'สุดาวรรณ' ลุยเชียงราย- พะเยา บูมท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
'สุดาวรรณ' ลงพื้นที่เชียงราย พะเยา ก่อนร่วมประชุม ครม.นอกสถานที่ วางแนวทางพัฒนา 'ท่องเที่ยว' กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อ สำรวจสถานการณ์ 'ท่องเที่ยว' ของจังหวัดเชียงรายในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ วัดห้วยปลากั้ง ที่มี 2 แลนด์มาร์กสำคัญ คือ เจดีย์พบโชค และเจ้าแม่กวนอิมใหญ่ที่สุดในเมืองไทย พร้อมกับไปชมหาดเชียงรายหรือพัทยาน้อย ซึ่งเป็นหาดทรายที่มีตลิ่งทอดยาวตามแนวลำน้ำกก มีลักษณะคล้ายกับหาดทรายทะเล พร้อมกับเดินทางไปชุมชนปางควาย บ้านใหม่นาวา ตำบลห้วยสัก เพื่อเยี่ยมชมโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และพบปะผู้นำท้องถิ่นผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่
ตลอดจนเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นของบ้านโป่งศรีนคร ที่พลิกฟื้นให้ชุมชนจากวิถีเกษตรทั่วไปสู่ชุมชน 'ท่องเที่ยว' สามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นเป็นการสร้างงานสร้างรายได้และกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีโฮมสเตย์ประมาณ 10 หลังคาเรือนที่ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยและมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากกรมการท่องเที่ยว มีการรวบรวมผลผลิตกาแฟ 9 ม่อนดอย ได้แก่ แม่จันใต้ แม่สลอง ดอยตุง ดอยช้าง วาวี บ้านใหม่พัฒนา ปางขอน แม่แจ๋มแจ้ช้อน แม่คำหล้า และลำปาง อีกทั้งมีชาเชอรี่ที่ทำจากกากกาแฟ เป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มีการส่งเสริมปลูกกล้วยน้ำหว้าและรวบรวมผลิตภัณฑ์แปรรูปด้วยพลังงานสะอาด การนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์สินค้าทางการ 'ท่องเที่ยว' เช่น การทำที่ดักกุ้งจากเศษขยะ การทำไม้กวาดรีไซเคิล ทำเปลนอนจากเศษผ้า เป็นต้น
จากนั้นจะเดินทางไปที่จังหวัดพะเยา เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดป่าพุทธชินวงศาราม หรือม่อนพญานาคราช ที่จะมีการพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่ง 'ท่องเที่ยว' เชิงศาสนาและวัฒนธรรม ก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่จังหวัดพะเยา ในวันที่ 19 มีนาคม 2567
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวด้วยว่า การประชุม ครม.นอกสถานที่ครั้งนี้อยู่ในกลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ มีหลายโครงการที่ต้องมีการพัฒนาทั้งด้านการ 'ท่องเที่ยว' และด้านกีฬา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองสุขภาพดี ( Chaingrai Wellness City) เชียงรายเมืองแห่งชาและกาแฟ และ เชียงรายเมืองแห่งกีฬา (Chaingrai Sport City) ขณะที่จังหวัดพะเยา ส่งเสริมการ 'ท่องเที่ยว' โดยชุมชนโดยร่วมมือกับเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวและภาคเอกชนและผลักดันกิจกรรมการท่องเที่ยวสีขาว ที่มีองค์ประกอบของความสะดวกสะอาดปลอดภัยเป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้ BCG Evonomy Model ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและอาหาร ส่วนด้านกีฬาจะนำการแข่งขันในระดับประเทศมาจัดการแข่งขันในจังหวัดพะเยาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับจังหวัดน่านจะขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกและ พัฒนาชุมชนในจังหวัดน่านให้เป็นแหล่ง 'ท่องเที่ยว' โดยชุมชน ส่วนจังหวัดแพร่จะมีการพัฒนาเส้นทางการ ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้สนองตอบต่อการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัดด้วย