Lifestyle

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เพราะความเจริญของเมืองใหญ่อาจทำให้สังคมเรากำลังมีความเปราะบางมากขึ้น”

 ความเปราะบางนี้จึงกลายเป็นประเด็นเรื่องราวอีกมุมที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันในงาน “Human of Street” ซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “เราล้วนเปราะบางกลางเมืองใหญ่” ซึ่งงานนี้ถ่ายทอดผ่านการเสวนา กิจกรรมเวิร์คช็อป นิทรรศการผลงานจากนักศึกษาที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่สัมผัสประสบการณ์ความเป็นคนไร้บ้านด้วยตัวเอง ฯลฯ โดยกิจกรรมนี้มีความมุ่งหวังว่าจะช่วยจุดประกายให้คนในสังคมโดยรวมได้เห็นว่าแท้จริงแล้ว คนเราทุกคนล้วนมีโอกาสกลายเป็นคนที่ “เปราะบาง” กลางเมืองใหญ่ได้ไม่ต่างกัน

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดงาน Human of Street: เราล้วนเปราะบางกลางเมืองใหญ่ เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหานี้

“สิบปีแล้วที่ สสส. สนับสนุนเรื่องคนไร้บ้าน จนมีสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพแกนนำพี่น้องคนไร้บ้านที่วันนี้ลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนคนไร้บ้านได้ในหลายๆ เรื่อง การพัฒนานวัตกรรมสร้างกลไกการดูแลพี่น้องคนไร้บ้านที่เป็นทางเลือกหลากหลาย เช่น ศูนย์คนไร้บ้าน ซึ่งช่วยหนุนเสริมการทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงการพัฒนาข้อมูลวิจัยคนไร้บ้านเพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายคนไร้บ้าน ซึ่งจากข้อมูลที่มีทำให้เราทราบว่าทุกคนที่เปราะบางในเมืองใหญ่ มีโอกาสเป็นคนไร้บ้านได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความเปราะบางเพราะพิการ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ยิ่งมาประกอบเสริมกับปัจจัยด้านครอบครัวแล้วมีโอกาสที่จะมีคนออกมาเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น โดยถ้าอยู่ในช่วงหนึ่งปีแรก เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะดึงเขามาสู่สังคมหรือเป็นคนไร้บ้านได้ แต่ถ้าเกิน1 ปี เริ่มเข้าสู่ภาวะคนไร้บ้านกึ่งถาวร ที่อาจยากในการจะดึงกลับมา ต้องมีกระบวนการ” ภรณีกล่าว

พร้อมยังเอ่ยถึงข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่กลุ่มคนไร้บ้านต้องเผชิญว่า ปัจจุบันคนไร้บ้านกว่าร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการทางสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้คนไร้บ้านมีอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยถึงกว่า 10 ปี

“ที่น่าสนใจคนไร้บ้านส่วนมากมีงานทำ แต่เป็นงานที่สร้างรายได้น้อย ไม่มั่นคงและเพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือแม้แต่การหาที่พักอาศัย คนไร้บ้านจึงมีความต้องการในการประกอบอาชีพที่ทำให้พวกเขามีคุณภาพชิวิตที่ดีขึ้น หากแต่ยังขาดโอกาสและการหนุนเสริมจากสังคม ดังนั้น สสส. จึงเข้าไปหนุนเสริมการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมในการทำให้คนไร้บ้านที่ประสบกับภาวะความเปราะบางที่มีจากปัจจัยเศรษฐกิจ ครอบครัว และปัจจัยส่วนบุคคลให้สามารถลุกขึ้นมาจัดการตนเองได้ อาทิ การพัฒนาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิ การเข้าถึงที่พักอาศัยชั่วคราวหรือถาวร การฟื้นฟูสภาพจิตใจ การสร้างอาชีพที่เหมาะสม และการกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน”ภรณี เสริม

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

ด้าน อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. ย้ำว่า “เรามองว่าประเด็นคนไรบ้านไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นเรื่องของคนไร้บ้าน แต่เป็นเรื่องของทุกคน เราจึงมาคิดว่าเราควรสื่อสารเรื่องใดดี ก็มองว่าเป็นเรื่องความเปราะบางในการจัดงาน Human of Street ในปีนี้”

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

อีกหนึ่งเสียงจากตัวแทนภาคีสำคัญที่ร่วมกันจัดงาน Human of Street มาโดยตลอด สมเกียรติ จันทรเสมา ผู้อำนวยการเครือข่ายสื่อสาธารณะ (ไทยพีบีเอส) เล่าถึงประสบการณ์แรงบันดาลใจจากการทำรายการสารคดีคนไร้บ้านเมื่อ 5 ปีที่แล้วของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนทำให้เกิดเข้าใจความเป็นคนไร้บ้านที่แท้จริงว่า คนไร้บ้านไม่ใช่หมายถึงแค่ว่าเขาไม่มีบ้านหรือไม่มีที่อยู่ แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่อยากอยู่บ้าน

“ปัจจุบันคนเปราะบางในสังคมมีโอกาสสูงมากที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยที่คนในสังคมไม่ทันสังเกตว่าเขาหายไปจากชีวิตเรา คำถามคือกับเพื่อนร่วมสังคมกลุ่มนี้เราจะดูแล ปฏิบัติกับเขาอย่างไร การดูแลคนไร้บ้านไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเขาแต่เป็นเราเองด้วย เพราะทุกคนในสังคมล้วนเชื่อมโยงกัน เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายภาคส่วนต้องช่วยกันคิดเรื่องนี้”

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

สุขเจีย เฮง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี เธอกำลังฝึกงานอยู่ที่ไทยพีบีเอส และเป็นหนึ่งในนักศึกษารุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการเวิร์คช็อปเพื่อสัมผัสชีวิตคนไร้บ้านตัวจริงเสียงจริง เล่าถึงสิ่งที่เธอได้รับจากการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่า

“หนูได้ทั้งสัมผัสคนไร้บ้านตัวจริง และยังร่วมเวิร์คช็อปจำลองสถานการณ์เป็นคนไร้บ้านด้วยตัวเองที่อายุ 86 เป็นอัลไซเมอร์ ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งโจทย์คือคนที่ชนะในเกมจะต้องมีบ้าน มีบัตรประชาชน มีงานทำ เราเพิ่งได้รู้ว่ามันยากมากกว่าจะเป็นไปได้ เพราะชีวิตต้องติดอุปสรรคหลายอย่าง คิดว่าถ้าเป็นชีวิตเราจริงๆ คงไม่ไหว ทำไมชีวิตมันถึงลำบากขนาดนี้”

สุขเจียยอมรับว่าก่อนจะมีโอกาสเข้าโครงการนี้ เธอไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย และไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ

“เมื่อก่อนเรามองว่าเขาไม่น่าสงสาร เรามองว่าเขาไม่ช่วยเหลือตัวเอง ทำไมไม่ขายของหรือทำอะไรก็ได้  อย่างหนูเป็นคนกัมพูชาจะได้เห็นว่าที่นั่นภาพลักษณ์ของคนไร้บ้านถูกมองว่าไม่ดีมาก อาจเพราะส่วนหนึ่งยังไม่มีการจัดการ หรือไม่มีการสื่อสารแบบในประเทศไทย  แต่พอมาเรียนที่เมืองไทย หนูได้เข้าอบรมเรื่องนี้กับ สสส. และ ไทยพีบีเอส เราเห็นกลุ่มคนทำงานเรื่องนี้มากมายที่เข้ามาช่วย นี่คือภาพที่เรารู้จักคนไร้บ้านครั้งแรกที่เรารู้จักจริงๆ”

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

สุขเจียเอ่ยต่อว่าพอเธอได้ทำงานที่ต้องมีการพบปะคนไร้บ้านจริงๆ ได้สัมผัสใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ได้ฟังความรู้สึก ความต้องการของคนไร้บ้านที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึง

“เราได้รู้ว่าเขาไม่ชอบ และไม่พอใจหลายอย่าง เช่น ไม่อยากถูกมองหรือเรียกเป็นคนไร้บ้าน มีคนไร้บ้านคนหนึ่งเขามีความสามารถด้านดนตรี จบปริญญาโทมา แต่เขาไม่อยากบอกให้ใครรู้ว่าเขาทำได้ เพราะมันทำให้เขามีความรู้สึกไม่ดี ถ้าต้องไปเล่นดนตรีเพื่อได้รับการสงสารจากคนอื่น คนไร้บ้าน แต่ละคนมีความซับซ้อน หนูยอมรับว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นอะไรที่ยากมาก เพราะเขาจะมีการปิดกั้นตัวเอง เวลาคุยกับเขาต้องคุยนานกว่าเขาจะบอกความจริงหรือเปิดใจ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเป็นปัญหาด้านจิตใจ เพราะจากข้อมูลมีคนไร้บ้านเป็นโรคจิตเภทจำนวนมาก แต่เขาไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิด เขาเป็นตอนก่อนเขาจะเป็นคนไร้บ้าน หรือตอนเขาเป็นคนไร้บ้านแล้ว เพราะวิถีชีวิตเขาต้องอยู่กลางถนน

หลังรู้ข้อมูลว่าแต่ละปีเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น เป็นผู้สูงอายุออกจากบ้านมากขึ้น ในความรู้สึกของหนู ทำให้เราอยากป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้มากกว่า จึงคิดว่าเราจะเริ่มกลับไปใส่ใจคนที่อยู่ในครอบครัว ในชุมชนเราว่าเขามีความสุขหรือเปล่า อบอุ่นหรือเปล่า เพราะถ้าเขารู้สึกไม่โอเคเขาก็มีโอกาสกลายเป็นคนไร้บ้านได้ ซึ่งการรอให้เขาเป็นคนไร้บ้านก่อนแล้วค่อยส่งเขากลับสู่สังคมมันยากมากค่ะ” สุขเจียเอ่ยทิ้งท้าย

ปัจจุบันสถิติที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มคนไร้บ้านกำลังแปรผันตามความเจริญของเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วันนี้ประเด็นคนไร้บ้าน กำลังเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกับทุกคนในสังคมไทย และเราทุกคนล้วนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อ “ความเปราะบาง” ดังกล่าว

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

เปราะบาง ไม่ต่างกัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ