Lifestyle

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังมองเห็นโอกาสว่า “Organic  Tourism” หรือการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ จะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยสร้างระบบอาหารปลอดภัยยั่งยืนให้กับสังคมไทยได้ ทำให้ภาคีผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารแบรนด์ดัง จึงร่วมใจกันจับมือกับเกษตรกรผู้ผลิต นำร่องโครงการ Organic Tourism โดยใช้สามพรานโมเดลเป็นต้นแบบพัฒนาการขับเคลื่อน และใช้กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม ดึงคนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเริ่มในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมสร้างระบบอาหารสมดุล ภายใต้โครงการแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สามพรานโมเดล ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคี

โดยจากผลการดำเนินงานมากว่า 1 ปี ของการขับเคลื่อน Organic Tourism เพื่อร่วมกันสร้างระบบอาหารภายในประเทศให้มีความยั่งยืน อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน และผู้ร่วมก่อตั้งแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล

ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการโรงแรม และร้านอาหารชั้นนำจำนวนมากสนใจเข้ามาร่วมในระดับที่น่าพึงพอใจ

ซึ่งโครงการนี้ ตั้งเป้าว่าจะสามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและค่านิยมเรื่องอาหารปลอดภัย เพราะเดิมทั้งผู้ผลิต และผู้ประกอบการต่างก็เคยชินกับวิธีการซื้อขายที่ทำมา ดังนั้นการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้ผลิต ความท้าทายในการขับเคลื่อนคือจะทำอย่างไรให้ทุกคนออกนอกกรอบเดิมๆ

อรุษกล่าวต่อว่า แต่การที่จะให้ทั้งสองส่วนมาทำงานร่วมกัน ต้องให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักสร้างความยืดหยุ่นในวิธีการทำงาน เช่น เกษตรกรต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกอบการเอง แต่เดิมสามารถสั่งผลผลิตอะไรก็ได้จากพ่อค้าคนกลาง

“แต่ต้องยอมรับว่าผลผลิตอินทรีย์จะเป็นไปตามฤดูกาล บางอย่างอาจไม่มีให้ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนเทคนิคการสื่อสารกับลูกค้า” อรุษ กล่าว

อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหาร ยั่งยืน (ประเทศไทย) ดร.อุดม หงส์ชาติกุล กล่าวว่า การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนระบบอาหาร พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกคนจากห่วงโซ่อาหารได้ประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม และแวดล้อม ไม่ใช่แค่ได้บริโภคอาหารที่ดีสุขภาพดีหากแต่สุขภาวะโดยรวมของทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมจากการมีความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ทำให้มีจิตใจที่ดี เอื้ออาทร มีมิตรไมตรีต่อกันอย่างไรก็ตาม การสร้างระบบอาหารให้ยังยืนขึ้นนั้นเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในเชิงระบบ จึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปีต่อไปทางโครงการมุ่งหวังจะขยายผลจากกรุงเทพและเชียงใหม่ ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล หนึ่งในภาคีร่วมแสดงทัศนะว่า การศึกษาดูงานโครงการ Organic Tourism เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับโรงแรมเครือสุโกศล จนเกิดเป็นนโยบาย กรีน มีตติ้ง คอนเซ็ป มีการเสนอทางเลือกให้ลูกค้าด้วย ออร์แกนิกคอฟฟี่เบรก มีการปรับเปลี่ยนเมนูในบุฟเฟ่ต์ของห้องอาหาร และขยายผลไปยังแผนกจัดเลี้ยง และที่สำคัญการใช้วัตถุดิบออร์แกนิกกลับไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสูงขึ้น หากเชฟมีเทคนิคในการประกอบอาหาร ดังนั้น ทางโรงแรมจึงอยากเป็นต้นแบบในการเผยแพร่ประโยชน์เหล่านี้ออกไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร และช่วยเหลือสังคม

เช่นเดียวกับ โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ เชียงใหม่ และโรงแรม รายาเฮอริเทจ เชียงใหม่ ที่ปัจจุบันทางโรงแรมยังมีแนวคิดต่อยอดในการส่งเสริมให้ครอบครัวพนักงานที่ทำเกษตรอยู่แล้ว หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับโรงแรม เพราะจากการสำรวจข้อมูลพนักงานพบว่า ส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกพืชผักเป็นรายได้เสริมอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมจึงมีแค่การให้ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ณภัทร นุตสติ ผู้จัดการทั่วไปของแทมมารีน และรายาเฮอริเทจ เชียงใหม่ กล่าวว่า หากบริหารการใช้วัตถุดิบอินทรีย์ให้ดี จะพบว่าไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเลย

ด้าน ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   กล่าวว่า  สสส. มีพันธกิจสร้างเสริมสุขภาพคนไทย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่การจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้ การจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอันดับแรก ประชาชนต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ซึ่งการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์นั้น นอกจากจะเชื่อมโยงเกษตรกรเข้ากับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นตัวอย่างของการสร้างสังคมสุขภาวะ

 “สำหรับแผนในอนาคตจะมีการพาลูกค้าลงพื้นที่ไปยังฟาร์มเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ เกิดความเชื่อมั่นต่อเกษตรกร ซึ่งความรอบรู้เหล่านี้จะทำให้เกิดความต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารดีต่อสุขภาพตามมา” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

1 ปี ฟู๊ดแล็บ กับการขับเคลื่อน Organic Tourism

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ