Lifestyle

“มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค” โอกาสเด็กไทย กับการเข้าถึงโลกการอ่าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้กำลังเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เมื่อเด็กไทย “อ่านไม่คล่อง หรืออ่านไม่ออก” ไม่เพียงส่งผลแต่เฉพาะพัฒนาการด้านภาษา หากยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม สติปัญญา เป็นต้น

ปัจจุบันสถานการณ์พัฒนาการของเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) กำลังเข้าสู่วิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ  ผลสำรวจโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่า พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทยมีความล่าช้าโดยรวม ถึงร้อยละ 30 และมีพัฒนาการด้านภาษาที่ล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2557 มีสถิติเฉลี่ยถึงร้อยละ 38.2

เมื่อปัญหาการอ่านที่ “พร่อง” ของเด็กและเยาวชนไทย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อย่างที่คิด ดังนั้น เพื่อส่งเสริมด้านภาษาในเด็กปฐมวัย ให้มีศักยภาพในการเรียนรู้และมีทักษะชีวิตก้าวทันการเปลี่ยนแปลง อีกทางออกของการปลดล็อกวิกฤตพัฒนาการด้านภาษาของเด็กปฐมวัยไทย จึงนำมาสู่การพยายามผลักดัน “สังคมการอ่าน” ให้แทรกซึมทั่วทุกพื้นที่ในสังคมไทย ในทั่วทุกภูมิภาค

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จึงจับมือกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านกว่า 20 องค์กรจากทั่วภูมิภาค จัดงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ ครั้งที่ 2 : “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบฯ (CMECC) จังหวัดเชียงใหม่

โดยจากความเชื่อว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านไม่ควรจะจำกัดอยู่เพียงแต่เฉพาะศูนย์กลางของประเทศหรือในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่เด็กและเยาวชนไทยในภูมิภาคอื่นๆ ก็ควรมีโอกาสที่จะ “เข้าถึง” โลกแห่งอ่านเช่นเดียวกัน

ที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ยังเกิดความร่วมมือกับคณะผู้จัดงานเทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (International Children’s Content Rights Fair : ICCRF) และมหกรรม Big Bad Wolf งานเทศกาลหนังสือระดับนานาชาติชื่อดัง ที่ยินดีเป็นพลังขยายโอกาสด้านการอ่านมาสู่เยาวชนถึงถิ่นภาคเหนือ

กอบกาญน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงานเปิดเผยความรู้สึกว่า มีความยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งต่อการจัดงานในครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีความเหมาะสมจะเป็นฮับของประเทศไทยให้เป็นผู้นําด้านการผลิตเนื้อหาสําหรับเด็กในภูมิภาคอาเซียน และสร้างวัฒนธรรมการอ่านเพื่อการคิดวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์สู่ทุกชุมชนในสังคมไทย ผ่านกิจกรรมเปิดประสบการณ์แห่งความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ

“เชียงใหม่ไม่เพียงแต่เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศสวยงาม แต่ยังมีประวัติศาสตร์ยาวนานด้านศิลปะและงานหัตถกรรมฝีมืออันล้ำค่า ทั้งมีศิลปินนักสร้างสรรค์มากความสามารถมารวมกันที่นี่

ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยในการเห็นความสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า และยังเป็นการจุดประกายความหวังสำหรับอนาคตของประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ”

ด้าน ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะ 5 สสส. กล่าวว่า กิจกรรมมหกรรมการอ่านแห่งชาติ ครั้งที่ 2 “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค” ได้เผยแพร่ข้อมูลความสำคัญของการอ่านกับการสร้างเสริมสุขภาพทุกมิติ เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยให้พ่อแม่ ครู ได้เลือกสรรหนังสือดีที่เหมาะสมกับวัย และบริบทท้องถิ่น ผ่านการส่งเสริมการอ่าน เทคนิคการอ่าน รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่าการอ่านยังเป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“นี่คือโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่จะสร้างมาตรฐานในการพัฒนาสื่อและนวัตกรรมเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการและศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเป็นโอกาสในการเชื่อมโยง และสร้างสัมพันธภาพอันดับในด้านสังคมการอ่านของประเทศกลุ่มอาเซียน และประเทศนานาชาติที่มาร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิด การกิจกรรมด้านวิชาการ การอบรมปฏิบัติการ นำเสนอผ่านกิจกรรมหลากหลายจากนานานประเทศที่มาร่วมงาน อาทิ เบลเยี่ยม อิตาลี อินเดีย เป็นต้น”

สำหรับกิจกรรมในงานมีทั้งเวทีวิชาการและการกิจกรรม นำเสนอนวัตกรรมการส่งเสริมการอ่านหลากหลายรูปแบบ ผ่านครอบครัวและผู้แวดล้อมเด็กปฐมวัย โดยออกแบบเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนนวัตกรรมการอ่านเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โซนการอ่านกับวิถีภูมิปัญญา โซนเปิดบ้านเด็กปฐมวัยอ่านยกกำลังสุขสนุกในท้องถิ่น ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่า “การอ่าน” ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นกระบวนการที่ทรงพลัง สำหรับการวางรากฐานกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ทั้งช่วยสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ รวมถึงทักษะอื่นๆ ที่แม้แต่เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอย่าง AI ไม่อาจทำได้

ในการจัดมหกรรมดังกล่าว ยังมีการจัดประกวดวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก ASEAN Illustration Award ซึ่งแบ่งรางวัลเป็น 4 ประเภทได้แก่ รางวัลภาพประกอบหนังสือเด็กอาเซียน รางวัลภาพประกอบหนังสือเด็กอาเซียนยอดเยี่ยม ประเภทบันเทิงคดี รางวัลภาพประกอบหนังสือเด็กอาเซียนยอดเยี่ยม ประเภทสารคดี และรางวัลสำหรับนักวาดภาพประกอบมือสมัครเล่น

เมธีพงษ์ ก๋าเปา ผู้ชนะรางวัลภาพประกอบหนังสือเด็กอาเซียนยอดเยี่ยม ประเภทสารคดี เจ้าของผลงานภาพประกอบเรื่อง “กล้องจุลทรรศน์” เล่าความรู้สึกว่า ไม่คาดคิดว่าตนเองจะได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพราะเพิ่งส่งผลงานประกวดเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะตั้งแต่เรียนจบมาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาแล้วรับจ้างเพนท์สกรีนเสื้ออย่างเดียว แม้จะมีความฝันอยากเป็นนักวาดภาพประกอบ แต่ไม่เคยประกอบเป็นอาชีพนี้มาก่อน

“ตอนแรกที่ส่งประกวดคิดว่าอยากลอง น่าจะได้แค่รางวัลนักวาดภาพประกอบมือสมัครเล่น เพราะคนอื่นเขาผ่านประสบการณ์และมีผลงานตีพิมพ์กันมาแล้วส่วนใหญ่

เมธีพงษ์เล่าว่าจุดเด่นของเราคือการนำเสนอเรื่องที่เป็นแนวสารคดีเป็นเรื่องที่เป็นจริง เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์

“ภาพประกอบปกติเราจะมองเห็นจากตาเรา จึงอยากทำว่าภาพที่เราต้องผ่านกล้องจุลทรรศน์จะมีรูปแบบอย่างไร ในการทำงานคือต้องศึกษาข้อมูลใช้เวลานานเยอะกว่าการวาด แต่เราอยากทำอยู่แล้วเลยรู้สึกไม่ลำบาก เทคนิคดรออิ้งธรรมดา จากความสำเร็จครั้งนี้ ผมคิดว่าในนาคตหาเป็นไปได้อยากทำหนังสือภาพประกอบหรือเรื่องสั้นของตัวเองสักเล่ม” เมธีพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ