คอลัมนิสต์

'อภินิหารทางกฎหมาย' อาจเป็นตัวรั้ง ขวาง ‘เพื่อไทยแลนด์สไลด์’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลือกตั้ง66 ตกเป็นเป้ากระสุนตก ในคดียุบพรรค มากถึง 6 คดี จาก ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ อาจเป็นตัวรั้ง ขวาง ‘เพื่อไทยแลนด์สไลด์’

Highlight

  • บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน มีข้อห้ามเรื่องการถูกครอบงำของพรรคการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมไว้ชัดเจน ดังนั้นประเด็นการยุบพรรคก็มีโอกาสพูดถึงอย่างร้อนแรงขึ้นอีกครั้งหลังปิดหีบการเลือกตั้ง

 

  •  พรรคเพื่อไทยจะตกเป็นเป้ากระสุนตกในคดียุบพรรค เพราะคาดการณ์กันว่าเป็นพรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด ขณะเดียวกันอดีตนากยฯทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ออกมากล่าวถึงนโยบายพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้มีการยื่นให้ กกต.พิจารณายุบพรรคเพื่อไทยมากถึง 6 คดี
  • หาก กกต.หยิบยกคดียุบพรรคเพื่อไทยขึ้นมา แนวทางที่คาดว่าจะออกมา 2 แนวทาง คือ ตีความว่าความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปเท่านั้น อีกแนวทางคือ ผิดกฎหมายเนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าอดีตนายกฯ เป็นบุคคลที่มีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย

 

ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 อุณหภูมิการเมืองจะยิ่งค่อยๆ ทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะท่าทีและความเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะจะมีผลไปยังคดียุบพรรคการเมืองที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

การยุบพรรคการเมืองจะเป็นหนึ่งในอีกหลายประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา เพราะ กกต.ใช้อำนาจออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญในข้อ 9 วรรคหนึ่งที่ระบุว่า “เมื่อมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ให้คณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน”

อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร  หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง2566

 

กกต.ออกระเบียบเพิ่มอำนาจเร่งคดี

ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลา 30 วันถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าคดียุบพรรคการเมืองจะถูกพิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญด้วยความรวดเร็ว ต่างจากอดีตที่พรรคการเมืองมิอาจคาดการณ์ได้เลยว่า กว่าคดีจะถึงมือศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลานานเท่าใด ซึ่งพรรคการเมืองที่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น “พรรคเพื่อไทย” เนื่องจากมีคดีให้ กกต.พิจารณาจำนวน 6 เรื่อง

 

หนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเดินขึ้นปากเหวในคดียุบพรรค เพราะท่าทีของ “ทักษิณ” ภายหลังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการคัดสรรบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และการเผยแพร่นโยบายหาเสียงของพรรค

 

ท่าทีที่ปรากฏให้เห็นล่าสุด คือ การแสดงความคิดเห็นผ่านการร่วมจัดรายการกับกลุ่มแคร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอดีตนายกฯทักษิณพูดถึงลูกสาวที่กำลังจะเป็นแคนดิเดทนายกฯ ตอนหนึ่งว่า “ยิ่งลักษณ์กับผม ดีเอ็นเอใกล้เคียงกัน ส่วนลูกสาวได้ดีเอ็นเอแม่ ลูกสาวผมคาเรกเตอร์ก็ต่างกับยิ่งลักษณ์ ของเขานี่คือเป็นคนรุ่นใหม่ โผงผาง และโกหกไม่เป็น ตอนยิ่งลักษณ์ลงเลือกตั้งนั้น ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ แต่ตอนนี้ ดีเอ็นเอทักษิณคิด ดีเอ็นเอทักษิณไปทำ พรรคเพื่อไทยก็ไปทำ”

 

สองแนวทางตีความยุบพรรค

จากความเคลื่อนไหวของทักษิณข้างต้นนำไปสู่การตีความได้สองแนวทางว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ โดยมาตราดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า “ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

 

แนวทางที่ 1 ตีความว่าความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปเท่านั้น อีกทั้งการดำเนินการของพรรคการเมืองต้องกระทำผ่านมติของคณะกรรมการบริหารพรรค มิได้ชี้ขาดโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และการจะตีความว่าพรรคเพื่อไทยฝ่าฝืนมาตรา 28 นั้นต้องถึงขนาดทำให้พรรคเพื่อไทยขาดความเป็นอิสระด้วย ซึ่งในเชิงข้อเท็จจริงต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย

 

แนวทางที่ 2 ตีความในทางตรงกันข้ามว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากในแง่ข้อเท็จจริงต่างเป็นที่รู้กันดีว่าอดีตนายกฯเป็นบุคคลที่พรรคเพื่อไทยให้ความเคารพนับถือในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยที่เป็นรากฐานสำคัญของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ประกอบกับบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 28 ย้ำชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการครอบงำพรรคการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นของอดีตนายกฯ ต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย อาจมีผลเป็นการครอบงำในทางอ้อมไม่มากก็น้อย

 

ถ้าเทียบเคียงกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อย่างการเลือกตั้งปี 2554 เวลานั้นพรรคเพื่อไทยออกนโยบายหาเสียงภายใต้แคมเปญ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ซึ่ง กกต.เองเคยพิจารณากรณีดังกล่าวเช่นกันว่าผิดกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ แต่ปรากฏว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 อันเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้กับพรรคการเมืองเวลานั้น ไม่มีบทบัญญัติที่ควบคุมไม่ให้พรรคการเมืองถูกครอบงำชัดเจน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองที่กฎหมายบัญญัติไว้มีเพียงกว้างๆ เท่านั้น อย่างการกระทำที่เป็นการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองบางประการ โดยมิได้ระบุเรื่องการถูกครอบงำของพรรคการเมือง ส่งผลให้ กกต.ต้องยุติการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไปโดยปริยาย

 

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่ากฎหมายพรรคการเมืองในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน บัญญัติข้อห้ามเรื่องการถูกครอบงำทั้งทางตรงและทางอ้อมไว้ชัดเจน

 

ด้วยเหตุนี้เองบางทีอภินิหารทางกฎหมายอาจเป็นตัวรั้งไม่ให้พรรคเพื่อไทยไปถึงเป้าหมายแลนด์สไลด์ตามที่ตั้งใจไว้ก็เป็นไปได้...ต้องรอติดตามหลังการหย่อนบัตรเลือกตั้งจบลงอย่างใกล้ชิด

 

logoline