คอลัมนิสต์

เล่นเกมเสี่ยง เศรษฐา ปลุกรากหญ้าเชียร์ ‘เงินหมื่น’ ดุจผนังทองแดงกำแพงเหล็ก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สงครามปากท้อง เศรษฐา ปลุกรากหญ้า ลุยอภิมหาประชานิยม ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ฝ่าด่านสกัดทุจริต ไม่หวั่นองค์กรอิสระล้อมคอก

ความหวังหรือความเสี่ยง เศรษฐา ปลุกเร้าเอฟซีเพื่อไทย ส่งเสียงหนุนนโยบายดิจิทัลเงินหมื่น ท่ามกลางเสียงต้านกระหึ่มเมือง 


อภิมหาประชานิยม ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เรือธงรัฐบาลเศรษฐา กำลังแล่นฝ่าด่านสกัดทุจริต ไม่หวั่นองค์กรอิสระล้อมคอก 


ผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส อาจยังไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะแรกๆ แต่เฉพาะหน้าภารกิจพาแรงงานไทย 5 พันคนกลับบ้าน เป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลเศรษฐา

สำหรับภายในประเทศ รัฐบาลเศรษฐา กำลังเผชิญกระแสต้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต นับวันจะขยายวงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่จำกัดเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการเท่านั้น


ดังนั้น ในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จึงปราศรัยต่อหน้าชาวพิษณุโลกที่มาต้อนรับว่า “สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต อยากอธิบายให้ฟังว่า สมมติวันที่ 1 ก.พ. 2567 คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ได้คนละหมื่นบาท บ้านไหนมีสามคนห้าคนเอาไปตั้งตัวได้เลย คิดดูว่า มีประโยชน์มากแค่ไหน”

 

นายกฯเศรษฐา ท่ามกลางกองเชียร์เพื่อไทย

 


พร้อมกันนั้น นายกฯ เศรษฐายังปลุกเร้าว่า “ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผล มายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบก็ขอให้พูดบ้าง ให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง”


พลันที่นายกฯ เศรษฐาสื่อสารกับชาวเมืองสองแคว ทำให้ สส.เพื่อไทยรีบขานรับ ประสานชาวบ้านในพื้นที่ ส่งเสียงหนุนนโยบายเงินหมื่นทันที


สังเกตได้จากในสื่อสังคมออนไลน์ จะมีทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ประหนึ่งเป็นสงครามโฆษณาชวนเชื่อ


อย่างไรก็ตาม วันที่ 12 ต.ค. 2566 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติรับคำร้อง เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นเรื่องวินิจฉัยพร้อมส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่า อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลัง


แม้มีเสียงเตือน เสียงทักท้วงทั้งแผ่นดิน แต่นายกฯ เศรษฐา ยังจะเดินหน้าต่อไป อาจมีการปรับเปลี่ยนโครงการให้เกิดความเหมาะสมโดยหวังให้คนรากหญ้า เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กปกป้องรัฐบาลเศรษฐา

ภาพหลอนจำนำข้าว
อย่าลืมว่า พรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย เคยมีบาดแผลเกี่ยวกับอภิมหาประชานิยม โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์


โครงการจำนำข้าว ทำให้มีรัฐมนตรีติดคุก 2 คน และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ด้วยข้อหาไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้มีการทุจริต


ล่าสุด ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พร้อมให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าว


ถ้ามีข้อห่วงใย ก็จะเสนอความเห็นไปยัง ครม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้


ทาง ป.ป.ช.ส่งเสียงเตือนว่า หาก ครม.ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ 

 


ระวังรัฐธรรมนูญปราบโกง
ในวันนี้ รัฐบาลเศรษฐา ตกอยู่ในสถานการณ์ปากกล้าขาสั่น เพราะโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ใช้งบฯ-เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทนั้น มีความสุ่มเสี่ยงจะซ้ำรอยจำนำข้าว


ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 มีคำสั่งตั้งคณะกรรม การนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีนายกฯ เป็นประธาน ร่วมกับรัฐมนตรีหลายกระทรวง 


นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการย่อยอีก 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ มี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน โดยเป็นคณะที่รวบรวมประเด็น เช่น เกณฑ์โครงการ แหล่งเงินงบประมาณ จากนั้น จึงจะเสนอต่อชุดใหญ่


2.คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ 3.คณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการ


ว่ากันว่า ทีมนโยบายพรรคเพื่อไทยเห็นบทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว โดยศึกษาคำวินิจฉัยจาก ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงได้ตั้งอนุกรรมการดังกล่าวขึ้นมาปิดจุดอ่อน


เหนืออื่นใด พรรคเพื่อไทยจะมองข้ามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ฉายาฉบับปราบโกงไปไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรา 245 ที่ล้อมคอกโครงการประชานิยม ที่ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง


 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ