โควิด อาจเข้าสู่ "โรคประจำถิ่น" เร็วขึ้นกว่าครึ่งเดือน หลังสถานการณ์ดีขึ้น
สถานการณ์ โควิด19 ดีขึ้นต่อเนื่อง คาดเข้าสู่การเป็น "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าเดิม กว่าครึ่งเดือน พร้อมปรับมาตรการให้สอดคล้องสถานการณ์
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด19 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเข้าสู่การเป็น "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามกำหนดกว่าครึ่งเดือน จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมวางแผนการดำเนินงานรองรับ โดยเฉพาะเรื่องระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์ โอไมครอน มีความรุนแรงลดลงอย่างมาก ความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด19 มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กรมการแพทย์ได้เสนอปรับการดูแลในรูปแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงพยาบาล เน้นการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมการดูแลภาวะลองโควิด โดยกรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการคัดกรองและการประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงวางระบบดูแลรักษาติดตามอาการ สิ่งสำคัญคือ มีการบูรณาการการรักษาภาวะลองโควิดไปยังทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางการให้คำปรึกษาส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล และเก็บข้อมูลผู้ป่วยภาวะลองโควิดรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ ให้สามารถเดินหน้าเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับมาตรการด้านกฎหมายและสังคมจะมีการปรับให้สอดคล้องเช่นกัน เช่น การปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปรับลดมาตรการต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่ บนหลักการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคได้ โดยเฉพาะการคงหลักพฤติกรรมสุขอนามัยที่พึงประสงค์ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี มีคนรวมตัวกันหนาแน่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรือมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย การล้างมือบ่อยๆ คัดกรองตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ
ขณะที่สถานประกอบการและกิจการต่างๆ ยังต้องเข้มการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาด จัดการขยะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เฉพาะแค่โรคโควิด19 แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย