Lifestyle

ป.ป.ช. โชว์ผลงาน 4 ด้าน ปี’61 ฟันคดีใหญ่อื้อ ปรับปรุงกม.ปราบโกงให้สอดคล้องนานาชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดผลงาน 4 ด้าน ป.ป.ช. ปี’61 เชือดคดีเงินทอนวัด-ทุจริตซื้ออัลฟ่า 6 -โกงโครงการประดับไฟ กทม. 39.5 ล.-จนท.-นักการเมืองท้องถิ่นอื้อ ฟันนักการเมือง-ผู้บริหารท้องถิ่นจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน-ยื่นเท็จเพียบ 309 ราย ศาลฎีกาฯฟันแล้ว 138คดี ผุดหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้เยาวชน-ตร.-ทหารเรียน ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องอนุสัญญายูเอ็น เน้นสอบสินบนข้ามชาติ-อายุความหยุดลงถ้าหนี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปี 2561 แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการปราบปรามการทุจริต ในปี 2561 (ถึงเดือน ก.ย. 2561) มีเรื่องใหม่ 4,622 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 3,642เรื่อง มีผลงานชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่น่าสนใจ เช่น คดีทุจริตเกี่ยวกับเงินงบประมาณอุดหนุนวัด และเรียกรับเงิน หรือคดีเงินทอนวัด ชี้มูลความผิดนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. และ น.ส.ประนอม คงพิกุล อดีตรอง ผอ.พศ. พร้อมบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้วรวม 11 วัด

คดีจัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด Alpha 6 ชี้มูลความผิด ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ อดีตหัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก กับพวก เนื่องจากจัดซื้อโดยไม่มีอำนาจ และไม่ถูกต้อง และชี้มูลความผิดนายจุมพล สำเภาพล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวก กรณีทุจริตโครงการค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จำนวน 39.5 ล้านบาท โดยมิชอบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมติชี้มูลความผิดนักการเมือง และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนมาก เช่น นายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลราชธานี นายวรวิทย์ บูรณศิริ นายก อบจ.พะเยา นายอุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์ นายก อบจ.เชียงใหม่ นายนวพล บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา นายมนตรี เพชรขุ้ม  นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

2.ด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ปี 2561 ตรวจสอบ 8,941 บัญชี เป็นการตรวจสอบปกติ 8,555 บัญชี ตรวจยืนยันความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน 279 บัญชี และตรวจสอบเชิงลึก 107 บัญชี โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวม 309 คดี แบ่งเป็น กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน 175 คดี และจงใจยื่นบัญชีเท็จหรือปกปิดบัญชี 134 คดี ซึ่งศาลฎีกาฯมีคำวินิจฉัยแล้ว 138 คดี

คดีที่น่าสนใจ เช่น ริบทรัพย์สิน 1,047 ล้าน จากพ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ รวยผิดปกติ 896 ล้านบาท นายสมบัติ อุทยสาง อดีต รมช.มท. 108 ล้าน นางระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ภรรยานายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีต ส.ส.เพื่อไทย ร่ำรวยผิดปกติ 42.8 ล้านบาท นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 10 เดือนนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ จงใจยื่นบัญชีเท็จ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 เดือน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ จงใจยื่นบัญชีเท็จ ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 เดือน แต่รอลงอาญา 2 ปี เป็นต้น

3.การดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) มีผลงานสำคัญคือ หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โดยใส่ในรายวิชาของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ เป็นต้น รวมถึงโครงการ STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต นำร่อง 27 จังหวัด คาดหวังให้เกิดชุมชนจิตพอเพียง โดยในปีงบประมาณ 2562 จะดำเนินการในกรุงเทพฯ และ76 จังหวัด โครงการส่งเสริมท้องถิ่นปลอดทุจริต โครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรอิสระ และรัฐสภาในการยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต โครงการส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

4.ด้านการต่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการป้องกันการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล นอกจากนี้ได้แก้ไขบทบัญญัติที่เป็นการอนุวัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 เช่น ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ในกรณีมีการหลบหนี การริบทรัพย์สิน ประโยชน์ ทรัพย์ที่แปลงสภาพ การริบทรัพย์ตามมูลค่า การดำเนินการตามคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศ ฐานความผิดขัดขวางกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ