วันนี้ในอดีต

11 ม.ค.2552 นี่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มารำลึกการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่คนไทยลุ้นตัวโก่งกันดีกว่า จำกันได้มั้ยวันนั้นมันหยดติ๋งขนาดไหน!

          ยุคหนึ่งไม่นานมานี้ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นสีสันทางการเมืองไทยที่ไม่เพียงคนกรุงเทพ แต่คนไทยภาคอื่นๆ ก็ร่วมลุ้นร่วมเชียร์ไปด้วย

          เพราะทางหนึ่ง มันยังสอดคล้องกับ ทฤษฎีของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เรียกว่า “สองนคราประชาธิปไตย” ที่ว่า คนชนบทเป็นผู้ “ตั้ง” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานเสียง” ส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง

          ขณะที่คนชั้นกลางเมืองเป็นผู้ “ล้ม” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานนโยบาย” ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านสื่อมวลชน การเรียกร้องกดดันรัฐบาล ไปจนถึงการเชื้อเชิญให้ทหารแทรกแซงการเมืองโดยการรัฐประหารยึดอำนาจ

          แม้แต่การแสดงพลังในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยุคหนึ่งก็ชัดเจน ว่า คนกทม.เลือกผู้ว่ากทม.ที่มาจากพรรคคู่แข่งรัฐบาล

          และยุคนั้นก็ไม่ใช่ยุคไหน คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2547 ที่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน หน้าใหม่การเมือง จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเสียงถล่มทลาย!

          ว่ากันว่า ทางหนึ่งเพื่อตบหน้าพรรคใหญ่ ของคนใหญ่อย่างไทยรักไทยเวลานั้น นั่นแหละ!

          แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 9 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 11 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 9

          แน่นอนครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่ยังคงไว้ซึ่ง เสน่ห์และสีสันตามที่กล่าวไปข้างต้น 

 

11 ม.ค.2552  นี่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

 

          เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยผู้สมัครชิงชัยที่น่าสนใจ เร้าใจ หลายคน เช่น ลีนา จังจรรจา สมัครในนามอิสระ, หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล สมัครในนามอิสระ, ยุรนันท์ ภมรมนตรี สมัครในนามพรรคเพื่อไทย,  และ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ

          ที่สุดแล้วผลการเลือกตั้งก็ยังคงเป็นของพรรคฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์อยู่ดี

          หลายคนสงสัยว่า ควรต้องเป็นผู้ชนะที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลสิ เพราะเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ โดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่

          คำตอบง่ายๆ เลยคือ การเลือกตั้งหนนี้ไม่ปกติเท่าไหร่ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเนื่องจาก อภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. (ที่เขาได้ครองเก้าอี้เป็นสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งรอบปกติช่วงปี 2551 เพราะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง

 

11 ม.ค.2552  นี่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

 

          พอมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ขึ้นมาในปี 2552 คนกทม. จึงเหมือนยังอารมณ์ค้าง มันก็เลยต้องเลือกผู้สมัครที่เป็นตัวแทนจากพรรคเดิมที่พวกเขาเลือกมาเองกับมือนั่นเอง

          กล่าวสำหรับผลคะแนนเลือกตั้ง ก็เป็นสีสันอีกอย่างที่หลายคนไม่ลืม

          กล่าวคือ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 11 มกราคม พ.ศ. 2552  ผู้ชนะคือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้คะแนนมากถึง 934,602 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 45.41, ลำดับที่สอง คือ ยุรนันท์ ภมรมนตรี ได้คะแนนมากถึง 611,669 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 29.72 ส่วน หม่อมหลวง ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้คะแนนมากถึง 334,846 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 16.27

          เฉพาะท็อปทรีดังกล่าว มีการวิเคราะห์ถึงการได้มาซึ่งคะแนนไว้อย่างน่าสนใจ ที่ยืนยันว่าไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

          กล่าวสำหรับ ลำดับที่ 3 ก่อน ที่จริงหม่อมปลื้มนั้น เคยเปิดตัวในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2551 มาแล้ว โดยเขาได้ทำการเปิดตัวเป็นผู้สมัครคนแรกๆ ด้วยซ้ำ

          แต่ปรากฏว่า ยังไม่ทันได้ลงรับสมัครจริง เมื่อทราบว่าคะแนนความนิยมตามโพลล์ยังห่างจาก อภิรักษ์ โกษะโยธิน มากนัก จึงได้ถอนตัวไป

 

11 ม.ค.2552  นี่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

 

          ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ปี 2552 ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ได้หมายเลข 8 และทำคะแนนได้ดี ถึงขนาดเคยมีคะแนนนำมาเป็นลำดับ 1 ตามโพลล์ ในช่วงต้น หากผลการเลือกตั้งสุดท้ายได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 3 ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยสำหรับหน้าใหม่ทางการเมือง

          อย่างไรก็ตาม จะว่าหน้าใหม่เอี่ยมอ่องก็คงไม่ใช่  เพราะคนไทยรู้จักเขาดีจากการเป็นคนในวงการสื่อสารมวลชน และการเป็นถึงบุตรชายของ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชั่วคราว หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นั่นเอง

          มาถึงลำดับที่ 2 สำหรับพระเอก “สวรรค์เบี่ยง” เวอร์ชั่นปี 2531 อย่าง แซม ยุรนันท์ ผ่านงานบันเทิงมาชนิดปรุหมดทุกตารางเซนติเมตร ทำไมคนไทยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะไม่รู้จัก ก็ถือว่าได้เปรียบพอตัวในทางหนึ่ง

          แต่เมื่อหันมาเอาดีทางการเมืองกับพรรคสีแดงๆ อะไรจะแน่นไปกว่าฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยในกทม. เห็นได้จากวันสมัคร มีกองเชียร์มาเพียบ ทั้ง การุณ โหสกุล, วิชาญ มีนชัยนันท์, ปลอดประสพ สุรัสวดี, วัฒนา เซ่งไพเราะ รวมทั้งอดีต ส.ส. และ ส.ก.พรรคเพื่อไทย ที่มาจำนวนหลายคน เหล่านี้คือหัวคะแนนอย่างดีให้กับแซม เบอร์ 10 จนได้มาถึงหกแสนกว่าคะแนน นับว่าไม่น้อยเลย

 

11 ม.ค.2552  นี่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

 

          แต่ใครละจะแน่นปึ๊กเท่ากับผู้ชนะ อย่างคุณชายหมูของพวกเรา หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เบอร์ 2 ได้คะแนนมากถึง 934,602 คะแนน ที่มาวินชนิดทิ้งห่าง

          อย่างที่บอกว่า นอกจากเพราะมีแบ็คอัพเป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ประสบการณ์ทางการเมือง ก็ไม่ได้มาเล่นๆ และไม่ได้มาเพราะโชคช่วยเหมือนกันทั้ง 2 ครั้ง

          เพราะคงจำกันได้ว่าแม้ว่าการบริหารงานของคุณชายหมูไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของชาวกรุงเทพมากนัก และมักจะได้รับเสียงก่นด่าอยู่ เช่น ล่าช้า และคำถามเรื่องความ่โปร่งใสหลายประเด็น

11 ม.ค.2552  นี่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

 

          แต่ไม่รู้ทำไม เมื่อพรรคสะตอตัดสินใจส่งคุณชาย ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครสมัยที่สอง ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 คุณชายหมูก็ยังคงมาวิน แถมยัง ได้คะแนนมากเป็นประวัติการณ์ ถึง 1,256,349 เสียง ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ทั้งๆ ที่วันนั้นฝนก็เทมาอยา่งหนักตั้งแต่ช่วงเที่ยงจนหลายคนคิดว่า ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิไม่น่าจะตามเป้า

          จนมาเห็นตัวเลขของผู้สมัครท่านอื่นถึงได้มาถึงบางอ้อ เพราะทางด้านของ ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เบอร์ 9 ก็มีคะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 ทำลายสถิติของ สมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2543 เหมือนกัน คือสูงถึง  1,077,899 คะแนน

          แถมสถิติของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดยังสูงถึงร้อยละ 63.38 นับว่ามากที่สุดกว่าครั้งไหนๆ วันนั้นหลายคนเลยสรุป ว่า เพราะการเมืองร้อนแรงจนคนไทยต้องการแสดงพลังให้รู้ฟ้ารู้แดง" กันไปข้าง

 

11 ม.ค.2552  นี่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

 

          แต่พอพรรคเดิมเขายังยึดหัวหาดเมืองหลวงไว้ได้อย่างเคย หลายคนจึงอดถามไม่ได้ว่า เป็นไปตามทฤษฎีของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อีกแล้วใช่ไหม!

          คำตอบคือ “ก็ไม่รู้สินะ” แต่ที่แน่ๆ ตอนนั้นสำนักโพลต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง ต่างพากันรายงานว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในการสำรวจทุกครั้ง!

          ใครอยากรู้ ต้องไปหาอ่านตำนานวาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” กันดู อาจพอนึกภาพออก บอกแล้วว่าไม่ได้มาด้วยโชค!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ