บน“เขาแดง” มีอะไร ทำไม? กลุ่มนายทุนต้องการพื้นที่แห่งนี้ไปทำอะไรในอนาคต
เริ่มเห็นเค้าโครงของการเดินหน้าเอาผิดกับตัวการบุกรุก แผ้วถาง “เขาแดง” แหล่งโบราณสถานเมืองเก่าสงขลา ต.หัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา เมื่อตำรวจเริ่มเดินหน้าสืบสวนสอบสวน และเริ่มพบเบาะแส มีข้อมูลเพียงพอในการออกหมายเรียกผู้ต้องสงสัยเบื้องต้นมาสอบสวนขยายผล
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะมีการสอบสวนขยายผลไปถึงผู้บงการใหญ่ได้แค่ไหน ถ้าแค่ออกหมายเรียกเจ้าของเครื่องจักรมาสอบแล้วไม่ถึงผู้บงการ มันก็แค่ "ละครน้ำเน่า"
หลายคนอยากรู้ว่า ตกลงบนเขาแดงที่บอกว่าเป็นแหล่งโบราณสถานนั้น บนเขาแดงมีอะไร วันนี้จะพาไปรู้จัก "เขาแดง" ให้มากขึ้น เพื่อการอนุรักษ์และหวงแหน สืบทอดกันต่อไป
ดินแดนแถบนี้(เขาแดง)เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสงขลาในยุคเริ่มแรก และเป็น "เมืองท่า" สำคัญ ผ่านวันเวลาและเรื่องราวการค้า การพาณิชย์ การศึกสงครามมาในห้วงเวลาต่างกรรมต่างวาระกันไป วันนี้เขาแดงก็ยังมีคุณค่าในด้านของการเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวแต่ครั้งอดีตเพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบค้นความเป็นมาของเมืองประเทศราชแห่งนี้
หลักฐานทางโบราณคดีที่ยังหลงเหลืออยู่ นอกจากวัดวาอารามแล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ป้อมปราการต่างๆ ทั้งที่อยู่บนเขาแดงและที่ยังเหลือซากที่สมบูรณ์ไว้ให้เห็น อย่างเช่น ป้อมหมายเลข 9 ริมถนนถนนสงขลา-ระโนด โบราณสถานเขาน้อย และแนวกำแพงเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง เจดีย์สองพี่น้องยอดเขาแดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีซากโบราณสถานอีกหลายแห่งบริเวณรอบเขาแดงนี้ที่สภาพอาจไม่สมบูรณ์นักด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป แต่ก็ยังแสดงให้เห็นได้ว่าครั้งหนึ่งเมืองสงขลาในยุคโบราณนั้นเป็น "เมืองท่าค้าขาย" ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง "เขาแดง" จึงเป็นแหล่งโบราณคดีย้อนอดีตเมืองสงขลาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งชาวสงขลาหวังเป็นอย่างยิ่ง และมีความพยายามอย่างสุดในการผลักดันให้เมืองเก่าสงขลาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งบวกรวมเขาแดง ถนนนางงาม ถนนนครนอก ถนนนครใน
เจดีย์สองพี่น้อง
บนยอดเขาแดงมีเจดีย์ 2 องค์ องค์แรกเป็น "เจดีย์องค์พี่" ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อด้วยหินฉาบปูน ยอดปรักหักพัง มีสีดำ คนทั่วไปเรียกว่า "เจดีย์องค์ดำ"
เจดีย์องค์ดำ สร้างเมื่อ พ.ศ.2375 โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
ส่วนเจดีย์องค์ที่สองเป็น "เจดีย์องค์น้อง" เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมเช่นกัน องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีสีขาว คนทั่วไปเรียก "เจดีย์องค์ขาว" สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2382-2484 โดยพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค) หรือ "สมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ" ผู้เป็นน้องร่วมมารดากับ "เจ้าพระยาพระคลังฯ" ชาวบ้านเรียกเจดีย์สององค์นี้ว่า "เจดีย์สองพี่น้อง"
ระหว่างองค์เจดีย์ทั้งสองมีศาลาเก๋งจีน ชำรุดเหลือแต่พื้นที่ผนังที่เจาะช่องหน้าต่างเป็นวงกลม ปัจจุบันองค์เจดีย์ทั้งสองได้รับการขุดแต่งบูรณะจากหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2525
ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) หลายครั้งที่เมืองสงขลาถูกรุกราน ทำให้กรุงเทพต้องส่งทัพหลวงลงมาช่วยเมืองสงขลา อีกทั้งสงขลายังเป็นสถานที่ชุมนุมกองทัพอีกด้วย ซึ่งในปีพ.ศ.2375 "พระยาพระคลัง" นำทัพลงมารักษาของขัณฑสีมาในเขตเมืองชายแดนภาคใต้ พระยาพระคลังสามารถเอาชนะศึกครั้งนั้น และได้มาชุมนุมกองทัพที่หัวเขาแดง พร้อมทั้งสร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะไว้บนยอดเขา ปรากฏเป็น "เจดีย์องค์สีดำ" ดังข้อความที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองสงขลาว่า "...เสร็จราชการแล้ว ฯพณฯแม่ทัพใหญ่กลับเข้ามา ณ เมืองสงขลา จัดแจงก่อพระเจดีย์ไว้ที่เขาเมืองสงขลาองค์หนึ่ง กับทำเก๋งไว้ริมน้ำชาย ทะเลค่ายม่วงไว้แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วกับเข้าไปกรุงเทพฯ"
สำหรับเจดีย์องค์ขาว สร้างขึ้นโดย "พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา" เมื่อครั้งยกทัพมารบที่ปัตตานีและไทรบุรีช่วงปีพ.ศ.2382 ซึ่งก็ได้ปรากฏข้อความในพงศาวดารเมืองสงขลาที่ได้กล่าวว่า ราวจุลศักราช 1200 ตนกูหมัด สะวะ หลานของเจ้าพระยาไทรบุรี ยกทัพมาตีไทรบุรีคืน ครั้นเมื่อตีมาถึงจะนะ เทพา และหนองจิก แขกในเมืองนี้ก็สมคบคิดร่วมกันตีเมืองสงขลา กองทัพของพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ใช้เวลาปราบปรามถึง 2 ปี เมื่อปราบกบฏได้ จึงสร้างพระเจดีย์ขึ้น ปรากฏหลักฐานว่า "...พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพจัดราชการอยู่ที่เมืองสงขลา 2 ปี และได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนเขาเมืองสงขลาองค์หนึ่งเสร็จแล้ว จึงได้ยกทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพฯ
โบราณสถานอีกแห่งบริเวณนี้ คือ “วัดเขาน้อย”
"วัดเขาน้อย" ตั้งอยู่ที่บ้านบนเมือง หมู่ที่ 7 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดิน 38 ไร่ 2 งาน 2ตารางวา เป็นวัดแต่โบราณยุคพุทธศาสนามหายานแห่งศรีวิชัย ต่อมาเมืองสงขลาได้ตั้งขึ้นที่เขาค่ายม่วงหรือที่เรียกว่า เมืองสงขลาหัวเขาแดง ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายที่เจริญขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง วัดเขาน้อยได้กลับกลายสภาพเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัย เป็นเวลาช้านาน เพิ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (หลังจากเมืองสงขลาหัวเขาแดงหมดสภาพจากการเมือง)
วัดเขาน้อยมีปูชนียสถานและปูชะนีวัตถุที่สำคัญคือ
- เจดีย์เขาน้อย ตั้งอยู่บนยอดเขาน้อย เป็นเจดีย์ไม่เจือปูนการเรียงอิฐเป็นแบบไม่มีระบบเป็นแบบช่างสมัยศรีวิชัยพุทธศตวรรษที่13 -18 ฐานเจดีย์เป็นรูปเหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้างยาว ประมาณ 20 เมตร องค์เจดีย์ปรักหักพัง เหลือเพียงฐานซึ่งมีซุ้มประตูคูหาแบบรูปโค้งแหลม ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยอยุธยาอยู่ที่มุมทั้ง 4 ของฐาน จากการขุดแต่งบูรณะของสำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2529 ปรากฏว่าได้พบหลักฐานต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น หินแกะสลักเป็นลวดลาย และใบหน้าของบุคคล เป็นต้น ภาพแกะสลักเหล่านี้มีรูปแบบศิลปะ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบคุปตะ
(พุทธศตวรรษที่ 9 - 11) ของอินเดียแสดงว่าสถูปเจดีย์องค์นี้คงจะสร้างขึ้นใน "สมัยทวารวดีและศรีวิชัย" ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 แล้วชิ้นส่วนของภาพแกะสลักเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ประกอบเป็นภาพประดับสถูปเจดีย์อีกครั้งหนึ่งในคราวต่อเติมระยะหลังราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 20 ซึ่งเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมสถูปเจดีย์องค์นี้อีกตามหลักฐานที่ปรากฏชวนให้เข้าใจได้ว่า เจดีย์วัดเขาน้อยองค์นี้ได้รับการบูรณะต่อเติมซับซ้อนกันมาหลายยุคหลายสมัยเป็นเวลานานหลายร้อยปีปัจจุบันยังเหลือไว้เพียงส่วนฐานเป็นพยานให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองแต่ในอดีต
นี้คือโบราณสถานของความเป็นเขาแดงแห่งเมืองสงขลา ซึ่งเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การทำศึกกู้บ้านกู้เมือง และเจดีย์สองพี่น้องก็เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ ที่ชาวสงขลาควรจะอนุรักษ์และหวงแหนไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของเมืองสงขลา
เมืองเก่า "สงขลา" ถ้าได้ผ่านการดูแล รักษาอย่างดี ก็น่าจะได้รับการพิจารณาจากยูเนสโก้ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
แต่การบุกรุกเขาแดงแหล่งโบราณสถาน มีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินบริเวณนี้ จึงน่าจะถึงเวลาในการตรวจสอบว่าการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหารายแรกที่เข้ารายงานตัว ยืนยันว่าที่ดินมีเอกสารสิทธิ์
รวมไปถึงที่ดินบริเวณป้อมปราการ หมายเลข 9 ด้วย ต้องถึงเวลาตรวจสอบว่า มีการบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์หรือไม่
เรื่อง : นายหัวไทร