Lifestyle

เปิดโผครอบครัวไทยยุค 4.0 อยู่ดีมีสุขจริงหรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาจไม่ใช่เพียงครอบครัวไทย ที่ต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลายในภาวะครอบครัวเปราะบางและเข้าสู่ยุคเด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัย แต่ปัญหาดังกล่าวกำลังเป็นวาระสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเองอาจต้องเผชิญภาวะวิกฤตในปัญหาดังกล่าวมากขึ้น

โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ดัชนีครอบครัวอบอุ่นของสังคมไทยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะครอบครัวคนเมืองนั้น กลายเป็นกลุ่มที่มีความสุขต่ำที่สุดในประเทศ!

ศ.ดร. รุจา ภู่ไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม “ชุมชนและรัฐร่วมสร้างครอบครัวสุขภาวะได้อย่างไร” อีกเวทีเสวนาดีๆ จากงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ว่า จากการดำเนินการโครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว เรื่อง ครอบครัวไทยยุค 4.0 อยู่ดีมีสุขจริงหรือ? โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพ.ย. 2560 - มี.ค. 2561 ด้วยการสำรวจครอบครัวไทย 6,000 ครอบครัว ใน 4 ภูมิภาค ผลการศึกษาพบว่า ครอบครัวอยู่ดีมีสุขโดยรวม 7.72 คะแนน โดยภาคใต้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขสูงสุด 7.89 คะแนน รองลงมา เป็นภาคเหนือ และภาคกลาง 7.73 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.71 คะแนน และต่ำที่สุด คือ กทม. 7.55 คะแนน

เรื่องนี้ถูกเสริมข้อมูลโดยณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หากดูจากสถิติที่กรมสุขภาพจิตแถลงเดือนที่แล้วให้ว่าปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นพุ่งขึ้นมาก หรือแค่ลองติดตามข่าวในสื่อจะพบข่าวเกี่ยวกับวัยรุ่นไทยฆ่าตัวตายมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันสภาพสังคมไทยมีความเปราะบางมากขึ้น ชีวิตที่แข่งขันและปัจจัยหลายอย่างยังดึงเด็กเยาวชนออกจากบ้าน เช่นเพราะโรงเรียนสถานศึกษาดีๆ อยู่ไกลบ้าน หรือเพราะระบบเศรษฐกิจที่ดึงพ่อแม่ออกจากบ้านไปทำงาน

“ดังนั้นเราไม่โทษเด็กที่จะมีปัญหาติดเกม หรือมีพฤติกรรมไม่ดีต่างๆ นานา เพราะเราไมได้เตรียมสภาพสังคมที่ดีพอให้สำหรับเขาในการเติบโต เหมือนการที่เราปลูกต้นไม้ แต่เราไม่มีดินที่ดี ไม่ค่อยใส่ใจรดน้ำเขา ดังนั้นจะเติบโตงอกงามให้ดอกผลที่ดีคงเป็นเรื่องยาก”

ณัฐยากล่าวต่อว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสังคมสูงวัย การเกิดน้อยจะเป็นอุบัติการณ์ที่ดำเนินไปอย่างเด่นชัดมาก

“ปีนี้เป็นปีแรกที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตรการเกิดในประเทศไทย  บทเรียนจากหลายประเทศแทบไม่มีวิธีที่ทำให้คนอยากมีลูกเพิ่มขึ้นได้ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะฉะนั้นกระแสในระดับนานาชาติ เช่น สหประชาชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศจะเริ่มมีการพูดถึงการลงทุนในเด็กและเยาวชนอย่างมาก Invest in Young People คือการลงทุนในการสร้างทุนมนุษย์ เพราะยิ่งมีเด็กเกิดน้อย ยิ่งแปลว่าเราต้องเพิ่มสมรรถนะให้เด็กหรือคนแต่ละคนมากกว่าเดิมสิบเท่า”

ซึ่งตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนการขับเคลื่อนด้านครอบครัวอบอุ่นผ่านโครงการต่างๆ ร่วมกับภาคีต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ตัวชี้วัดครอบครัวอบอุ่นใน 3 องค์ประกอบ คือ สัมพันธภาพของคนในครอบครัว บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว และการพึ่งตนเอง โดย สสส.จะขับเคลื่อนในสามโมเดล ส่วนที่หนึ่งคือชุมชนต้องมีส่วนร่วม  

“เรามองว่าคณะทำงานในระดับชุมชนเป็นตัวจักรที่สำคัญมาก ดังนั้น การที่ พม. และกระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกันจัดทำศูนย์พัฒนาครอบครัวเราคิดว่าเป็นกลไกที่วางไว้ดีแล้ว แต่ สสส.จะไปช่วยให้ทำงานเข้มแข็งมากขึ้นและตอบโจทยชุมชนได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชิงวิชาการ และการถ่ายทอดนวัตกรรมในการทำงาน เพราะช่วงที่ผ่านมา สสส.กับภาคีเราเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละบริบทของแต่ละชุมชน ซึ่งมีการถอดบทเรียนวิธีการและผลลัพธ์ออกมา”ณัฐยากล่าว

ส่วนโมเดลที่สอง เนื่องจากคนในวัยแรงงาน มีใช้เวลาส่วนใหญ่ในที่ทำงานค่อนข้างมาก สสส. จึงมองว่าสถานที่ทำงานเป็น Change Agent สำคัญ หากสถานที่ทำงานมีนโยบาย หรือออกแบบที่คำนึงถึงการใช้ชีวิตที่สมดุลกับพนักงานและครอบครัว ภาคส่วนนี้จะมีความสำคัญมากในการทำให้เกิดสุขภาวะในครอบครัว และสาม คือการขับเคลื่อนภาคนโยบายหรือรัฐ เพื่อขยายผลพื้นที่ต้นแบบให้กว้างขึ้น โดยการส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นในชุมชน จะดำเนินการนำร่องใน 11 จังหวัดและปี 2562 จะยกระดับเป็นจังหวัดส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง พะเยา เลย  กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และตรัง

 “การทำงานของเราทำให้พบว่า ท้องถิ่นมีบทบาทมาก เพราะเขาดูแลใกล้ชิดอยู่ติดชีวิตประชาชน  ซึ่งปัจจุบันยังมีกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัว ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงพัฒนาความมั่นคงมนุษย์ที่ดูแล แต่ก็ต้องมีท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งการขับเคลื่อนตรงนี้มีความสำคัญสูง ถ้าออกแบบทำงานได้ดีโครงสร้างแบบนี้แหละที่จะทำให้เอื้อมเข้าไปถึงมือประชาชนได้จริงๆ

 “ยอมรับว่าในการทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ค่อนข้างยากเหมือนกัน เพราะ สสส.ไม่มีอำนาจหรือบทบาทในการไปสั่งบังคับใครให้ทำ เราทำได้คือการชักชวนเขาให้เขาเห็นความสำคัญและสนับสนุน โดยเฉพาะตัวคนในพื้นที่หรือชุมชนเอง

ด้านแพทย์หญิงตรีธันว์ ศรีวิเชียร แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยากล่าวว่า  บุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือตัวประชาชนเองที่จะต้องลุกขึ้นมาให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเอง

“จากประสบการณ์เห็นเลยว่าถ้าเราเป็นฝ่ายให้อย่างเดียว เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ดีทีสุดสำหรับคนไข้คนหนึ่ง เราไม่เคยได้ผลเลย แต่เมื่อไหร่ที่ครอบครัว หรือประชาชนเกิดความตระหนักว่า “เขาคือเจ้าของสุขภาพ” และชุมชนเองตระหนักว่าเขาเป็นเจ้าของสุขภาพวะในชุมชนเหมือนกัน เมื่อนั้นความยั่งยืนจะเกิดขึ้น”

พญ.ตรีธันว์กล่าวต่อว่า บุคลากรไม่ว่าจะในภาคสาธารณสุข การศึกษา หรือภาคต่างๆ ควรทำหน้าที่แค่คนที่เดินไปข้างๆ ประชาชนเท่านั้น คนที่เป็นเจ้าของสุขภาวะคือประชาชน

“เพราะทันทีที่เขารู้สึกอยากเป็นเจ้าของเขาจะรู้สึกว่าอยากได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ถ้าความคิดนี้เริ่มขึ้นก็จะเกิดการลุกขึ้นมาปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตเขาอย่างไรบ้าง แต่เขาอาจความพร้อมด้านต่างๆ เช่นความรู้ ทรัพยากร เหล่านี้คือบทบาทที่หนวยงานต่างๆ จะเข้ามาเป็นโค้ชให้กับเขา” แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พระนครศรีอยุธยากล่าว

สำหรับโครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว เรื่อง ครอบครัวไทยยุค 4.0 อยู่ดีมีสุขจริงหรือ? เป็นการสำรวจครอบครัวไทย 6,000 ครอบครัว ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ หนองคาย อุดรธานี ยโสธร สุรินทร์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชลบุรี ยะลา สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และกทม. โดยวัดคะแนนครอบครัวอยู่ดีมีสุขด้วยองค์ประกอบ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1 ด้านความร่วมใจและปลอดภัยในชุมชน 2.ด้านสัมพันธภาพ 3.ด้านบทบาทหน้าที่ 4. ด้านเศรษฐกิจ 5. ด้านการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง 6.ด้านความมั่นคง และพึ่งพา 7. ด้านการศึกษา 8. ด้านการดูแลสุขภาพ และ 9 ด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ ซึ่งมีคะแนนเต็ม 8 คะแนน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ