คอลัมนิสต์

ตำรวจอาสา...ถึงเวลาต้องยกเครื่อง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 


          แม้ว่าเจ้าหนูน้อย “แซม” เด็กชายวัย 2 ขวบ ที่ถูกตำรวจอาสาใช้ไม้ฟาดจนหัวแตก สลบเหมือดคาอ้อมอกแม่ จะรอดพ้นเงื้อมมือมัจจุราชไปได้แล้ว แต่ขอร้องว่าสังคมไทยอย่าเพิ่งรีบลืมเรื่องนี้เร็วไป เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา 

 

 

          เพราะถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงเพียงแค่การลงโทษผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรมพื้นๆ โดยไม่ได้ตามไปแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งหมายถึงการควบคุมขอบเขตการทำงานของตำรวจอาสาที่ต้องเน้นย้ำเรื่องความประพฤติเป็นสำคัญแล้ว  ต่อไปก็จะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ จากผู้ก่อเหตุกลุ่มเดิมๆ อีกไม่มีวันจบสิ้น 


          ขณะที่ตำรวจอาสาดีๆ ที่อุทิศตัวเพื่อสังคมก็จะถูกเหมารวมว่าเป็นจุดด่างของสีกากีไปทั้งหมด

 

 

 

ตำรวจอาสา...ถึงเวลาต้องยกเครื่อง?

 


          อย่างเหตุการณ์ที่เกิดกับน้อง “แซม” และครอบครัวนั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อพฤติกรรมลุแก่อำนาจของตำรวจอาสา แต่เป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่อยู่ในความสนใจของสังคม เพราะการกระทำของตำรวจอาสารายนี้ถือว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุมาก


          คำบอกเล่าจากปากของแม่น้องแซม กัลยา ตมกลาง  ลำดับเหตุการณ์ได้ว่า  


          คืนวันที่ 26 มีนาคม 2562 สามีคือ สิวา นิลขำ พาเธอและลูกชาย ขี่จักรยานยนต์ซ้อนท้ายกันออกไปหาอาหารรับประทานในซอยเขาตาโล อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ขากลับระหว่างขี่รถมาตามถนน สังเกตเห็นว่าตำรวจกำลังตั้งด่านตรวจอยู่ข้างหน้า 

 

 

 

ตำรวจอาสา...ถึงเวลาต้องยกเครื่อง?

 



          ด้วยความกลัวว่าจะถูกจับ เพราะไม่ได้สวมหมวกกันน็อก สิวาจึงตัดสินใจวกรถกลับ โดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุเลยว่า การพยายามหลบหนีความผิดของพวกเขานั้นมันมีค่าปรับรุนแรงถึงขั้นเกือบต้องชดใช้ด้วยชีวิตของลูกรักเลยทีเดียว


          หลังวกรถกลับ สิวากระหยิ่มใจ คิดว่าเขาน่าจะรอดพ้นการจับกุมของตำรวจแน่แล้ว แต่ทันใดนั้นกลับปรากฏเงาดำทะมึนพุ่งออกจากมุมมืดข้างทาง ตรงมายังพวกเขาอย่างไม่ทันตั้งตัว 


          สถานการณ์คับขัน สิวาทำอะไรไม่ถูก รู้เพียงว่าต้องขับต่อไปข้างหน้าเพื่อ “หนี” 


          แต่โชคไม่เข้าข้าง ! พลันที่ความคิดของสิวาสะดุดลงเพียงแค่นั้น ชายที่สังเกตเห็นว่าสวมชุดดำก็เหวี่ยงไม้ที่กำแน่นอยู่ในมือไปที่มอเตอร์ไซค์ หมายสกัดให้จำนนในทันที แต่ด้วยสัญชาตญานเอาตัวรอด สิวาเบี่ยงตัวหลบอย่างฉับไว ทำให้ไม้พลาดไปโดนศีรษะลูกชายที่ซ้อนท้ายอยู่ข้างหลังกับเมียสาวอย่างจังจนแน่นิ่งไป

 

 

 

ตำรวจอาสา...ถึงเวลาต้องยกเครื่อง?

 

 

          หลังเหตุการณ์ยุติ สิวา กับ กัลยา รีบอุ้มร่างลูกน้อยไปโรงพยาบาลบางละมุง ก่อนเข้าแจ้งความที่โรงพัก สภ.หนองปรือ ให้ดำเนินคดีกับชายที่ก่อเหตุ ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นตำรวจอาสาจริง  


          “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่จะบรรยาย มันเหนือจากคำว่าเกินกว่าเหตุมากแล้ว ความผิดแค่หลบด่านไม่อยากจะเสียค่าปรับมันผิดขนาดนั้นเลยหรือ...ตอนนั้นไม่รู้สึกอะไรนอกจากเป็นห่วงลูก กลัวลูกจะเป็นอะไรไป เพราะเป็นลูกชายคนเดียว จึงอยากขอความเป็นธรรมให้แก่ลูก ต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดกับผู้ก่อเหตุ”
กัลยา ซึ่งยังอยู่ในภาวะย่ำแย่ทางจิตใจ ระบายความอัดอั้นผ่านสื่อท้องถิ่น เหมือนต้องการความเห็นจากสังคมถึงพฤติกรรมของตำรวจอาสาที่ปฏิบัตินอกหน้าที่จนเกือบทำให้ลูกชายของเธอเสียชีวิต


          เหตุการณ์ผ่านไป 2 วัน แพทย์อนุญาตให้ สิวา และกัลยา รับลูกกลับบ้านได้ หลังจากผ่านการรักษาด้วยการเย็บแผลที่ศีรษะไปหลายเข็มและเฝ้าดูอาการจนมั่นใจแล้วว่าปลอดภัยดี 

 

 

 

ตำรวจอาสา...ถึงเวลาต้องยกเครื่อง?

 


          แต่ครอบครัวของ สิวา ก็ยังไม่มีโอกาสได้เจอหน้าคู่กรณีเพื่อรับคำขอโทษแม้แต่ครั้งเดียว


          ขณะที่ห้องสนทนาในสังคมออนไลน์ ซึ่งตั้งวงบริภาษหนุ่มตำรวจอาสาผู้นี้มาตั้งแต่วันแรกก็ยังไม่สุดกับความคับข้องในบทบาทของตำรวจอาสา ที่ความจริงแล้วไม่มีอำนาจอันใดเลยที่จะปฏิบัติเยี่ยงนี้กับประชาชน 


          ผู้คนจำนวนมากพยายามขุดคุ้ยประวัติของตำรวจอาสารายนี้จากชื่อที่ปรากฏในสำนวนคดีของตำรวจ สภ.หนองปรือ แต่ไม่พบว่ามีข้อมูลในทางเสื่อมเสีย นอกจากเรื่องราวที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมในลักษณะจิตอาสา


          อย่างไรก็ดี หลังถูกกระแสสังคมก่นด่าอย่างหนัก จนต้องเก็บตัวอยู่หลายวัน หนุ่มจิตอาสารายนี้ได้ตัดสินใจเปิดเผยตัวต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความเสียใจต่อการกระทำของตนเองแล้ว 


          ตำรวจอาสาหนุ่มรายนี้ ยอมรับในสิ่งที่ทำลงไป แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่มีเจตนาให้ใครได้รับอันตราย และไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามอเตอร์ไซค์คันนั้นมีเด็กซ้อนท้ายอยู่ด้วย “ผมไม่ได้ฟาด แค่ยกไม้กั้นไว้เฉยๆ ไม่รู้ว่าจะไปโดนเด็ก เพราะไม่รู้ว่ามีเด็กอยู่ด้วย”


          เขาชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่ตรงข้ามกับคำให้การของ สิวา และกัลยา ที่อ้างว่าเขาใช้ไม้ฟาดและยังจะตามมาซ้ำ 


          แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยืดอกยอมรับว่าในเมื่อทำลงไปแล้วก็ต้องรับผิด เพียงแต่ขอให้สังคมเข้าใจว่าเขาไม่มีเจตนาทำร้ายใคร และขอโอกาสให้เขามีที่ยืนบ้าง “มันทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องว่าไปตามความผิดครับ เพียงแต่ขอพื้นที่ให้ผมได้พูดบ้าง ไม่ใช่มาว่าผมอย่างเดียว”  


          กระนั้นก็ตาม วีรกรรมของตำรวจอาสาหนองปรือหนนี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงวงการตำรวจอาสาทั่วประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


          การทำงานแบบที่เรียกว่า “เหาะเกินลงกา” ของตำรวจอาสาท้องที่ต่างๆ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อตอกย้ำความเห่อเหิมอำนาจที่ไม่มีในตัวของบุคคลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง


          เหตุการณ์ลักษณะคล้ายกับกรณีครอบครัวน้องแซม ล่าสุดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคงหนีไม่พ้นกรณี ตำรวจอาสาสำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ กระโดดถีบมอเตอร์ไซค์ที่หนุ่มวัยรุ่นขี่หลบหนีด่านตรวจภายในซอยมิตรอุดม (สุขุมวิท74) ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ จนล้มกลิ้งหัวฟาดพื้นเสียชีวิต ขณะที่แฟนสาวบาดเจ็บ เมื่อหลังสงกรานต์ปีที่ผ่านมา


          พฤติการณ์การก่อเหตุของอาสาสมัครรายนี้ คล้ายกับกรณีที่ จ.ชลบุรี คือ ตำรวจอาสาจะแยกตัวไปซุ่มยืนห่างจากด่านตรวจ คอยดักสกัดจับผู้ต้องสงสัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ยอมหยุดให้ตรวจค้น ซึ่งการกระทำของเขานั้น รุนแรง โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่ตามมา


          หลังเกิดเหตุ ตำรวจอาสารายนี้ถูกดำเนินคดีข้อหา “กระทำโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” 


          ขณะที่ พล.ต.ต.ธรรมนูญ ไตรทิพยพงศ์ ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ มีคำสั่งย้ายนายตำรวจระดับ ผกก.สภ.สำโรงเหนือ และรองลงมาอีก 3 นาย ไปช่วยราชการที่ ศปก.ภาค 1 และ ศปก.บก.ภ.จว.สมุทรปราการ พร้อมกันนี้ได้มีคำสั่งให้ตำรวจอาสาใน จ.สมุทรปราการ ทั้งหมดยุติการทำงานทันที 


          “ผมได้เห็นคลิปเมื่อเช้าถือว่าทำนอกกรอบกฎหมายที่ตำรวจอาสาไม่มีอำนาจหน้าที่จะไปตรวจค้นหรือจับกุมใคร”


          พล.ต.ต.ธรรมนูญ ยอมรับว่าการทำงานของตำรวจอาสา หรืออาสาตำรวจบ้าน ทุกวันนี้ไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องการใช้อำนาจ และมักทำงานเกินหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนเกิดปัญหาตามมาอยู่เนืองๆ


          ขณะที่ พ.ต.ท.กฤษณ์ มาสุข รอง ผกก.ป.สภ.หนองปรือ ยอมรับเช่นกันว่า ปัญหาอาสาสมัครที่มักทำตัวกร่างและเกินกว่าเหตุนั้นคงมีอยู่บ้าง แต่อาจไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม สภ.หนองปรือ คงหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ และได้สั่งระงับการทำงานของอาสาทั้งหมด โดยจะมีการคัดกรองความประพฤติและประวัติของผู้ที่จะเข้ามาช่วยงานโดยละเอียดเสียใหม่ ก่อนที่จะมอบหมายหน้าที่ให้มาช่วยเหลืองานราชการต่อไป


          ด้านทนายความชื่อดัง เดชา กิตติวิทยานันท์ จากเพจ “ทนายคลายทุกข์” ระบุว่าอาสาตำรวจหรืออาสาจราจรไม่ใช่เจ้าพนักงาน ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในการตรวจค้นจับกุมหรือตั้งด่าน มีแต่อำนาจเถื่อนเท่านั้น


          ทนายเดชา ระบุด้วยว่า กรณีตำรวจอาสาปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขต และผิดกฎหมาย ตำรวจที่รับผิดชอบและนำอาสาเหล่านี้มาร่วมทำงานอาจต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายโดยตรงเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ด้วย 


          “ควรทำเป็นคดีตัวอย่าง เพราะนับวันพวกอาสาสมัครทั้งหลายจะลุแก่อำนาจไปตั้งด่านตรวจค้นจับกุมโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญเพราะบุคคลทุกคนเสมอกันตามกฎหมาย มาตรา 27 บุคคลธรรมดาจึงไม่สามารถจับคนอื่นได้”
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ