คอลัมนิสต์

อย่าปล่อยให้ต่างคนต่างทำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อย่าปล่อยให้ต่างคนต่างทำ บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563

 

 

          โลกของเรา หลังจากเผชิญวิกฤติโควิด-19 เข้าเดือนที่ 4 กำลังก้าวสู่ความโกลาหลอย่างเหลือคณา แม้ว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และเสียชีวิตในจีนจะเริ่มอยู่ในอัตราที่ลดลง แต่ในบางประเทศกลับส่อแสดงว่า ไวรัสมรณะตัวนี้จะเขย่าโลกต่อไปอีกพอสมควร โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม จูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้ประกาศปิดประเทศ โดยที่ก่อนหน้านั้นจำกัดขอบเขตเอาไว้เพียงปิดบางเมือง ทั้งนี้เพราะ ณ วันที่ 9 มีนาคม อิตาลี มีสถิติผู้เสียชีวิตรองจากจีนที่จำนวนใกล้แตะระดับ 500 คน การตัดสินใจปิดประเทศครั้งนี้ ทำให้ทุกพื้นที่เป็นเขตควบคุม รัฐบาลสั่งห้ามผู้คนเดินทางยกเว้นไปทำงานหรือเหตุฉุกเฉินในครอบครัว พร้อมสั่งเลิกกิจกรรมต่างๆ เช่น การชุมนุม การแข่งขันฟุตบอล และท่องเที่ยวยามค่ำคืน

 

อ่านข่าว...  เจาะลึกทีมแพทย์..."เปิด 11 สูตรยา" รักษาโควิด-19

 

 

          สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขยืนยัน สถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 คน เป็นหญิงไทยอายุ 41 ปี 1 คน และอีก 2 คน เป็นคู่สามี-ภรรยา ซึ่งภรรยาเดินทางกลับมาจากประเทศอิตาลี รวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยล่าสุด 53 คน รักษาตัวในโรงพยาบาล 19 คน หายดีกลับบ้านได้แล้ว 33 คน ส่วนผู้เสียชีวิตยังเป็นรายเดิมจำนวน 1 คน กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำอีกครั้งขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเดินทางไปพื้นที่ที่เชื้อโรคนี้ระบาดอยู่ โดยเฉพาะในยุโรป หากจำเป็นต้องเดินทางควรระมัดระวังอย่างเต็มที่ ตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ฝรั่งเศสก็ยังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าเป็นห่วง โดยสรุปก็คือ ที่ต้องระวังกันมากที่สุดขณะนี้ก็คือ กิจกรรมชุมนุม และ/หรือการเดินทาง


          ในด้านกิจกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้น อย่างเช่น กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ประกาศงดกิจกรรมสงกรานต์ประจำปี 2563 ที่ถนนสีลม ถนนข้าวสาร และบริเวณราชประสงค์ งดจัดกิจกรรมอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ขบวนรอบกรุง รวมทั้งจะประสานขอความร่วมมือภาคเอกชนให้งดกิจกรรมลักษณะเดียวกัน สำหรับในต่างจังหวัด หลายๆ ภาคส่วนก็พร้อมใจยกเลิกกิจกรรมที่เป็นการชุมนุมหรือการรวมตัวของคนหมู่มากเช่นกัน เหล่านี้ต้องยอมรับว่า จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับรายได้จากการท่องเที่ยว แต่เดิมคาดว่าจะหดหายไปประมาณกว่า 3 แสนล้านบาทจากนักท่องเที่ยวที่ลดลง 6 ล้านคน ก็พุ่งทะยานเป็น 5 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว

 



          มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น เที่ยวเมืองรอง ท่องเที่ยวชุมชน จับจ่ายในตลาดน้ำประชารัฐ สนับสนุนสินค้าโอท็อป ฯลฯ นับเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนักลงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้อย่างเลวร้ายสุดๆ แต่กระนั้น รัฐบาลเองก็ต้องมีแผนงานทั้งระยะสั้น และระยะยาวเพื่อเป็นโมเดลให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ยกตัวอย่าง การท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการระงับการแพร่เชื้อ ก็ต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวในแบบที่ปลอดภัย และพยุงรายได้ให้ผู้ประกอบการในทุกๆ ส่วน ด้านการขนส่งคมนาคม ก็ต้องมีแผนงานเป็นระบบ เช่นเดียวกับด้านการศึกษาที่อยู่ในช่วงสอบเข้า ม.4 หรือกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก ล้วนแต่ต้องมีแนวทาง และมี “ผู้นำ” ควบคุมสถานการณ์ ปล่อยไปแบบต่างคนต่างทำไม่ได้แน่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ