Lifestyle

อยากกลับบ้านปลอดภัย ฉลองปีใหม่ 2562 นี้ สสส.ชวนคนไทยต้อง Low Speed!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้จะรับรู้กันมากขึ้นแค่ไหนว่า “ไทย” เป็นประเทศที่มีสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนครองแชมป์โลก

แต่ดูเหมือนความรับรู้ที่ว่า ยังคงไม่สามารถสร้าง “ความตระหนัก” ให้กับคนไทยได้มากพอ เพราะปัจจุบันสถิติอุบัติเหตุประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในความเป็นห่วง เพราะตัวเลขที่สังคมคาดหวังว่ามีอัตราผู้เสียชีวิตหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนจะลดลงก็ดูอาการทรงๆ ทรุดๆ ไม่ได้กระเตื้องให้น่าชื่นใจเท่าไหร่นัก

โดยเฉพาะโปรโมชันอุบัติเหตุช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ติดสถิติอุบัติเหตุสูงสุดในแต่ละรอบปี ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะ Low Speed เช่นกัน

หากย้อนถึงข้อมูลน่าสนใจศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เฉพาะช่วง 7 วัน 3 ปีย้อนหลัง นั่นคือระหว่างปี 2559-2561 จะพบว่าไทยมีผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวถึง 1,281 คน ไม่นับการบาดเจ็บ 11,578 คน เกิดเหตุ 11,119 ครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวนี้กำลังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญที่มาจากการขับเร็วและดื่มแอลกอฮอล์

ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2562 นี้ จึงเป็นธรรมเนียมเช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ที่ร่วมจัดแถลงข่าวการรณรงค์ให้คนไทยใช้ชีวิตบนท้องถนนกับการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวด้วยความระมัดระวัง

“Low Speed มีสิทธิ์รอด  กลับบ้านปลอดภัย  ปีใหม่ 2562” จึงถือเป็นอีกหลักไมล์เพื่อส่งมอบความห่วงใยและร่วมผลักดันนโยบายความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ลดความเร็ว ลดความเสี่ยง ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร แก่ประชาชนทั่วประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่

รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.)   กล่าวว่า ในปีนี้ สสส.และภาคีเครือข่าย ได้รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แคมเปญ “กลับบ้านปลอดภัย” ได้ผลิตสปอตโฆษณาชุด “สูญเสียกันทุกฝ่าย” รณรงค์ผ่านสื่อและผลิตสื่อสนับสนุนรณรงค์ลดอุบัติเหตุให้กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจและความมุ่งหมายที่อยากจะให้ทุกคนที่เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องมีใครบาดเจ็บและสูญเสียอีก  

“ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทุกชีวิตมีคุณค่า คนที่ต้องจากไปและพิการ ส่งผลกระทบต่อหลายครอบครัวอย่างมหาศาล ถ้าหากขับรถเร็ว 60 กม./ชม. แล้วเกิดอุบัติเหตุ เทียบเท่ากับการตกตึก 5 ชั้น และถ้าหากขับรถ 120 กม./ชม. เทียบเท่ากับตกตึก 19 ชั้น จะเห็นว่าถ้าท่านขับรถเร็วเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว “ท่านอาจจะไม่มีสิทธิ์รอดชีวิต”  ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 นี้  สสส. ขอส่งมอบความปรารถนาดีไปยังทุกท่าน เพราะ ไม่มีของขวัญชิ้นใดที่จะล้ำค่าไปกว่าการที่เราทุกคนได้ “กลับบ้านปลอดภัย” อยู่พร้อมกันทั้งครอบครัว  ฉลองปีใหม่อย่างมีความสุข” รุ่งอรุณกล่าว

รุ่งอรุณให้ข้อมูลต่อว่า จากสถิติที่มีการรวบรวมมาต่อเนื่อง ยังพบว่า “ความเร็ว” นั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ การดื่มแอลกอฮอล์ การออกแบบถนน และความพร้อมของยานยนต์อย่างมาก และก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

เสริมด้วยความเห็นของ พรหมมินทร์  กัณธิยะ  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)  ที่ให้ข้อมูลยิ่งตอกย้ำว่า การขับรถด้วยความเร็วมีความสอดคล้องกับเรื่องของจุดเกิดเหตุอย่างมีนัยสำคัญ

“จุดเกิดเหตุเทศกาลปีใหม่ 2561 พบทางตรงร้อยละ 64.91 ทางโค้งร้อยละ 21.30  และทางแยกร้อยละ 11.03 ซึ่งสาเหตุคือการขับเร็วเกินกำหนดสูงถึงร้อยละ 43.36   สอดคล้องกับกรมทางหลวงที่ระบุเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางโค้งจำนวน 2,004 ครั้ง  ทางแยก  1,083 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง  2,285 ราย บาดเจ็บ 12,995 ราย  ดังนั้น ต้องไม่ลืมว่ายิ่งขับเร็ว ยิ่งมองไม่เห็นด้านข้าง ตอบสนองช้าลงเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความรุนแรง  จึงควรใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด

ซึ่งการขับเร็วที่ 50 กม./ชม. ต้องใช้ระยะทางหยุดรถ 13  เมตร  หากใช้ความเร็วที่ 80 กม./ชม.ต้องใช้ระยะเบรกถึง 36 เมตร และถ้าชนคนเดินถนนด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 85”

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สคอ.ยอมรับว่า“จุดเสี่ยง” และการออกแบบถนนถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

“จากข้อมูลการวิเคราะห์จุดเสี่ยงคนทำงาน RTI (Road Traffic Injury)ทั่วประเทศพบว่าจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งระดับพื้นที่ คือทางแยก-ทางร่วม เพราะขาดป้ายเตือน ป้าย“ลดความเร็ว”คนต่างถิ่นขับรถไม่ชำนาญทางทางโค้ง เป็นจุดที่ขาดความระมัดระวังมักแหกโค้งเสียหลัก  จุดกลับรถ  เป็นจุดอันตรายที่สุด  แนะนำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยการขับในอัตราความเร็วต่ำ หรือ Low Speed  จึงมีสิทธิ์รอดสูง”

ด้าน ดร.ปัญณ์  จันทร์พาณิชย์  สำนักโรคไม่ติดต่อ  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับอำเภอ  เป็นกลไกระดับพื้นที่ที่มีความเหมาะสม สามารถดำเนินงานได้อย่าง มีประสิทธิภาพและประเมินผลได้ดีที่สุด โดยปี 2560 กรมควบคุมโรค ได้จัดทำคู่มือและแนวทางการประเมินการดำเนิน District Road Traffic Injury (D-RTI) หรือการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนในระดับอำเภอโดยมีทีม RTI ที่เป็นภาคีเครือข่ายสหวิชาชีพระดับอำเภอ ร่วมวิเคราะห์จุดเสี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ใช้ข้อมูลความรู้สาธารณสุขและหน่วยงานภาคี นำเสนอคืนข้อมูลในเวที ศปถ.อำเภอ , ศปถ.อปท. เพื่อแก้ไขปัญหา

“การแก้ปัญหาจุดเสี่ยงในชุมชนคือ ทำจุดนั้นให้เด่นชัด ให้ผู้ขับขี่เห็น เตือนบอกล่วงหน้า ปักธงแดง ทาสีสะท้อนแสง ตั้งกรวยลดความเร็วก่อนถึงจุดเสี่ยง เป็นต้น  ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาพบมีอำเภอผ่านเกณฑ์การประเมินรับรองคุณภาพในระดับดีเยี่ยม 54 อำเภอ และ 32 อำเภอ สามารถลดจำนวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตลงได้อย่างเป็นรูปธรรม และปี 2561 มี 136 อำเภอ ผ่านเกณฑ์การประเมินรับรองคุณภาพ  โดยใช้ข้อมูลบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า 75 อำเภอ บาดเจ็บลดลง และมี 52 อำเภอ ตายลดลง”

กรณีตัวอย่างชุมชนที่เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงและร่วมรณรงค์การลดอุบัติเหตุในชุมชน ได้แก่ อบต.วังน้ำเขียว อ.กำแพงแสน  จ.นครปฐม โดยมี ตวงรัตน์  พวงศรีทอง  รองปลัด อบต.วังน้ำเขียว  ร่วมถ่ายทอดให้ฟังว่า อบต.และเครือข่ายจึงได้ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขโดยจัดตั้งทีมระดับตำบลป้องกันอุบัติเหตุทางถนน  (RTI Team ตำบล) ใช้ชื่อว่า “เครือข่ายขับเคลื่อนถนนปลอดภัยตำบลวังน้ำเขียว” ร่วมกับผู้นำชุมชน เครือข่ายและประชาชนในพื้นที่วิเคราะห์จุดเสี่ยง ทำแผนที่ สำรวจแก้ไข  ติดตั้งป้ายจราจร ป้ายเตือน  กระจกโค้งนูนตามจุดเสี่ยงทุกพื้นที่  นอกจากนี้ยังได้นำมาตรการด่านชุมชน มาตรการองค์กร และใช้สื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้  คุมเข้มเรื่องการจัดการความเร็วในชุมชน หน้าตลาดและหน้าโรงเรียน โดยติดตั้งป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม.  ตีเส้นชะลอความเร็ว ซึ่งได้ผลสามารถที่จะชะลอความเร็วของรถที่ผ่านเส้นทางนั้นลงได้ ทำให้อุบัติเหตุจากความเร็วของตำบลลดลงจากเดิมอย่างมาก    

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ