Lifestyle

ไทยเดินหน้าไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ผ่านเวทีโลก Safety 2018

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทั่วโลกมีประชากรเสียชีวิตจากความรุนแรง 1.6 ล้านคน ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนทำให้ประชากรเสียชีวิตสูงสุด คือมีถึง1.3 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทย“อุบัติเหตุทางถนน” จัดอยู่ใน 10 ประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดโดยไม่ตั้งใจ และเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในประชากรไทย สถิติล่าสุดพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 32 คน ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2020 กำหนดให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งของตัวเลขเดิม นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับไทย

แต่...ร้อยละ90ของการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจาก “พฤติกรรมคน” ที่ควบคุมได้ยาก

ดังนั้น ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13th  World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) 2018 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,500 คน จากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก จึงเป็นอีกเวทีของกรทบทวนหารือถึงความก้าวหน้าในการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ที่สานต่อจาก World Safety ครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้นในประเทศฟินแลนด์ปีที่ผ่านมา

หากแต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในครั้งนี้คือการประสานงานที่เข้มแข็งขึ้นของทั้งภาครัฐและภาคสังคม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการบาดเจ็บและความรุนแรง ที่เกิดจากความร่วมมือหลายฝ่าย ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 ดร.แดเนียล เคอร์เตส ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการบาดเจ็บและความรุนแรง มีผลต่อด้านสาธารณสุข และท้าทายการพัฒนาที่สำคัญของประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยเฉพาะแนวโน้มเป้าหมายด้านความปลอดภัยทางถนนของ SDG เป้าหมายที่ 3.6 และ 11.2 ที่อาจจะไม่บรรลุผล

อย่างไรก็ดีการบาดเจ็บและความรุนแรงเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันแก้ไขได้หากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก คณะกรรมการสหประชาชาติ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความพยายามในการดำเนินการตามมติสมัชชาแห่งสหประชาชาติ A / RES / 72/271 ในเรื่องการปรับปรุงความปลอดภัยบนท้องถนนทั่วโลก เป้าหมาย SDG ก็อาจสัมฤทธิ์ผลได้

ด้านนายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกด้านวิกฤติบำบัดและอุบัติเหตุ และประธานคณะทำงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า สอจร. ได้ยึดนโยบาย Vision Zero ของประเทศสวีเดน ในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อของประชาชนและผู้ปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่ระบุว่า อุบัติเหตุทางถนนล้วนป้องกันได้ เพราะไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเคราะห์กรรม แต่เกิดจากความบกพร่องของระบบโดยรวม ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้ผลักดันให้สวีเดนประสบความสำเร็จจากการแก้ปัญหา สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงอยู่ที่เฉลี่ย 3 คน ต่อประชากร 100,000 คน และรัฐบาลสวีเดนยังได้กำหนดเป้าหมายภายในปี 2050 ต้องไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

“ทั้งปัจจัยคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลระบบแต่ละด้านต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการกำจัดอุบัติเหตุทางถนนไม่ให้เกิดขึ้นเลย”

นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า Vision Zero เน้นความสำคัญกับการให้ความรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่วัยผู้ใหญ่ควรได้รับการรณรงค์ชี้ให้เห็นโทษการทำผิดวินัยจราจร ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่นการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วทุกจุดเสี่ยง และเก็บสถิติการกระทำความผิด เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ ซึ่งสวีเดนพิสูจน์แล้วว่ามาตรการเหล่านี้มีผลกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนมากที่สุด

 “นอกจากการประยุกต์ใช้วิสัยทัศน์ของสวีเดนแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงระบบ ทุกหน่วยงานควรแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขต้นตอปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา สสส. มีส่วนสำคัญในการสานพลังเชื่อมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้นำสถิติข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อถอดบทเรียนการทำงานและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด พร้อมกันนี้ยังประสานให้ สอจร. และเครือข่ายสื่อภูมิภาค เป็นผู้นำให้ความรู้และสื่อสารกับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและเยาวชน กลุ่มแรงงาน และผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วไป เพื่อร่วมกันสร้างวินัยการขับขี่ถูกต้อง จนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนปลอดภัยในหลายจังหวัดทั่วประเทศ” นพ.วิทยา กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า วิธีการสนับสนุนงานป้องกันการบาดเจ็บและความรุนแรงที่สำคัญคือ การเสริมสร้างความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลระดับชาติ ที่ติดตามความคืบหน้าของการส่งเสริมความปลอดภัย และสนับสนุนการวิจัยเชิงพื้นที่ เพื่อนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาประกอบการตัดสินใจในการผลักดันให้เกิดนโยบายความปลอดภัย ทั้งนี้ สสส. ได้บรรจุแผนจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เพื่อมุ่งตอบสนองเป้าประสงค์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยสนับสนุนการดำเนินงานตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (ปี 2554-2563) ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ด้วยการส่งเสริมการพัฒนานโยบายสาธารณะใหม่

เช่นการลดความเร็วของการขับขี่ในเขตเมือง การเพิ่มโทษผู้ดื่มแล้วขับและเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมฐานข้อมูลการกระทำผิดซ้ำ ส่งเสริมให้เกิดมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน มาตรการองค์กรส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย ยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ และที่สำคัญคือการสานพลังเชื่อมภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาชน รัฐ เอกชน และท้องถิ่นในระดับอำเภอและพื้นที่ เพื่อนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาประกอบการตัดสินใจในการผลักดันให้เกิดนโยบายความปลอดภัย และร่วมสนับสนุนการรณรงค์สื่อสารไปยังสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติและพฤติกรรม

โดยในงานนี้ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะตัวแทนประเทศไทยยังได้ร่วมพิธีประกาศแถลงการณ์กรุงเทพ (Bangkok Statement) ก้าวหน้าสู่โลกที่ปลอดภัย ห่างไกลการบาดเจ็บและความรุนแรงอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของสมัชชาอนามัยโลก 2562 ต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

         

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ