คอลัมนิสต์

จัดทีมรุกสกัดข่าวปลอม!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจเลือกตั้ง  โดย...  มณเฑียร อินทะเกตุ 


 

          ใกล้เข้าไปทุกขณะสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 20 วันข้างหน้า จะเรียกว่าโค้งสุดท้ายก็ไม่แปลก แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมี “โซเชียลมีเดีย” เป็นเครื่องมือที่เพิ่มเติมขึ้นมาในการหาเสียง ซึ่งไม่ใช่การหาเสียงแบบเดิม ผ่านการลงพื้นที่ ปราศรัย หรือออกสื่อกระแสหลักเท่านั้น รวมถึงคอการเมืองและประชาชนทั่วไปก็ใช้โซเชียลมีเดียในการเช็กข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และ ไลน์ ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียยอดฮิตสำหรับการติดตามข่าวสารของผู้คนส่วนใหญ่ในยุคนี้

 

 

          ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งมีสถานการณ์เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ให้ต้องติดตามลุ้นว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ และสิ่งหนึ่งที่ตำรวจ ในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากแต่ละหน่วยจัดกำลังลงพื้นที่เฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมีทีมคอยมอนิเตอร์โซเชียลมีเดีย เพราะในห้วงของการเลือกตั้งได้มีการปล่อยข่าวปลอมเผยแพร่ผ่านช่องทางนี้ ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมือง 


          ถึงแม้ตำรวจจะมีหน่วยงานไว้รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ แต่ในยุค 4.0 จะตั้งรับในฐานที่มั่นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องจัด “ทีมรุก” ด้วยการตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังการกระทำผิดทางโซเชียลมีเดียช่วงเลือกตั้ง ซึ่งปฏิบัติการเชิงรุกแบบนี้เป็นทางถนัดของบิ๊กตำรวจชื่อดังแห่ง พ.ศ.นี้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) 

 

          “บิ๊กโจ๊ก” ถูกมองว่าเป็นคนสนิทของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือเอาง่ายๆ ว่า “บิ๊กโจ๊ก” เป็นมือขวารัฐบาล ทำหน้าที่ปราบปรามตามนโยบาย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพี่ใหญ่อย่าง “บิ๊กป้อม” ผลงานเป็นที่ประจักษ์ สร้างคะแนนความนิยมให้รัฐบาล โดยเฉพาะการปราบนายทุนเงินกู้นอกระบบ เอาโฉนดที่ดินคืนชาวบ้าน กระทั่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นปฏิบัติการหาคะแนนนิยมให้แก่ “นายกฯ ลุงตู่” เพื่อปูทางสู่การตั้งรัฐบาลใหม่ในอนาคต ขณะเดียวกันเมื่อมีข่าวปลอมโจมตีภาพลักษณ์รัฐบาลในทางเสียหาย ทีมงานของ “บิ๊กโจ๊ก” ก็ปิดจ๊อบจับคนเผยแพร่ในเวลาอันรวดเร็ว และทุกครั้งเมื่อถูกถาม “บิ๊กโจ๊ก” ก็จะบอกว่า “ผมเป็นลูกน้องท่าน ได้บารมีท่านทำงานได้สะดวกรวดเร็ว” แถมยืนยันว่าการปราบนายทุนเงินกู้เอาโฉนดคืนชาวบ้าน ไม่ใช่การหาเสียงให้นายกฯ แต่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ และต้องรีบทำ




          การตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังการกระทำผิดทางโซเชียลมีเดียช่วงเลือกตั้ง คงเป็นผลพวงมาจากกรณีที่ นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ เป็นผู้ต้องหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14(2) จากกรณีเรื่องค่าฝุ่นมลพิษ พีเอ็ม 2.5 ที่ออกมาระบุว่า สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์แห่งหนึ่งผ่านเพจพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อหาค่าพีเอ็ม 2.5 ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่าไม่เป็นจริงตามที่ได้ระบุไว้ ต่อมาโลกออนไลน์ยังมีเรื่องข่าวปลอมเผยแพร่เอกสารคำสั่งย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตามด้วยข่าวทหารเกณฑ์ จากประจำการ 2 ปี เป็น 4 ปี โดยไม่ให้กลับบ้าน


          เกี่ยวกับประเด็นนี้ “บิ๊กโจ๊ก” แจกแจงว่า ตำรวจได้ร่วมกับ กสทช. จัดทำวอร์รูมเฝ้าระวังการใช้สื่อโซเชียลในทางที่ผิด โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้ง ที่มีการใช้สื่อโซเชียลดำเนินการทางการเมืองมากขึ้น แต่ไม่ได้จับตาเพจการเมืองใดเป็นพิเศษ เพราะหากมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ก็จะปรากฏชัดอยู่แล้ว ซึ่งย้ำเตือนไปยังผู้ใช้สื่อโซเชียลต่างๆ ระมัดระวังการโพสต์หรือแชร์ข้อมูล ต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้กระทำผิดแล้วกว่า 50 ราย แม้ยังไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง แต่ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ข่าวปลอม ข่าวลือ สร้างความตื่นตระหนก ถึงจะทำผิดในต่างแดน ก็สามารถดำเนินคดีได้
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ