Lifestyle

ชวนเช็กลิสต์ 5 กลุ่มไหนเข้าข่ายไม่ควรดื่ม “น้ำเมา”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่ผ่านมาอาจเคยเห็นข้อมูลทางการแพทย์ว่า ดื่มเหล้าดื่มไวน์วันละนิดดีต่อสุขภาพหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นต่อหลอดเลือด หัวใจ ทำให้อายุยืนขึ้น ถ้าดื่มอย่างเหมาะสม จนมีการออกแนวทางการดื่มแบบมาตรฐานออกมาว่า ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1-2 ดริงก์

แต่จากการเก็บข้อมูลมากกว่า 20 ปี คือ ตั้งแต่ปี 1990-2016 โดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเก็บข้อมูลจาก 694 แหล่งข้อมูล 592 งานวิจัย 195 ประเทศ รวม 2.8 ล้านคน ถือเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงของแอลกอฮอล์ที่ใช้ข้อมูลเยอะที่สุดที่เคยมีมา และได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับโลกอย่าง Lancet โดยงานวิจัยดังกล่าวชี้ชัดว่า การดื่มเพียง 1 ดริงก์ต่อวันในทุกๆ วัน จะเพิ่มการตาย 4 คนในประชากร 1 แสนคน แม้การดื่มสุราเพียงเล็กน้อย อาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจชนิดเส้นเลือดอุดตัน แต่ก็ส่งผลดีเอาในช่วงผู้หญิงวัยกลางคน และผู้ชายในวัยอายุ 90 ปี แต่เพิ่มจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคกว่า 200 โรค ทั้งกลุ่มโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งจับ เต้านม ช่องปาก หลอดอาหาร กล่องเสียง และลำไส้ใหญ่ วัณโรค เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวายจากความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยเฉพาะในเพศชายจะเสี่ยงกว่าเพศหญิง ดังนั้น การป้องกันโรคต่าง งานวิจัยจึงแนะนำว่า การไม่ดื่มเลยจะดีที่สุด

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 10 "สิบปี พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 : ประเทศไทยได้อะไร" ว่า เคยมีการสำรวจข้อมูลโดยสุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 5,000 คน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง พบว่า ส่วนใหญ่ 70% เห็นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาของสังคมไทย แต่การดื่มเป็นเรื่องปกติธรรมดา

“จริงๆ ประเทศไทยมีความพร้อมในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังฝ่ามายาคติเหล่านี้ไปไม่ได้ ทำให้คนยังมองว่า การดื่มเป็นเรื่องปกติ หรือรู้ว่าการดื่มส่งผลเสียต่อร่างกายและสังคมแต่ก็ยังเลือกดื่ม และทำให้ยังมีคนดื่มเป็นจำนวนมากอยู่” นพ.คำนวณ กล่าวต่อถึงมายาคติที่ฝังรากในสังคมไทยว่ามี 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.มายาคติทางการแพทย์ ที่มาจากการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลดีต่อสุขภาพต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการเลือกบางการศึกษาที่บอกถึงข้อดีของแอลกอฮอล์มาใช้อ้างอิงเท่านั้น เช่น ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ดื่มอย่างพอเหมาะช่วยให้อายุยืนกว่า รวมไปถึงการสร้างคำแนะนำการดื่มที่มาตรฐาน เป็นต้น

“เราตกอยู่ในวังวนของมายาคติทางการแพทย์เหล่านี้มานาน จนยากที่จะเปลี่ยนความเชื่อ แต่ทุกวันนี้พบว่า มีการศึกษาใหม่ออกมาแล้วที่ล้มผลการศึกษาเก่าๆ  แต่บุคลากรทางการแพทย์เองจำเป็นที่จะต้องช่วยสื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกไป เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง”

2.มายาคติทางด้านสังคมและธุรกิจ เช่น ค่านิยมการดื่มเพื่อแสดงว่าโตแล้ว ดื่มเพื่อเข้าสังคมกับผู้บังคับบัญชา เพื่อจะได้ของบประมาณได้คล่องขึ้น ดื่มเพื่อให้ความรู้สึกว่า เป็นพวกเดียวกัน ใกล้ชิดกันมาก รักพวกพ้อง หรือกีฬาเป็นยาวิเศษและการดื่มเป็นส่วนหนึ่งของนักกีฬา รวมถึงการสื่อสารของบริษัทน้ำเมาว่า เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญ ประเพณี วัฒนธรรม และการดื่มอย่างรับผิดชอบในเยาวชน เป็นต้น

“การแก้มายาคติเหล่านี้ จะต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่า การดื่มเป็นเรื่องธรรมดา ให้เป็นเรื่องไม่ธรรมดา ซึ่งที่ผ่านมา สสส.และภาคีได้พยายามสื่อสารผ่านแนวคิดให้เหล้าเท่ากับแช่งที่ประสบความสำเร็จจนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยปัจจุบันที่แทบจะไม่มีใครให้เหล้าเป็นของขวัญกันแล้ว ส่วนการจะแก้ให้การดื่มเป็นเรื่องไม่ธรรมดาอาจต้องขยายแคมเปญนี้ให้ไปถึงเรื่องของการ หยิบยื่นแก้วเหล้าให้แก่กันก็เท่ากับการแช่งแล้วเหมือนกัน เพราะเหมือนเป็นการสนับสนุนให้ดื่ม” นพ.คำนวณกล่าว

โดยจากการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ในที่สุดเมื่อปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มสุรา ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่

1.เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรไปแตะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย  แต่ที่ผ่านมามักมีการคิดว่าพอโตแล้วอายุประมาณ 15-16 ปี ก็สามารถดื่มได้ เพราะคงไม่มีผลกระทบต่อสมองเหมือนกับเด็กเล็กแล้ว แต่ข้อมูลทางการแพทย์บอกว่าไม่ใช่ สมองของเรายังไม่โตเต็มที่ ซึ่งจะโตเต็มที่เมื่ออายุเลย 20 ปีไปแล้ว หรือแม้จะเลย20 ปีไปแล้วแต่ก็ยังมีบางจุดที่โตได้อีก ซึ่งสมองมี 2-3 ส่วนที่สำคัญ คือ ส่วนอารมณ์ ตรงนี้จะโตเร็ว ทำหน้าที่รับรู้เรื่องอารมณ์ได้ดี แต่ส่วนที่ยับยั้งชั่งใจ ประมวลผล ควรทำไม่ควรทำ จะค่อยๆ โต การที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะทำลายสมอง ทำลายส่วนที่จะแยกแยะถูกผิดไม่ควรทำ ทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจร ทะเลาะวิวาท ข่มขืน มีเพศสัมพันธ์ ก็ต้องพยายามเชียร์ว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ตามกฎหมายของเรา ไม่ควรจะดื่มแอลกอฮอล์

2.หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมลูกด้วยนมแม่ เพราะมีผลอันตรายต่อทารก ซึ่งทุกคนทราบดีว่าแอลกอฮอล์ทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ โดยเฉพาะสมองของเด็ก รวมถึงคลอดก่อนกำหนด แท้งบุตร เจริญเติบโตผิดปกติ

3.ผู้มีอาชีพขับรถและทำงานกับเครื่องจักรกล เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เรื่องนี้ต้องไม่ใช่แค่ว่า “เมาไม่ขับ” แต่ต้องเป็นว่า “ดื่มไม่ขับ” และเมื่อดื่มแล้วจะต้องรอถึง 6 ชั่วโมง ถึงจะกลับมาขับรถได้ อย่างที่เคยมีกรณีเกิดขึ้นคือสายการบินของญี่ปุ่นที่มีการดีเลย์จำนวนมาก ปรากฏว่าเกิดจากการที่นักบินไม่อยู่ในสภาพที่จะบังคับเครื่องบิน เพราะว่าดื่ม และมีระดับแอลกอฮอล์สูง ก็ต้องเปลี่ยนนักบิน รอนักบินรุ่นใหม่มา เครื่องจึงดีเลย์ แต่คนขับรถบ้านเราที่ไม่อยู่ในสภาพที่ขับรถมีจำนวนมหาศาลแต่ยังขับรถออกบนท้องถนน อันตรายกว่านักบินเสียอีก ซึ่งอุบัติเหตุจราจรประเทศไทยตายปีละ 22,000 คน หรือ 60 คนต่อวัน ซึ่ง 1 ใน 5 เกิดจากการดื่มสุรา โดยคนที่เจ็บป่วยมีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดอยู่ แต่ช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ จะไม่ใช่ 1 ใน 5 แต่กระโดดไปถึง 50% การมีลานเบียร์ โปรโมตให้ดื่มในช่วงเทศกาล เป็นการสนับสนุนให้เรามีตัวเลขการตายจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้คนตายมากขึ้น

4.ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีโรคประจำตัว เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง โรคทางจิต ความดันโลหิต เบาหวาน ฯลฯ ไม่ควรดื่มทั้งนั้น เพียงแต่เราไปโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ไม่เคยบอกว่า ไม่ควรจะดื่ม แต่ก็แค่จ่ายยาไป

และ 5.ประชาชนทั่วไปทุกเพศทุกวัยที่ไม่ได้ดื่มอยู่แล้ว

“อยากชักชวนทุกคนมาร่วมกันทำลายมายาคติและควบคุมแอลกอฮอล์ ผ่านพลังวิชาการ เช่น ราชวิทยาลัย สมาคม ภาคี ต้องยืนยันตลอดเวลาว่า การดื่มไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พลังนโยบาย กรมสรรพสามิตเดินหน้าขึ้นภาษีต่อเนื่อง ลดการให้ใบอนุญาต เผื่อลดความหนาแน่นของร้านจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1 ร้านต่อ 100 กว่าคน ซึ่งถือว่าสูงมาก ขณะที่เยาวชน 15-24 ปี อยู่ที่ 1 ร้านต่อ 15 คน และขอให้คณะกรรมการควบคุมทุกระดับบังคับใช้กฎหมายไม่ให้มีการโฆษณาแฝง CSR พลังสังคมและสื่อมวลชน ช่วยสื่อสารงานบุญประเพณี กีฬา งานเลี้ยงทางราชการ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยทศวรรษที่สองของกฎหมาย เราหวังว่าจะเห็นเด็กยุคอัลฟา (Alpha Generation) ที่เกิดหลังปี 2550 ไม่ดื่มแอลกอฮอล์" นพ.คำนวณ กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ