กำกับโดย วินัย ปฐมบูรณ์
ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.25 น. ทางไทยพีบีเอส
เริ่ม พฤศจิกายนนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ