Lifestyle

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังพบผลสำรวจเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้กว่า 1600 คน จนได้พบข้อเท็จจริงว่า เด็กในพื้นที่ยังมีหนังสือไม่ถึง 3 เล่มที่บ้าน เกินร้อยละ 50 กลายเป็นหนึ่งที่มาของการจัดทำ “นิทานคุณธรรมจากวรรณกรรมในฝักกริช” สื่อนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย ในรูปแบบวรรณกรรมพหุภาษาชุดแรกของสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายแดนใต้” โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่มี ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลียและคณะร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 “เราคิดว่าเด็กเรามีปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เชิงปริมาณคือที่บ้านก็ยังมีหนังสือน้อย ส่วนเชิงคุณภาพพ่อแม่ก็ยังมีเวลาอ่านหนังสือให้กับลูกน้อย ดังนั้นเราจึงคิดเพิ่มหนังสือ โดยต้องเป็นหนังสือหลากหลาย และเป็นเรื่องราวของคนในพื้นที่เองน่าสนใจ ขณะเดียวกันต้องเป็นสิ่งที่ต้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองในการใช้เวลาใช้หนังสือกับลูก” ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย ให้ข้อมูล

สำหรับวรรณกรรมแต่ละเรื่องได้รวบรวมและเรียบเรียงจากเรื่องเล่าในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งในแต่ละเรื่องอาจมีเรื่องราวหลายต้นฉบับที่ล้วนแต่มีคุณค่า ทางโครงการได้เลือกมาเพียงเรื่องละหนึ่งต้นฉบับ เพื่อพัฒนาเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย ในการเสริมคุณธรรม จริยธรรม

ก่อนจะเป็น “วรรณกรรมในฝักกริช”

“มันเริ่มมาจากเรามองว่า เราไปค้นดูเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแถบชายแดนภาคใต้ แทบทุกเรื่องจะเชื่อมโยงโลกมลายูไว้ด้วย ซึ่งไม่ว่าจะมองเรื่องวัฒนธรรมในแง่มุมใด จะมีเรื่องของ “กริช” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ”

ซึ่งหากมองลึกถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่าง “กริช”  กับวิถีชุมชนแล้ว ในทัศนะของพี่น้องชาวภาคใต้ “กริช” ย่อมไม่ได้หมายถึงการเป็นศาสตราวุธเพียงอย่างเดียว หากแต่ ยังถูกใช้เป็นสื่อประกอบในพิธีกรรม พิธีการ หรือในแง่การแสดงและการละเล่น ไปจนถึงการแฝงอัตลักษณ์อยู่ในศิลปะต่างๆ ผ่านลวดลายที่เกี่ยวพันกับกริชเสมอ

“เมื่อเห็นว่า มี “กริช” เป็นจุดร่วมหลายเหตุการณ์ ทุกฝ่ายในคณะทำงานจึงมาคุยกันว่า งั้นเราควรมองเปรียบเทียบโลกของสามจังหวัดชายแดนใต้หรือพื้นที่มลายูตรงนี้ เป็นเสมือนโลกของกริช”

โดย ผศ.ดร.อธิบายต่อว่า จากส่วนประกอบของกริช ประกอบไปด้วย ฝักกริชและตากริช ซึ่งตากริชหมายถึงใบมีดที่อยู่ภายใน แต่ละเล่มมักถูกสลักเสลาลวดลายสวยงามแสดงเอกลักษณ์ที่มีคุณค่า ดังนั้น การที่ฝักกริชได้ห่อหุ้ม“ตากริช” ไว้ ก็เท่ากับการเก็บสิ่งที่มีคุณค่าไว้ข้างใน เฉกเช่นเดียวกับโลกมลายูที่ได้เก็บสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรมท้องถิ่น วรรณกรรมพื้นบ้าน ตำนานหรือภูมิปัญญาต่างๆ มากมาย หากแต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจเข้าถึง และไม่สามารถดึงคุณค่าเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ

“เราก็เปรียบเทียบให้เห็นว่า วรรณกรรมที่มีคุณค่าของท้องถิ่นเหล่านี้คือคุณค่าที่ถูกเก็บไว้ และรอวันที่เราจะหยิบออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญเราเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา คือสิ่งนั้นมันต้องอยู่ในบริบทของเขาเอง”

พลันที่แต่ละฝ่ายได้เห็นพ้องต่อการตีความดังกล่าว แนวคิดจึงถูกนำมาพัฒนาสู่โครงการจัดทำ“นิทานคุณธรรมจากวรรณกรรมในฝักกริช” ขึ้น ซึ่งคณะทำงานก็ได้พบว่า มีภูมิปัญญามากมายที่แฝงมาผ่านกับวรรณกรรม โดยเฉพาะ ความเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ของสามชายแดนใต้ จะปรากฏชัดในแง่พหุภาษา ที่วัฒนธรรมที่จับต้องได้ง่ายที่สุดและเห็นชัดที่สุด

 “เราดูทั้งจากในพื้นที่ ในอินเตอร์เน็ต โดยมีคณะคุณครูในสามจังหวัดมาช่วยกันค้นหาว่ามีอะไรบ้างที่เราน่าจะนำมาจัดทำ ซึ่งวรรณกรรมอันดับแรกที่เราหยิบมาเป็นเรื่องราวใกล้ตัวเด็ก อาทิ ชื่อหมู่บ้าน หรือเรื่องราวตำนานที่เล่าต่อกันมา”

 

หนึ่งตำนาน ร้อยเวอร์ชัน

หลังจากรวบรวมค้นคว้ามาพสมควร ทางทีมทำงานจึงตกลงใจกันว่าจะผลิตวรรณกรรมในฝักกริชชุดแรกสิบเรื่อง แต่เมื่อถึงเวลาที่จะเลือกหยิบแต่ละเรื่องนำไปเรียบเรียงเนื้อหา กลับพบว่าในแต่ละชุมชนต่างมีเรื่องเล่าเดียวกัน ที่เป็น “คนละเวอร์ชัน”

“ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ หากเราหยิบเวอร์ชันหนึ่งขึ้นมาทำ ก็จะกระทบกับความรู้สึกของเจ้าของเวอร์ชันอื่นๆ ในชุมชนอื่น เขาจะตั้งคำถามว่าทำไมไม่เอาของฉันมาทำล่ะ ซี่งเราเข้าใจนะว่าทุกคนรู้สึกว่า เขาอยากให้เวอร์ชันของเขาเอามาทำเป็นหนังสือ”

ทางออกของงานนี้ จึงต้องมาลงตัวที่การทำ “ประชาพิจารณ์” ในพื้นที่ขึ้น เพื่อคัดเลือกเวอร์ชันที่เหมาะสมที่สุด 

เราต้องการบอกทุกคนว่าเรารับรู้และยอมรับในทุกเวอร์ชันนะว่ามีคุณค่าหมด แต่เราจะขอหยิบเอาเวอร์ชันที่เนื้อหามีความซับซ้อนที่พอดีพอเหมาะกับช่วงวัยและพัฒนาการเด็กมากที่สุด”

เมื่อคัดได้เรื่องที่ทุกคนยินยอมพร้อมใจ กระบวนการต่อไปคือการคัดคุณครูศิลปะในพื้นที่มา 10 คน ซึ่งก่อนจะลงมือวาดหนังสือภาพแต่ละเล่ม ทุกคนยังต้องผ่านการเวิร์คช็อป เพื่อทำความเข้าใจว่าระหว่างการวาดรูปให้สวย กับการวาดรูปให้สวยและเหมาะสมสำหรับหนังสือนิทานเด็กนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร กระบวนการนี้จะช่วยให้นักวาดทุกคนค่อยๆ ลดตัวตนของตนเองลงไปในที่สุด

สำหรับเนื้อหาทั้งสิบเรื่องของชุดวรรณกรรมในฝักกริชจะต้องมีลักษณะร่วมกันคือ ทุกเรื่องจะต้องมีเนื้อหาแฝงไว้ด้วยคุณธรรมและจริยธรรม เนื้อหาต้องเหมาะกับวัยเด็ก อาทิ เรื่องความกตัญญู ความสามัคคี การยอมรับในตัวเอง การชื่นชมในอัตลักษณ์ของตัวเอง

“เราเชื่อว่า วรรณกรรมในฝักกริชยังมีอีกเยอะที่จะหยิบออกมา เราต้องการให้ชั้นหนังสือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ควรมีหนังสือท้องถิ่นอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็น”

ส่วนการนำไปใช้ ทีมทำงานตั้งใจที่จะไม่ให้หนังสือวางอยู่แค่ในโรงเรียน หากแต่ยังแจกจ่ายให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดแดนใต้ได้ทั่วถึง ซึ่งถูกขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับการเวิร์คช็อปกับพ่อแม่ในพื้นที่ ให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมควรเปลี่ยนเวลาที่อยู่กับมือถือมาอยู่กับหนังสือและลูก

“วรรณกรรมชุดนี้เป็นวรรณกรรมที่เราตั้งใจทำให้เป็นสองภาษา คือภาษาไทยและภาษามลายูกลางหรือยาวี สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะพ่อแม่บางส่วนยังไม่ถนัดกับการใช้ภาษาไทย แต่เราต้องการให้ผู้ปกครองใช้หนังสือกับลูก จึงเป็นที่มาของวรรณกรรมสองภาษา

ขณะเดียวเขาต้องเริ่มภาคภูมิใจในภาษาท้องถิ่นตัวเอง วัฒนธรรมของเขาเองก่อน ถ้าไม่มีตรงนี้มันก็ยากในการจะให้เขาไปภูมิใจในเพื่อนหรือคนอื่น แต่จากภาษาแม่ ภาษาท้องถิ่น สุดท้ายมันต้องไปสู่ภาษาไทยให้ได้ นั่นคือเป้าหมายของเรา”

ท้ายสุด ผศ.ดร.เกสรีเอ่ยว่า วรรณกรรมชุดนี้ คืออีกก้าวของการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่จะนำไปสู่ความรักความอบอุ่น ความมั่นคงทางจิตใจ และทำให้ “เด็ก” เชื่อมั่นในการมีสถาบันครอบครัว ที่สำคัญคือเด็กๆ สามชายแดนใต้ยังเพิ่มทักษะในการอ่าน

“การที่เขาคุยเรื่องใกล้ตัวทำให้เขาคุยได้เยอะ ยิ่งเขาคุยได้เยอะได้มากเท่าไหร่ สื่อสารมากเท่าไหร่ ไม่ว่าเขาจะใช้ภาษาอะไรก็แล้วแต่ แต่นั่นคือทักษะกระบวนการคิดเขาเกิด ซึ่งแน่นอนสุดท้ายมันส่งผลต่อพัฒนาการ” ผศ.ดร.เกสรีเอ่ยทิ้งท้าย

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

“วรรณกรรมในฝักกริช” เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ด้วยวรรณกรรมท้องถิ่น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ