Lifestyle

7 ปี กับการเดินทางของ “เรือนจำสุขภาวะ” สร้างสุข เติมพลังบวกผู้ต้องขังในโลกกำแพงสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เรือนจำสุขภาวะ เป็นการฟื้นฟูผู้ต้องขังแบบบูรณาการ สร้างพื้นฐานการดำเนินชีวิตในเรือนจำที่ไม่ให้ต่างจากสังคมทั่วไปมากที่สุด ทั้งในทางกายภาพ และวิถีการดำรงชีวิต จิตสำนึกที่ดี โดยเมื่อการลงโทษสิ้นสุดลง ผู้พ้นโทษจะสามารถเผชิญต่อการออกมาอยู่ในสังคมภายนอกได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการคืนกลับสู่สังคมอีก”

ประโยคบอกเล่าตอนหนึ่งของ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) เปิดใจเล่าถึงแรงบันดาลใจสำคัญของการเดินทางเรือนจำสุขภาวะ (Healthy Prison Journey)  ในการจัดการประชุมวิชาการเชิงนโยบายเรื่อง การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ (Healthy Prison Journey) ที่ สสส. ร่วมกับ สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

เอ่ยถึง “เรือนจำ” หลายคนคงนึกภาพสถานที่ล้อมรอบไปด้วยกำแพงสูง ไม่ต่างอะไรกับชุมชนปิดตายจากสังคม

หากแต่สิ่งที่มากกว่าการเป็นสถานที่กักขังของผู้กระทำผิดภายใต้กำแพงสูงชันนั้น ยังปิดกั้นความรู้และความเข้าใจจากคนภายนอกต่อการมีตัวตนของคนที่ต้องโทษ ที่ต้องผจญปัญหาในการดำรงชีวิตไปต่างจากคนทั่วไป

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังจำนวนกว่า 3 แสนคน ขณะที่เรือนจำมีอยู่ 143 แห่ง และรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 1 แสนกว่าคนเท่านั้น ทว่าปัญหา “คนล้นคุก” นี้ยังนำมาสู่ปัญหาด้านอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะด้านสุขภาวะ ดังนั้นการขยายผล “เรือนจำสุขภาวะ” เสริมพลังบวกให้ผู้ต้องขัง เน้นพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน ระบบสุขภาพบูรณาการ ยกระดับคุณภาพชีวิต กลับมายืนในสังคม จึงเป็นเจตนารมย์ที่ทุกฝ่ายร้อมใจที่จะผลักดันงานนี้ให้เกิดขึ้น

พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมปาฐกถานำเรื่อง “นโยบายเรือนจำสมัยใหม่เปิดประตูสู่สังคม” ว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินงานตามพระราชดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงดำริให้จัดตั้งโครงการกำลังใจ โดยมีเป้าหมาย การให้กำลังใจ ให้โอกาส ช่วยส่งเสริมและพัฒนา กลุ่มผู้ต้องขังสตรี กลุ่มเด็กติดผู้ต้องขัง กลุ่มเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดและกลุ่มผู้ขาดโอกาสอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม และยังมีเป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ให้สังคมไทย เป็นสังคมที่พร้อมจะเป็นกำลังใจ และให้โอกาสแก่บุคคลที่แม้จะก้าวพลาดแต่ก็ได้เรียนรู้ที่จะเริ่มชีวิตใหม่เป็นคนดีของสังคม

“สำหรับโครงการเรือนจำสุขภาวะ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เข้ามาเสริมร่วมกับโครงการกำลังใจในพระราชดำริฯ โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ร่วมกับ สสส. ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาวะของคนไทย หนุนเสริมให้เกิดการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ นวัตกรรม การสื่อสารกับสังคม และภาครัฐถึงแนวทางการดูแลสุขภาวะของผู้ต้องขังหญิงอย่างเท่าเทียมกับคนภายนอก และในปีหน้าทางกรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดให้มีการยกเลิกจำหน่ายบุหรี่ในร้านค้าเรือนจำเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ต้องขังอีกด้วย”

ขณะที่ ฝั่งผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวเสริมว่า ภารกิจหลักของ สสส. คือ การสร้างเสริมสุขภาพ และทำให้ทุกคนในแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดี ไม่เว้นแต่ผู้ต้องขัง ที่แม้ว่าจะเป็นผู้เคยกระทำความผิดกฎของบ้านเมือง แต่เขาเหล่านี้ก็ต้องการโอกาสและการดูแลที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป

“ต้องยอมรับว่าการทำงานด้านสุขภาวะของผู้ต้องขังไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการจัดงานในวันนี้เป็นการนำเสนอผลงานตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ของโครงการ “เรือนจำสุขภาวะ” ที่ได้จากการปฏิบัติ การดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง โดยเรือนจำสุขภาวะ จะแสดงให้เห็นแนวทางสำคัญในการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่ผู้ต้องขังสามารถทำกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ทางบวก เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ให้ผู้ต้องขังมีสุขภาวะที่ดีทางกาย ใจ สังคม และปัญญา ภายใต้องค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ 1. เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง 2. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ 3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ 4. ผู้ต้องขังมีพลังชีวิตคิดบวกและมีกำลังใจ 5. ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร 6. สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ ลูก หรือเป็นสมาชิกในครอบครัว และ 7. มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม” ภรณีกล่าว

มาที่ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า จากการได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ความรู้สึกของผู้ต้องขังต่างให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่ต้องห่างจากครอบครัว โดยเฉพาะแม่ที่ต้องห่างจากลูก จะต้องประสบกับภาวะกดดัน และมีความเครียดสูง จากการสำรวจดังกล่าวจึงนำมาสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาจนเกิดเป็นกิจกรรมโยคะในเรือนจำ โดยเริ่มครั้งแรกที่เรือนจำกลางจังหวัดราชบุรี มีผู้ต้องขังสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน เนื่องจากจำนวนผู้ต้องขังมีจำนวนมากจึงได้มีการคัดเลือกผู้ที่มีทักษะมาฝึกอบรมให้กลายเป็นผู้สอนเพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นในเรือนจำ เพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืน โดยการเล่นโยคะเป็นการฝึกความอิสระในร่างกาย คลายความกดดัน และความเครียด อีกทั้งยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง หลายคนยอมรับกับเราว่า รู้สึกสนุกและมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้ร่วมกิจกรรม นอกจากนี้โยคะยังเป็นจุดหนึ่งของการสร้างอาชีพได้เมื่อพ้นโทษ ซึ่งปัจจุบันมีผู้พ้นโทษ ที่ออกมาแล้วยึดอาชีพครูสอนโยคะเป็นหลัก โดยใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

“โยคะในเรือนจำ เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการเรือนจำสุขภาวะ ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง ซึ่งยังมีงานวิจัยทั้งนโยบายและเชิงปฏิบัติหลายงานที่นำมาใช้พัฒนาสุขภาวะในเรือนจำได้ ทั้งการฝึกเรื่องการนวดแผนไทย ทำเทียนหอม ทำตุ๊กตาไหมพรม หรือวาดภาพบนผ้าบาติก และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มันไม่ใช่แค่เป็นกิจกรรมที่ดีต่อตัวผู้ต้องขังเองเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่จะได้ประโยชน์ก็คือสังคมในวงกว้าง หากคนในสังคมลองปรับความคิดของตนเอง และมองด้วยความเข้าใจ รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ