คอลัมนิสต์

สะท้อน “ชีวิตบนความเสี่ยง” พนักงานกวาดถนน กทม. ใครบ้างที่จะรู้เรื่องแบบนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกิดเหตุสลดกับพนักงานกวาดถนน กทม. ถูกรถชนเสียชีวิตคาที่ บนถนนย่านสะพานสูง ส่วนคนขับหลบหนี ตำรวจยังตามจับไม่ได้ เพราะในพื้นที่ไม่มีกล้องวงจรปิด วันนี้ เจาะประเด็นร้อน จะพาไปดูสถิติการเสียชีวิตของพนักงานกวาดถนนขณะปฏิบัติหน้าที่ อาชีพบนความเสี่ยงจากภัยรอบตัว

หากใครใช้รถใช้ถนน ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่โผล่พ้นขอบฟ้า ไปจนถึงช่วงค่ำ ยาม 2 ทุ่ม หากสังเกตุริมฟุตบาท ของถนนสายหลักและสายรอง ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง50 ของกรุงเทพมหานคร เรามักจะเห็นหนึ่งชีวิตที่จะมาพร้อมกับ อุปกรณ์ทำความสะอาดถนน ทั้งไว้กวาด ที่คีบขยะ และสัมภาระประจำกายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อย่างเสื้อสะท้อนแสง ที่เมื่อไฟรถยนต์ส่องไปกระทบ ก็จะเกิดเเสงสะท้อน ทำให้ผู้ขับขี่รับรู้ได้ว่ามี "พนักงานกวาดถนน" ของ "กทม." กำลังทำงานทำความสะอาดเมือง ให้น่าอยู่สะอาดเรียบร้อย จะได้เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ 

 

พนักงานกวาดถนน หลังการชุมนุม

แต่ถึงแม้จะมีวิธีป้องกันอุบัติเหตุมากมายสาระพัดวิธีการ แต่ก็ยังพบว่า "พนักงานกวาดถนน" ของ " กทม . " เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่บนท้องถนนทุกปี 

 

ล่าสุด ก็เมื่อวันที่9 ตุลาคม ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 05.45 น. เกิดเหตุสลดกับน.ส.สมศรี ยิ้มแฉล้ม  อายุ 59 ปี ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ​ สำนักงานเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร​ ถูกรถชนเสียชีวิต ขณะปฏิบัติหน้าที่ อยู่บนถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก แขวง และ เขตสะพานสูง​ 

 

โดยผู้เสียชีวิตบรรจุเข้าทำงาน กทม. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2544​ รวมอายุราชการ21 ปี 

 

ตำรวจ สน.บางชัน เขตสะพานสูง ตรวจสอบพื้นที่ พนักงานกวาดถนน ถูกรถชนตายคาที่ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565

ไม้กวาดของผู้เสียชีวิต ตกอยู่ข้างถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก 9 ตุลาคม 2565

ส่วนแนวทางการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดนั้น ยังไม่สามารถทำได้ เพราะในที่เกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด และเป็นช่วงเช้ามืด จึงไม่มีใครทันเห็นเหตุการณ์ เเต่เบื้องต้น พนักงานสอบสวน สน.บางชัน จะติดตามจากกล้องวงจรในพื้นที่ข้างเคียงเพื่อเชื่อมโยงหาตัวคนร้ายมาลงโทษ

 

เเละวานนี้ นายชัชชาติ​ สิทธิพันธุ์​ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ ได้เดินทางร่วมพิธีทางศาสนา​อิสลาม พิธีละหมาดและฝังร่างผู้เสียชีวิต ​ พร้อมกับผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ณ​ มัสยิดอัลฟาละห์ (สุเหร่าคลองเก้า) ถนนคลองเก้า เขตหนองจอก

 

 

พร้อมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยา ครอบครัว ในกรณีที่นางสาวสมศรี ผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย

​ 1. เงินช่วยเหลือค่าทำศพ 3 เท่าของเงินเดือนครั้งสุดท้าย จำนวน 63,030 บาท

​ 2. เงินบำเหน็จ จำนวน 441,210 บาท

​ 3. เงินบำเหน็จพิเศษ จำนวน 630,300 บาท

​ 4. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ จำนวน 364,000 บาท

​ 5. เงินประกันอุบัติภัยการเสียชีวิต จำนวน 100,000 บาท

 รวมทั้งสิ้น 1,598,540 บาท​ 

“ชัชชาติ”และ ผู้บริหาร กทม. ร่วมอาลัยและฝังศพ พนักงานกวาดถนนที่เสียชีวิต 9 ตุลาคม 2565

โดยมี​นายณรงค์​ เรืองศรี​ รองปลัดกรุงเทพมหานคร​ นางสาวเสาวลักษณ์ วยะนันทน์ ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง​ นางปาณิสรา เนตรธารธร​ และนางนิตยา แพร่หลวง ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสะพานสูง​ พร้อมผู้บริหารเขตสะพานสูง​ ร่วมพิธีทางศาสนา

 

  • สิ่งแวดล้อม กทม. ระบุ พนักงานกวาดถนนตายเฉลี่ย 4 คนต่อ ปี 

 

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ทว่าเกิดมานานและเป็นปัญหาซ้ำซากที่เหยียบย่ำคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ ให้ตกต่ำลง

 

ข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ในช่วงปี2557 - 2560 เฉลี่ยถึงปีละ 4 ราย

และในช่วงปี 2560 - 2565 เฉลี่ยปีละ 1 ราย 

ส่วนพนักงานเก็บขยะมีจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2565 จำนวน 3 คน 

 

ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.  พบว่า ปัจจุบัน มีลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวทั้งสิ้น 28,122 ราย โดยเป็นลูกจ้างประจำ รวม 17,901 คน แบ่งเป็นด้านเก็บขนมูลฝอย 7,489 คน  กวาด 6,029 คน สวนสาธารณะ 3,492 คน และสิ่งปฏิกูล 891 คน และลูกจ้างชั่วคราว รวม 10,221 คน  แบ่งเป็นด้านเก็บขนมูลฝอย3,710 คน กวาด 3,811 คน สวนสาธารณะ 2,096 คน และสิ่งปฏิกูล 604 คนโดยเพศหญิงจะมากกว่าเพศชายอยู่ที่ร้อยละ 90 

 

ด้านพื้นที่รับผิดชอบ พนักงานกวาดถนน ทำงานเเบ่งเป็น 2 กะ  กะเเรกช่วงเวลา04.00-12.00 น. และ 13.00 - 20.00 น. ถนนหนึ่งคนจะรับผิดชอบเฉลี่ยอยู่ในระยะ 500-1,000 เมตร นอกจากนั้นยังมีหน้าที่เดินตรวจตราบริเวณที่รับผิดชอบยังไม่นับรวมถารกิจที่เพิ่มขึ้นจากงานหลัก คือ ดูแลรักษาความปลอดภัยเด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งโรงเรียนในและนอกสังกัด กทม.

 

นอกจากนี้ยังรวมถึง ช่วยเจ้าตำรวจสอดส่องดูแลด้านความปลอดภัยในพื้นที่นั้นๆ  โดยให้ทางสำนักงานเขตจัดอบรม ขอความร่วมมือจากสถานีตำรวจจัดส่งวิทยากรมาให้ความรู้ คำแนะนำ รวมไปถึงซักซ้อมแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้มีประสิทธิภาพหากเกิดสถานการณ์จริง

 

 

โดยการทำงานของ พนักงานเก็บ-กวาด นอกจากนี้ยังมี "อาสาสมัคร" งานบริการสาธารณะประเภท "ชักลากมูลฝอยในชุมชน" ได้ค่าตอบแทนเพียงวันละ 150 บาท ปฏิบัติงาน 15 วันต่อเดือน คิดเป็นค่าตอบแทน 27,000 บาทต่อปี

 

ในขณะที่พนักงานจ้างทั่วไป (เก็บ-กวาด) และพนักงานจ้างตามภารกิจ เฉพาะอปท. มีอัตราเงินเดือนระหว่าง 9,000-18,000 บาท โดยกระทรวงมหาดไทยได้จ่ายเงินเพิ่มการเสี่ยงภัยต่อสุขภาพเมื่อปี 2564

 

สวัสดิการพื้นฐาน สำหรับลูกจ้างชั่วคราว จะได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคม หากเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ จะได้รับการดูแลผ่านกองทุนประกันสังคมหรือโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้แก่ครอบครัวได้ เช่น บุตร พ่อ แม่ สามี  เงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวขั้นต่ำ คือ12,000 บาท กรณีเสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ จะได้ค่าทำศพจากเงินเดือนสุดท้ายและไม่ได้ให้บำเหน็จ แต่จะได้เงินจากกองทุนทดแทน 

 

ส่วนลูกจ้างประจำจะมีสวัสดิการเหมือนข้าราชการ เงินเดือนของพนักงานประจำสูงสุดอยู่ที่ 21,000 บาท กรณีเสียชีวิตจะได้รับการเงินค่าทำศพ 3 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย ทั้งด้วยอุบัติเหตุและไม่ใช่อุบัติเหตุ หากเกิดอุบัติเหตุแล้วเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าบำเหน็จ 30 เท่าของเงินเดือน กรณีที่ลูกจ้างประจำเสียชีวิตขณะที่ไม่ได้ปฎิบัติหน้าที่ จะได้รับค่าทำศพ 3 เท่าของเงินเดือนสุดท้ายและได้เงินบำเหน็จ ส่วนสวัสดิการที่พนักงานประจำได้รับคือชุดปฏิบัติงานสะท้อนแสง 2 ชุดต่อปีและอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เช่น เสื้อกั๊กสะท้อนแสง รองเท้าบูทและถุงมือยางปีละ 1 ชุด 

 

  • WHO บอก ไทยเสียชีวิตบนท้องถนนอันดับ9 ของโลก 

 

และปัญหาการเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทยก็ไม่ธรรมดา  เพราะปัญหานี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับองค์กรระดับสากล อย่างองค์การอนามัยโลก หรือWHO โดยข้อมูลล่าสุดล่าสุด ในปี 2564 

 

องค์กรอนามัยโลก จัดให้ไทย เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชียและอาเซียน โดยอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นคิดเป็น 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน หรือคิดเป็นอันดับ 9 ในโลก และยิ่งคนที่ต้องอยู่บนท้องถนนตลอดเวลาด้วยแล้ว ความเสี่ยงตรงนี้น่าจะยิ่งเพิ่มขึ้น

 

แม้ว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยในภาพรวม จากอุบัติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนลดลง แต่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอันดับ 1 ในเอเชียและในภูมิภาคอาเซียน อยู่ดี 

 

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม พบ 3 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุ คือ

 

 1) การชนทั่วไป 

2) เกิดจากบุคคล เช่น การขับรถเร็ว ขับรถตัดหน้า 

 3) เกิดจากอุปกรณ์ในตัวรถ

 

  • รถชน ควันดำ ฝุ่น pm2.5  คนเมา คนสติไม่ดี และระเบิดซุกถังขยะ คือปัจจัยเสี่ยงต่อชีวิตพนักงานกวาดถนน

 

ก่อนหน้านี้ นาง ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร เคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุหลักในเรื่องนี้ว่า เกิดจากการจราจรของรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่ส่วนใหญ่มาจากเหตุเมาแล้วขับ ส่วนอันตรายที่พนักงานกวาดถนนเจอไม่ได้มาจากรถเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายรวม ถึง การถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งจากคนเมา คนสติไม่ดี อุบัติเหตุจากสภาพเเดล้อมหน้างานควันดำ และปัญหาฝุ่นละอองขาดเล็ก pm 2.5  ไปจนถึงเจอระเบิดที่ซุกซ่อนในถังขยะ

 

สำหรับมาตรการความปลอดภัย ภาณุวัฒน์กล่าวว่าทางสำนักงานได้มีการพูดคุยและกำชับหัวหน้างานให้กวดขันเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงในช่วงเวลามืดค่ำ เปลี่ยนเครื่องแบบให้สะท้อนแสงเด่นชัดขึ้น มีหัวหน้างานตรวจตราพื้นที่ตามถนนต่างๆ  และมีการจ้างเหมารถกวาดถนนเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุโดยจะใช้รถกวาดถนนในส่วนของถนนสายหลัก ผิวจราจร สะพาน อุโมงค์ทั้งหมด พนักงานกวาดถนนจะมีหน้าที่รับผิดชอบแค่ทางเท้าและเข้าไปกวาดในซอยที่รถเข้าไม่ถึงหรือจุดที่ท่อระบายน้ำอุดตันเท่านั้น 

 

ขณะที่ พนักงานกวาดถนน เขตดินแดง  เพศหญิงวัย 32 ปี เปิดเผยกับทีมข่าว คมชัดลึกออนไลน์ว่า ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ของ กทม . มากว่า 3 ปีแล้ว รับผิดชอบดูแลถนน ตั้งแต่หน้า  กทม .2 ดินแดง ไปจนถึงถนนมิตรไมตรี3 ที่เชื่อมต่อไปยังเส้นประชาสงเคราะห์ 

 

สำหรับอันตรายในอาชีพ ยอมรับว่ามีทุกวัน เพราะทำงานบนถนน ที่ไม่รู้เลยว่าวันไหนจะถูกรถชนจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทำได้ดีที่สุดคือต้องคอยระวัง และสวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสงทั้งช่วงวันและกลางคืน เพื่อให้อุ่นใจอย่างน้อยก็มีคนหรือถ้าเกิดเหตุก็อาจไม่หนักถึงชีวิต เพราะเขาอาจชะลอหรือช่วยหลบก็ได้ 

 

ด้าน พนักงานเก็บขยะ เขตดินแดง เพศชาย วัย 50ปี ก็เปิดเผยว่า ทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ทุกวันนี้ชีวิตของพวกเขาย่อมมีความเสียงกว่าอาชีพอื่นๆอยู่แล้ว 

 

แต่สวัสดิการของ กทม . ก็ถือว่า ดีในระดับหนึ่ง ที่พนักงานประจำหากบรรจุเข้าสังกัดเป็นข้าราชการของ กทม. เมื่อยามเกษียน ก็จะได้เงินบำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการสังกัดกระทรวงอื่นๆ หากอายุราชการถึงตามเกณฑ์ 

 

และค่ารักษาพยาบาล ครอบครัว พ่อแม่ ลูก ก็สามารถเบิกได้

 

  • "ชัชชาติ" เปรียบ พนักงานรากหญ้า คือหัวใจสำคัญ กทม .

 

และในยุค ที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งของอาชีพคนกวาถนน คนเก็บขยะ และพนักงานทำความสะอาดของ กทม. ที่ใครหลายคนในสังคม ดูถูกว่าเป็นอาชีพที่ไร้เกียรติ 

 

หากจำกันได้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” เหลืออีก 1 วันจะครบเดือน ได้เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะสำนักงานเขตครั้งที่ 1/2565 

 

 

มีช่วงหนึ่งของการประชุม นายชัชชาติ กล่าวว่า ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เป็นหัวใจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่จะดูแลประชาชน เวลาลงพื้นที่จะพบพนักงานกวาดตลอด ต้องดูแลพนักงานทั้งในส่วนของลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ความมั่นคงในชีวิต ที่ได้ยินบ่อยคือ เป็นลูกจ้างชั่วคราวมา 10 ปีแล้วยังไม่ได้บรรจุ ต้องดูเรื่องความเป็นธรรมให้ดี ผลงานของพนักงานรักษาความสะอาดมีผลต่อผลงานของ กทม. พวกเขาคือโซ่ที่เชื่อมระหว่าง กทม. กับประชาชน ถ้าโซ่ที่เชื่อมนี้อ่อนแอ สุดท้ายเราก็ไม่สามารถดีกว่าโซ่ข้อนี้ไปได้ หัวหน้าฝ่ายต้องให้ความเมตตากับลูกน้องและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

 

"พนักงานฝ่ายรักษาความสะอาด เป็นเหมือนหูตาให้กับเรา ช่วยดูเรื่องต่าง ๆ ให้เรา อาจจะดูเรื่องทางม้าลายให้ปลอดภัย ดูแลในเรื่องของจุดที่มีปัญหา อยากให้มีการจัดอบรมเพิ่มเติมเรื่องเทคโนโลยีพวกเขา อย่างระบบ Traffy Fondue ให้กับพนักงานรักษาความสะอาดทุกคน เพื่อให้เขาช่วยแจ้งเหตุ เมื่อเขาแจ้งมาเชื่อว่าทุกจุดได้รับการแก้ไขทั้งหมด เพราะทุกที่ในกรุงเทพฯ ต้องมีคนกวาด หน้าที่ของเขาไม่ใช่แค่ทำความสะอาด แต่หมายถึงการเป็นหูเป็นตาในการดูแลเมือง " นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าว

 

และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ ก็ได้สร้างความฮือฮา ให้กับคนในสังคม นั่นก็คือการลงนั่งร่วมรับประทานอาหารมื้อกลางวัน กับพนักงานกวาดเก็บขยะ และทำความสะอาด ขณะลงพื้นที่เขตจตุจักร ดูการทำงานช่วงวันหยุด ที่ใช้ชื่อว่า “ผู้ว่าสัญจร  “  เป็นภาพที่ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก และยังเป็นการตอกย้ำการทำงานของผู้ว่าฯ กทม  ว่าให้ความสำคัญกับพนักงานรากหญ้ากลุ่มนี้อย่างจริงจัง  

 

อีกทั้งยังให้ความเป็นกันเอง ในการพูดคุย โดยใช้ภาษาง่ายๆในการสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหา และอุปสรรค ของคนทำงานกลุ่มนี้ 

 

จากนั้นก็นำมาสู่ การพิจารณาเพิ่มเงินค่าตอบแทนสำหรับพนักงานกวาด

โดยจะมีการปรับสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยให้สอดคล้องกับค่าธรรมเนียมเก็บ และขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562

 

รวมถึงจะมีการกำหนดเงินพิเศษรายเดือนสำหรับพนักงานกวาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วจึงเสนอร่างเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป สร้างความดีใจให้กับพนักงานกวาดถนน เป็นอย่างมาก และ "ชัชชาติ" ก็กลายเป็นขวัญใจของพนักงานชั้นรากหญ้าทันที 

 

  • การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือจิตสำนึกที่ดีของคนในสังคม 

ปัญหา "พนักงานคนกวาดถนน กทม ." ถูกรถชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นอีเวนท์ประจำปี ที่ผู้ใช้รถใช้ถนน มักจะสร้างขึ้นอยู่ตลอด ที่ผ่านมา ทาง กทม  . และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างพากันหาแนวทางป้องกันและรักษาชีวิตของคนกลุ่มนี้ ชนิดที่ว่ารัดกุมแล้วสำหรับอาชีพดังกล่าว 

 

แต่ดูเหมือนตบมือข้างเดียวยังไงก็ดังไม่ได้ เปรียบเสมือนพนักงานกวาดถนน ที่เสียชีวิตขณะทำงาน ถึงแม้อีกฝ่ายจะรักษาชีวิต และป้องกันเหตุต่างๆอย่างรัดกุมและสุดความสามารถขนาดไหนก็ตาม ถ้าอีกฝ่ายคือ คนที่ใช้รถใช้ถนน ยังขับขี่ประมาท มองถนนเป็นสนามซิ่ง และไม่สนใจชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่ต้องทำงานบนพื้นฐานความเสี่ยงมากกว่าอาชีพอื่น อย่างอาชีพพนักงานกวาดถนน 

 

ข่าวรถชนพนักงานตายขณะมือยังกำไม้กวาด ก็จะกลายเป็นแค่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี ใช่หมายถึงครอบครัว1 ครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างไม่มีวันกลับ และในบางครั้งผลของมันก็ร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิดโดยเฉพาะผลกระทบทางด้านจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย หากคนขับขี่ยังไม่มีจิตสำนึกของการใช้รถใช้ถนนที่ดี และละเลยการปฏิบัติตามกฎหมาย ปล่อยให้เป็นเรื่องบุญกรรมหรือคราวเคราะห์ ตัวเลขการเสียชีวิตโดยรวม ก็จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี และชีวิตที่ช่วยเพิ่มตัวเลขสถิติ ส่วนหนึ่งก็คือ พนักงานกวาดถนน ที่ต้องมารับผลกรรม จากความประมาทของคนอื่น ซึ่งเขาเหล่านี้ไม่รู้เลยว่า การที่มีชีวิตตื่นมาแต่เช้ามืดเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวในวันนี้ จะได้มีโอกาสกลับบ้านไปเจอหน้า พ่อแม่ สามี ภรรยา ลูกๆ หรือบุคคลอันเป็นที่รักคนอื่นๆ ในชีวิตของพวกเขาอีกหรือไม่

 

สะท้อน “ชีวิตบนความเสี่ยง” พนักงานกวาดถนน กทม. ใครบ้างที่จะรู้เรื่องแบบนี้ สะท้อน “ชีวิตบนความเสี่ยง” พนักงานกวาดถนน กทม. ใครบ้างที่จะรู้เรื่องแบบนี้

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

 

เพิ่มเพื่อน Line https://lin.ee/qw9UHd2

 

Facebook https://www.facebook.com/komchadluek/

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ