สังคมเข้มแข็ง

วิถีชุมชนคนกับตาล 'บ้านไร่กร่าง' ชุมชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลโตนด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'บ้านไร่กร่าง' ชุมชนที่รายล้อมด้วยป่าตาล สืบทอดภูมิปัญญาการทำน้ำตาลโตนด ต่อยอดวิถีชีวิตคนเมืองเพชรกับตาลตโนด

น้ำตาลเมืองเพชร หนึ่งในอีกของดีที่ขึ้นชื่อของจ.เพชรบุรี ถิ่นที่ขึ้นชื่อว่ามีการปลูกตาลมากที่สุดในประเทศ และยังขึ้นชื่อว่าน้ำตาลโตนดที่นี่นี้ทั้งดีมีคุณภาพสูงสุด และมีรสชาติหอมหวานและดีที่สุดของประเทศอีกด้วย

วิถีชุมชนคนกับตาล

อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี มีชุมชนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางดงป่าตาลนับหมื่นต้น 'บ้านไร่กร่าง' ชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ในการทำน้ำตาลโตนด และวิถีการอยู่ร่วมกันของคนกับตาล

วิถีชุมชนคนกับตาล

ในอดีต 'บ้านไร่กร่าง' เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ โดยมีชาวบ้านที่อพยพมาจากหมู่บ้านระหารน้อย ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของหมู่บ้าน เห็นว่าสถานที่ตรงนี้มีลักษณะภูมิศาสตร์ที่ดี เนื่องจากมีลำห้วย และหนองน้ำไหลผ่านรอบ ๆ บริเวณ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นตาล และต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นกร่างซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน โดยในชุมชนมีต้นกร่างขนาดใหญ่ประมาณ 15 คนโอบอยู่ 1  หรือ 2 ต้น ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามต้นไม้ใหญ่ว่า หมู่บ้านหนองไร่กร่าง ต่อมาเรียกกันว่าเพี้ยนมาเป็น 'บ้านไร่กร่าง' ในปัจจุบัน

วิถีชุมชนคนกับตาล

 

ผู้ใหญ่ประสงค์ หอมรื่น ผู้ใหญ่บ้านชุมชน 'บ้านไร่กร่าง' บอกเล่าให้ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์ฟังว่า ชุมชน 'บ้านไร่กร่าง' มีคำขวัญของชุมชนว่า ต้นกร่างชื่อบ้าน ตาลโตนดเลิศล้ำ วัฒนธรรมภูมิปัญญา ภาษาถิ่นประทับใจ 

'บ้านไร่กร่าง' ในช่วงแรกเราทำในเรื่องของการอนุรักษ์ตาลโตนด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ในเรื่องของแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา การทำตามโตนดแบบโบราณ ซึ่งเราอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังสืบทอด เป็นห้องเรียนธรรมชาติ โดยเริ่มจากให้ความรู้กับเด็กรุ่นใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี 2545 แล้วเปลี่ยนจากการทำศูนย์การเรียนรู้เพียงอย่างเดียวมาเป็นการท่องเที่ยว เมื่อปี 2560 ตอนที่ชุมชนเราได้เข้าร่วมโครงการ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 

วิถีชุมชนคนกับตาล

โดยก่อนหน้านี้ จุดเริ่มต้นมาจากการ เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เด็ก ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยคนในชุมชนที่เข้าร่วม มีทั้งคุณครูข้าราชการเกษียณ ภายในชุมชน ที่เข้ามาช่วยกันผลักดัน โดยกิจกรรมภายในชุมชน ได้แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ ฐานทุ่งนาป่าตาล ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับ ขบวนการการทำตาลโตนด อุปกรณ์เครื่องมือการใช้ในการทำตามตลอดตั้งแต่โบราณ ฐานลุ่มหลงในดงตาล เป็นฐานการเรียนรู้ประโยชน์ของตาล ที่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่นใบ นำมาทำจักสาน เม็ดตาลที่ฝ่อนำไปเป็นของฝากของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน ฐานบ้านสวนเกษตร เป็นเรื่องของอาหารถิ่นในชุมชน ที่ทำมาจากตาลโตนด อาทิ แกงหัวตาล ต้มจืดหัวโตนด ขนมตาล น้ำตาลสด โดยชุมชน
แห่งนี้ไม่มีโฮมสเตย์ไม่มีที่พักกิจกรรมจึงจบแค่ภายในครึ่งวัน 

 

การปีนตาล

ผู้ใหญ่ประสงค์ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต้นตาล โดยเล่าว่า ต้นตาล มีด้วยกัน 2 เพศคือตาลเพศผู้และตาลเพศเมีย โดยสังเกตได้จาก ถ้าต้นไหนมีปลีหรืองวงตาล คือตาลเพศผู้ จะแทงปลีแทงงวงออกมาเป็นช่อดอก หากตาลต้นไหนมีทลายลูกตาล คือเพศเมีย โดยสามารถทำน้ำตาลได้ทั้ง 2 เพศ โดยเพศผู้สามารถให้ได้แค่น้ำตาล แต่ตาลเพศเมียสามารถให้ได้ทั้งน้ำตาลและลูกตาล

วิถีชุมชนคนกับตาล

สำหรับวิธีเก็บน้ำตาลชาวบ้านจะนำไม้คาบ หรือไม้นวด นวดที่บริเวณปลีตาลหรืองวงตาลตัวผู้ เป็นเวลา 6 วัน จากนั้นวันที่ 7 จะเริ่มทำการขึ้นไปปาดตาลเพื่อเก็บน้ำตาล น้ำตาลจะออกมาจากแกนกลางของงวงตาล สามารถเก็บได้นานถึง 3 เดือนโดยชาวบ้านจะใส่ไม้พะยอมไปในกระบอกตาล เพื่อรักษาสภาพน้ำตาลให้อยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นน้ำตาลจะบูด ไม้พะยอมเปรียบเสมือนสารกันบูดจากธรรมชาติ ที่มีสารช่วยยับยั้งจุลินทรีย์และเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้น้ำตาลบูดเสีย เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมา

เก็บน้ำตาล

ต้นตาลแต่ละต้นมีอายุยืนยาวถึง 200 ปี ยิ่งตอนอายุมากยิ่งให้ผลผลิตมาก โดยเฉพาะตาลเพศเมีย ยิ่งอายุมาก ลูกตาลจะให้ผลผลิตเยอะ และต้นตาลแต่ละต้นกว่าจะรู้ว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมียต้องใช้เวลากว่า 10 ปีขึ้นไป ตาลเพศเมียมีประโยชน์มาก ประโยชน์ส่วนแรกคือ หัวอ่อน สามารถนำมาทำเป็นอาหาร เช่นแกงหัวโหนด หรือยำหัวโหนด ประโยชน์ที่ 2 คือ เต้าตาล หรือลูกตาลอ่อน นำมาทำลูกตาลลอยแก้ว วุ้นลูกตาล หรือกินเป็นลูกตาลสด เปลือกลูกตาลสามารถนำไปให้สัตว์เลี้ยงวัวกิน กระดองตาล สามารถนำไปตากแดดทำเป็นเชื้อเพลิงเข้าเตา 

วิถีชุมชนคนกับตาล

ส่วนลูกตาลสุก สามารถเก็บมาทำขนมตาล ส่วนของจาวตาลสามารถนำมาเชื่อม เป็นจาวตาลเชื่อม หรือทำขนมโตนดทอดได้อีกด้วยโดยในหมู่บ้านมีต้นตาลที่อายุเก่าแก่ที่สุดถึง 125 ปี

วิถีชุมชนคนกับตาล

ผู้ใหญ่ 'บ้านไร่กร่าง' เล่าด้วยว่า คุณยายเชื้อ มีนุช เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ในการทำตาลโตนด สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย คุณสมชาย มีนุชลูกชายของยายเชื้อ จึงอยากที่จะสืบทอดภูมิปัญญานี้ จึงริเริ่มทำศูนย์การเรียนรู้การทำตาลโตนด ต่อมาคนในชุมชนช่วยกันและต่อยอดเข้ามาในเรื่องของการท่องเที่ยว 

วิถีชุมชนคนกับตาล

สำหรับผลผลิตจากตาลในชุมชนไม่ต้องนำออกไปขายภายนอก เนื่องจากมีผู้เข้ามารับซื้อถึงชุมชน ทั้งลูกตาลอ่อน ซึ่งขายอยู่ในราคาประมาณกิโลกรัมละ 60 บาท น้ำตาลโตนด ที่มีราคาอยู่ที่ 100-120 บาทต่อกิโลกรัม โดยในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน้ป็นช่วงที่ผลผลิตของตาลจะออกมามากที่สุด และช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะอยู่ในระยะเวลา 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 

น้ำตาลโตนด

ปัจจุบันในชุมชน 'บ้านไร่กร่าง' มีชาวบ้านที่ทำน้ำตาลอยู่เพียง 11 เตา เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่ค่อยสนใจที่จะมาสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้

วิถีชุมชนคนกับตาล

ครูซิ้ม นางชูชัย มีนุช เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการทำศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำตาลโตนด ว่าแต่เดิมตนเองและสามี เริ่มต้นจาก ต้องการที่จะให้ความรู้กับเด็กรุ่นใหม่ เกี่ยวกับภูมิปัญญาของการทำตาลโตนด เนื่องจากเห็นปัญหาในการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นคนขึ้นตาลเริ่มน้อยลง เพราะราคาของตาลโตนดและน้ำตาลไม่สูง จึงทำให้ชาวบ้านไม่สนใจที่จะสานต่อภูมิปัญญาเหล่านี้ ครูซิ้มและสามีจึงมีความตั้งใจที่จะทำให้ราคาของลูกตาลอ่อนและน้ำตาลโตนดสูงขึ้น เพื่อหวังให้ชาวบ้านหันกลับมาทำตาลโตนดมากขึ้น จากเดิมที่ทุกบ้านจะมีเตาตาล ทำน้ำตาลโตนด ค่อยๆลดลง เหลือเพียงไม่กี่เตาในหมู่บ้าน และคนที่ยังทำอยู่ส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ จึง เริ่มพัฒนาชุมชนให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น เพื่อหวังให้ราคาของลูกตาลอ่อนและน้ำตาลสูงขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันกลับมาทำตาลโตนดอีกครั้ง จากน้ำตาลกิโลกรัมละไม่กี่บาทค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น เป็นกิโลกรัมละ 100 -120 บาททุกวันนี้ ทำให้ หลายครอบครัวหวนกลับมาทำน้ำตาลโตนดอีกครั้ง แต่ยังคงประสบปัญหาคนขึ้นตาล ที่ยังไม่ค่อยมีใครสนใจหันกลับมาขึ้นตาลมากเท่าไหร่นัก และเมื่อราคาของลูกตาลและน้ำตาลสูงขึ้น จากเดิมที่ชาวบ้านทำงานหาเช้ากินค่ำก็กลายเป็นมีเงินเก็บมากขึ้น

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ