Lifestyle

เปลี่ยนยุทธศาสตร์ สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน ผนึก 4 กระทรวง สสส. และภาคี ร่วมแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

...

แม้วันนี้ ประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ทั้งมีการกำหนดเป้าหมายลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เหลือต่ำกว่า 25 ต่อพันภายในปี 2569

หากในเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่  1. ส่งเสริมการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต 2. ส่งเสริมบทบาทของครอบครัวและชุมชนในการป้องกันปัญหา 3. จัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์รวมถึงการคุมกำเนิดที่วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย 4. การดูแลช่วยเหลือและจัดสวัสดิการสังคมสำหรับวัยรุ่นที่ประสบปัญหา และ 5. การจัดการความรู้และระบบข้อมูล อาจยังดูไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปไกลจากก้าวหรือวันแรก ณ วันที่ประกาศยุทธศาตร์และกฏหมายมากเท่าไหร่นัก

ดังนั้นเพื่อให้มีความเป็นรูปธรรมและเกิดการนำมาสู่กระบวนการ “ลงมือทำ” อย่างแท้จริง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ยูนิเซฟประเทศไทย มูลนิธิแพธทูเฮลท์(P2H) มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง รวมถึงหน่วยงานและภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 19 องค์กร ได้ร่วมผนึกพลังของ 5 กระทรวงแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย เพื่อเดินหน้าลดปัญหาวัยรุ่นท้องในวัยเรียน ในการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์ สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 เป็นประธานในการจัดงานครั้งนี้เปิดเผยว่า ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ จะได้นำไปประมวล สังเคราะห์ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนานโยบายและมาตรการในภาพรวมของประเทศให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ในส่วนบทบาทของ สสส. นั้น จะยังคงให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานหลัก รวมถึงองค์กรและภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อส่งเสริมการบูรณาการการทำงานในทุกระดับ  รวมถึงสนับสนุนการจัดการความรู้  เพื่อนำไปสังเคราะห์ข้อเสนอแนะในการยกระดับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายลดอัตราตั้งครรภ์ของวัยรุ่นลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2569 และสามารถป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน

 “การประชุมครั้งนี้ นับได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,600 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติ และตัวแทนเยาวชน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทนำข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการประชุมไปปรับใช้ในงานที่รับผิดชอบ” นพ.วีระพันธ์ กล่าว

ขณะที่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เอ่ยถึงข้อมูลที่บ่งบอกสถานการณ์ท้องในวัยรุ่นของสังคมไทยปัจจุบันว่า เยาวชนไทยมีอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตรา 93 รายต่อประชากร 1 แสนคน  เพิ่มเป็น 161 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแม้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงวันละ 225 ราย

 “สสส. ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้สนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาระบบและเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาทุกระดับ รวมถึงกำลังพัฒนารูปแบบและเครื่องมือในการเสริมทักษะพ่อแม่ในสถานประกอบการ เพื่อให้มีทักษะการสื่อสารเชิงบวก และพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลานวัยรุ่นได้ นอกจากนี้ ยังร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหลายภาคส่วน ดำเนินงานสื่อสารรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนฐานคิดในสังคมไทยให้มีมุมมองเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างยั่งยืน” ดร.สุปรีดา กล่าว

โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือการมีแกนนำเยาวชนจากเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จำนวน 300 คนจากทั่วประเทศ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงถุงยางอนามัย และยาคุมฉุกเฉิน เพื่อให้สอดคล้องกับวาระการประชุมครั้งนี้

หลังปิดฉากการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เอ่ยสรุปว่าในการจัดงานครั้งนี้คือมองไปในแต่ละยุทธศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเดินต่อคือการลงมือปฏิบัติตามยุทธศาสตร์

“แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือตอนนี้ทุกภาคส่วนอาจยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มทำอย่างไร และไปทิศทางไหน ท้องถิ่นบางแห่งก็ไม่เข้าใจเพราะไม่ถนัดที่จะนำไปปรับให้เหมาะสม ดังนั้น การประชุมครั้งนี้เราจึงปรับในแต่ละยุทธศาสตร์ว่าแต่ละด้านควรทำอย่างไรบ้าง ในแต่ละด้าน ทั้ง 5 ด้าน ตั้งแต่เรื่องเพศศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องรับผิดชอบ ด้านที่สองเป็นบทบาทกระทรวงพัฒนาความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และท้องถิ่นต้องดูแล ด้านที่ 3 เป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ด้านที่ 4 เป็น พม. ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาว่าท้องแล้วต้องทำยังไง ส่วนด้านที่ 5 คือการจัดทำข้อมูลเพื่อเก็บวิเคราะห์และทำวิชาการ ซึ่งข้อสรุปในวันนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติ โดยพอเห็นข้อมูลทั้งหมดทำให้เราเห็นชัด และสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ในงานได้หมด” นพ.วิวัฒน์กล่าวต่อว่า ในเวทีเดียวกันยังเป็นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นโดยตรง ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลือนยุทธศาสตร์เหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง

“เราอยากแลกเปลี่ยน และอยากรู้ว่าเขาต้องการอะไร เพราะเราคิดแทนเขาไม่ได้ เขาเองก็อยากให้ผู้ใหญ่รับรู้จากเขาบ้าง ขณะเดียวเขาก็จะได้ไปสื่อสารให้กลุ่มเยาวชนต่อ เช่นเรื่องเด็กท้องต้องได้เรียน หรือเด็กอาจต้องการยุติการตั้งครรภ์ แต่ญาติบอกว่าทำไม่ได้ แต่เด็กเขามองว่าถ้าคลอดออกมาจะทำให้เขาไม่มีโอกาสได้เรียน หรือการเลี้ยงดูอาจไม่มีคุณภาพ ซึ่งอาจเป็นภาระหรือปัญหาสังคมในอนาคต รัฐจึงออกมาตรา 5 ที่ว่าเด็กต้องมีสิทธิ์ของเขา หากสามารถอธิบายได้ พรบ.ให้อำนาจแปลว่าสังคมดีขึ้น ซึ่งจากการทำงานเราเห็นชัดเลยว่าในระยะ 5 ปี สถิติเรื่องท้องในวัยรุ่นลดลงจาก 53 ต่อ 1,000 เหลือ 39 ต่อ 1,000 คน แต่ก็ยังสูงอยู่เพราะประเทศพัฒนาแล้วสถิติแค่ 15 ต่อ 1,000 คน” นพ.วิวัฒน์เอ่ย

 หลังจากทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามสาระสำคัญใน พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ผลคือ แนวโน้มสถานการณ์การตั้งครรภ์วัยรุ่นค่อยๆลดลง โดยดูได้จากอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นที่มีอายุ 15-19 ปี จากที่เคยมีอัตราสูงสุดถึง 53.4 ต่อพัน ในปี 2554 และ 2555 ล่าสุดตัวเลขลดลงเหลือ 39 ต่อพัน ในปี 2560 และตัวเลขนี้เชื่อถือได้ เพราะนับเฉพาะการคลอด ซึ่งปัจจุบันการคลอดในประเทศไทยเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเกือบ 100% แล้ว

แม้จะยังห่างไกลประเทศอื่นที่มีอัตราส่วนเยาวชนท้องลดน้อยลงมาก แต่คณะทำงานและสสส. ยืนยันหนุนเสริมการบูรณาการหน่วยงานทุกระดับทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น และการจัดงานครั้งนี้ยังเป็น “จุดยืน” สำคัญของแนวทางในการดำเนินการต่อปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ