ถอดรหัสคำวินิจฉัยคดีธนาธร ส.ส. ถือหุ้นสื่อ ฟังแล้ว...หนาว
หากยังมีสถานะเป็นบริษัทที่จดแจ้งว่าทำสื่อแม้ปัจจุบันไม่ทำสื่อ ก็มีโอกาสทำได้ ก็ถือเป็นสื่อ คำวินิจฉัยของศาล รธน.กินความกว้างแค่ไหนส.ส.ที่ถูกร้องตายยกเข่งหรือไม่
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นสภาพการเป็น ส.ส. จากกรณีการถือครองหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัคมีเดีย จำกัด
เฟซบุ๊กของ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการโพสต์ถึงข้อความบางตอนของคำวินิจฉัย ไว้อย่างน่าสนใจ
และ ท่อนคำวินิจฉัยที่น่ากลัวที่สุด คือ “ หากยังมีสถานะเป็นบริษัทที่จดแจ้งว่าทำสื่อ แม้ปัจจุบันไม่ทำสื่อ ก็มีโอกาสทำได้ ก็ถือเป็นสื่อ” ดังนั้น อีกกว่า 60 ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่มีบริษัทที่แม้ไม่ได้ทำสื่อ แต่ในหนังสือจดบริคณห์สนธิระบุว่า สามารถทำสื่อได้ จะถูกบรรทัดฐานนี้ในการวินิจฉัยแบบเดียวกันหรือไม่"
แปลความตามข้อคิดเห็นของนายสมชัย อธิบายง่ายๆ ก็คือ หากบริษัทที่ ส.ส. ถือหุ้น ในหนังสือบริคณห์สนธิ ระบุว่าทำสื่ออยู่ด้วยแม้ในความจริงไม่ได้ทำสื่อ ก็อาจโดนวินิจฉัยให้พ้นสภาพ ส.ส. ได้ หากยังถือหุ้นนั้นอยู่ในวันลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
แต่หากเป็นไปตามนี้ก็ถือว่า ศาลรัฐธรรมนูญยึดเอาดีกรีระดับแรงสุด
เพราะว่า คดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อ มีทฤษฎีเกี่ยวกับการเอาผิดได้ 3 ระดับ
ระดับเบาสุด คือ กรณีที่ข้อเท็จจริงชัดเจนว่าหุ้นที่ถือนั้นเป็น "หุ้นสื่อ" โดยไม่มีข้อโต้แย้งว่าหุ้นที่ ส.ส. ถือนั้น เป็น“หุ้นสื่อ”หรือไม่ อย่างกรณีหุ้นวี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นหุ้นสื่อ เพราะบริษัท วี-ลัค มีเดีย ทำเกี่ยวกับนิตยสาร ฝ่ายนายธนาธร ก็ยอมรับว่าบริษัทฯนี้ทำสื่อ ดังนั้นก็จะดูเพียงว่า ณ วันลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ยังถือหุ้นสื่อนั้นๆอยู่หรือเปล่า ถ้า ส.ส. คนนั้น ยังถือหุ้นสื่ออยู่ก็โดนเหมือนนายธนาธร
ระดับกลาง คือ เป็นกรณีหุ้นที่ ส.ส. ถือนั้นเป็นบริษัททำสื่อ แต่เลิกกิจการไปแล้ว ซึ่งมี ส.ส.จำนวนไม่น้อยที่ถูกร้องและ ส.ส. กลุ่มนี้สู้ว่า เคยทำสื่อแต่“เลิกกิจการ”ไปแล้ว
สู้อย่างนี้จะรอดมั๊ย.....
หากถอดรหัสโดยตีความจากวรรคทองของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ..... "หากยังมีสถานะเป็นบริษัทที่จดแจ้งว่าทำสื่อ แม้ปัจจุบันไม่ทำสื่อ ก็มีโอกาสทำได้ ก็ถือเป็นสื่อ" โดยไม่ได้แปลความสุดโต่งถึงขนาด อ.สมชัย ก็น่าจะหมายถึงว่า หากเป็นบริษัทที่หนังสือบริคณห์สนธิระบุว่าทำสื่อ แม้ปัจจุบันไม่ได้ทำสื่อ แต่หากยังไม่จดแจ้งเลิกกิจการหรือจดแจ้งยกเลิกวัตุประสงค์ของบริษัทที่ระบุว่าทำสื่อ รวมอยู่ด้วย ก็ยังถือเป็นสื่ออยู่ ดังนั้นก็ไม่น่ารอด สำหรับพวกที่ไม่จดแจ้งเลิกกิจการสื่อ แม้ว่าปัจจุบันไม่ได้ทำสื่อ
ส่วนระดับแรงสุด ก็คือ เป็นกรณีที่อาจารย์สมชัย ตั้งข้อสังเกตไว้ คือ ดูจากหนังสือบริคณห์สนธิซึ่งระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทอย่างเดียว หากระบุว่าทำสื่ออยู่ด้วยก็โดน ไม่ต้องสนใจว่า ในความจริงบริษัทนั้นจะทำอะไร จะทำบ้านจัดสรร ทำอสังหาริมทรัพย์ ทำโรงเหล็ก ก็เข้าข้อต้องห้ามทั้งนั้น หากยังถือหุ้นนั้นอยู่ในวันรับสมัคร ส.ส.ก็ต้องพ้นสมาชิกภาพ
อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีของนายธนาธร ที่ว่า “หากยังมีสถานะเป็นบริษัทที่จดแจ้งว่าทำสื่อ แม้ปัจจุบันไม่ทำสื่อ ก็มีโอกาสทำได้ ก็ถือเป็นสื่อ” ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลงความ หรืออธิบายอย่างละเอียดว่าหมายถึงอย่างไร กินความขนาดไหน
ทุกอย่างจะกระจ่างอีกไม่นาน.....เมื่อถึงคราวชี้ชะตา บรรดา ส.ส.ที่ถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อ