คอลัมนิสต์

แบตเตอรี่เอเชีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  อ๊อด เทอร์โบ..ดับเครื่องชน   [email protected]


 


          สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไปเวียงจันทน์ นครหลวงของลาว ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทย ซึ่งมีเพียงแม่น้ำโขงขวางกั้น แต่ความรู้สึกนึกคิดวัฒนธรรมประเพณีใกล้กันที่สุดแถมพูดจากันรู้เรื่อง

 

 

          วัตถุประสงค์เพื่อไปดูโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ‘น้ำงึม 2’ หรือภาษาลาวเรียกว่า ‘เขื่อนไฟฟ้าน้ำตกน้ำงึม 2’ ซึ่งบริษัท ซีเค.พาวเวอร์ในเครือ ช.การช่าง เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว ตามโครงการแบตเตอรี่เอเชีย ซึ่งลาวจะผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ไทย หาเงินรายได้เข้าประเทศ


          ‘ดับเครื่องชน’ วันนี้อาจจะมีข้อมูลหนักหน่อยซึ่งขอแจ้งข้อมูลให้ทราบพอสังเขปก่อนจะต่อด้วยเรื่องทั่วๆ ไปของเมืองลาว

 


          โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ตั้งอยู่บนลำน้ำงึมระหว่างภูเขาภูแซและภูฮวด บ้านห้วยม่อ เมืองฮ่ม นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยอยู่ห่างจากเขื่อนน้ำงึม 1 ขึ้นไปทางต้นน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะทาง 35 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ 90 กิโลเมตร

 

แบตเตอรี่เอเชีย

 


          ลักษณะโครงการเป็นเขื่อนกักเก็บ โดยจะเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำที่สร้างอยู่ในระดับที่สูงกว่าอาคารโรงไฟฟ้า เมื่อปล่อยน้ำลงมาตามอุโมงค์ส่งน้ำซึ่งมีแรงดันสูงจะผลักดันให้ใบพัดของเครื่องกังหันหมุนด้วยความเร็วสูง เพลาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะเกิดการหมุนและทำให้เกิดการเหนี่ยวนำในเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อให้เกิดเป็นกระแสไฟฟ้า


          สายส่งกระแสไฟฟ้าจากตัวเขื่อนถึงสถานีไฟฟ้าบ้านนาบง ระยะทาง 80 กิโลเมตร ออกแบบให้ใช้สายส่งขนาด 230 กิโลโวลต์ สายส่งกระแสไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าจะถูกปรับเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าเป็นขนาด 500 กิโลโวลต์ ที่สถานีไฟฟ้าบ้านนาบงเป็นสถานีชุมสายรองรับการพัฒนาระบบสายส่งจากโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 น้ำงึม 3 น้ำเทิน 1 และน้ำเงียบ

 



          ก่อนที่จะนำ กระแสไฟฟ้าเข้าสถานีไฟฟ้าอุดรธานี 3 ในประเทศไทย สายส่งกระแสไฟฟ้าบริเวณชายแดนประเทศไทยเข้าสถานีไฟฟ้าอุดรธานี 3 ระยะทาง 70 กิโลเมตร ออกแบบให้ใช้สายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

 

แบตเตอรี่เอเชีย

 


          การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปได้ เพราะเมื่อเขื่อนเริ่มทำการกักเก็บน้ำ พื้นที่ราบในหุบเขาน้อยใหญ่ของลุ่มน้ำงึมซึ่งกินพื้นที่ราว 107 ตารางกิโลเมตร จะจมอยู่ใต้ผืนน้ำ จึงต้องมีการโยกย้ายชาวบ้านราว 6,000 คน จาก 982 ครอบครัว ใน 16 หมู่บ้าน ของเมืองไซสมบูน แขวงเวียงจันทน์มายังที่อยู่ใหม่


          ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจะย้ายมาอยู่ใหม่ที่เมืองเฟือง แขวงเวียงจันทน์ ห่างจากถิ่นเดิมราว 120 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่กลางหุบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ภายในเวลาไม่นานหมู่บ้านใหม่ 3 หมู่บ้านถูกสร้างขึ้นพร้อมด้วยวัด โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม 3 แห่ง โรงเรียนมัธยม ศาลาประชาคม สถานีอนามัย ตลาด สถานีขนส่ง ถนนลาดยาง และพื้นที่เพาะปลูก ทั้งหมดถูกสร้างลงบนพื้นที่กว่า 10 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความใส่ใจของโครงการในการแก้ไข เยียวยา และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างดีที่สุด


          หมดเรื่องหนักๆ แล้ว ‘อ๊อด เทอร์โบ’ ขอเล่าสู่กันฟังเรื่องเมืองลาวกันบ้าง


          นครหลวงเวียงจันทน์ ณ เวลานี้ เจริญขึ้นอย่างผิดหูผิดตา รถราก็ติดขัดแบบกทม. ผู้คนมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนไป

 

 

 

แบตเตอรี่เอเชีย

 


          สมัยก่อนจากที่ไปลาวต้องนั่งแพข้ามโขงที่ท่าเสด็จ หนองคาย แต่เดี๋ยวนี้มีสะพานข้ามโขงหลายแห่ง


          เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ลาวจะเจริญมาก ไล่ๆ กับไทยเพราะมีรถไฟความเร็วสูงจากจีนผ่านหลวงพระบางมาถึงเวียงจันทน์


          โอกาสนี้ขอขอบคุณ กก.ผจก.ซีเค พาวเวอร์ ‘ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์’ และกก.ผจก.ไฟฟ้าน้ำงึม 2 ‘วรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์’ และทีมงานที่พาไปเยี่ยมชมโครงการและได้รู้ได้เห็นชีวิตชาวลาวแบบใกล้ชิด


          มีคำถามอยู่ในใจว่าไทยจะทำโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำได้หรือไม่?


          คำตอบคือ ‘เป็นไปไม่ได้’ เพราะจะมีคนค้านแบบหัวชนฝาและไม่ยอมรับรู้ว่าอนาคตไทยจะเป็นอย่างไร


          ไทยจึงต้องซื้อไฟฟ้าจากลาวมาใช้ด้วยประการฉะนี้

 

 

แบตเตอรี่เอเชีย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ