Lifestyle

สสส.เสริมศักยภาพ “ผู้นำรากฐานสร้างสุขชุมชน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

...

ในทุกการขับเคลื่อน “ผู้นำ” เป็นหัวใจสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการขับเคลื่อนงานสุขภาวะในระดับชุมชน หลายท้องถิ่นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การมีผู้นำดีที่เห็นความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องในชุมชนย่อมสามารถสร้างความเข้มแข็งและความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนของตนเองในทางที่ดีขึ้น

แนวคิดการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมภาวะผู้นำในระดับชุมชน จึงเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการขับเคลื่อนงานพัฒนาสุขภาวะ ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่พยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมการให้องค์ความรู้ด้านวิชาการ การจัดการ ตลอดจนการสร้างเวทีเครือข่ายเพื่อสร้างประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของกลุ่มผู้นำท้องถิ่น ที่อาจถือได้ว่าอยู่ระดับฐานรากหรือเป็นหน่วยย่อยๆ ของประเทศ ให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำท้องถิ่นมีคุณธรรม จริยธรรม และกลายเป็นฐานผู้นำคุณภาพสูงจำนวนมหาศาล ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศไทยให้เดินไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้

ภายหลังจากการทำงานของเครือข่ายมาระยะหนึ่ง รือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นจึงคัดเลือกผู้นำชุมชนจากชุมชนต่างๆ จากทั่วประเทศเพื่อประกาศ “สุดยอดชุมชนท้องถิ่น” และ “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น” สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน พร้อมทั้งประกาศสัตยาบัน“ผู้นำชุมชนท้องถิ่น”  ในเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

โดยได้คัดเลือกชุมชนและท้องถิ่นที่มีผลงานโดดเด่นสำเร็จเป็นรูปธรรม จาก 2,000 ตำบล คัดกรองจาก789 ตำบล ซึ่งในครั้งแรกนี้ได้“สุดยอดชุมชนท้องถิ่น” จำนวน 75 ตำบล และ “สุดยอดผู้นำท้องถิ่น”จำนวน 140 คน ซึ่งทั้งหมดมีความเป็นผู้นำทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ โดยทุกคนได้ทำงานในบทบาทต่างๆ มาแล้วจนเป็นที่ยอมรับ พร้อมเป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้

สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กล่าวว่า การพัฒนาสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานของประเทศ ดั่งแนวคิดองค์เจดีย์ หากฐานของเจดีย์มีความเข้มแข็ง องค์เจดีย์ก็มีความมั่นคงแข็งแรง เช่นเดียวกับประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 ได้กระจายอำนาจบริหารสู่ท้องถิ่นนำมาซึ่งการเกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า 7,000 แห่ง หากทำให้ท้องถิ่นทุกแห่งมีความเข้มแข็งย่อมทำให้ประเทศเกิดความมั่นคง

“สิ่งสำคัญของการพัฒนาสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่คือต้องสร้างผู้นำในชุมชน เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้นำ ซึ่งจะต้องนำทั้งความคิดและปัญญา ชาวบ้านให้การยอมรับ ศรัทธา และเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติจนเกิดผล การขับเคลื่อนภาระกิจด้านสุขภาวะจึงจะประสบผลสำเร็จ”

โดย “สุดยอดชุมชนท้องถิ่น” เป็นการคัดเลือกจากชุมชนที่มีศักยภาพหลากหลายด้านรวมกัน เช่น  ศักยภาพในด้านคน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการพัฒนานวัตกรรม  ซึ่งคุณลักษณะอันหลากหลายนี้ ส่งผลให้เกิดพลังการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน

สุวรรณีคำมั่น ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า อยากให้มองข้างหน้าว่า วันนี้เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลก ถ้าเราไม่ปรับตัวเราไปไม่รอด สิ่งสำคัญเราต้องรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงคืออะไร และต้องใช้ความรู้มารับมือกับสถานการณ์ท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น

เรื่อง “คน” จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง โดยคนในศตวรรษที่ 21 ควรมีความรู้และมีองค์ประกอบทั้งเรื่องทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และความรู้ตามสาขาวิชาชีพนั้น  โดยเฉพาะควรมีการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ แล้ว ความรู้เหล่านี้คือสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเรา โดยเมื่อสร้างคนแล้วต้องเข้าไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน 

ด้าน นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า สำหรับผู้นำชุมชนท้องถิ่น สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วม ผู้นำต้องก่อการดี ที่หมายความว่า นอกจากการคิดดีแล้ว ต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง และสองต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน

สิ่งที่สุดยอดผู้นำท้องถิ่นจะทำให้เกิดคือการทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและร่วมแรงร่วมใจให้เกิดการพัฒนา สิ่งที่อยากเห็นเพิ่มขึ้น คืออยากให้มีการขยับไปสู่พื้นที่อื่นที่ไม่ได้มาวันนี้ โดยสุดยอดผู้นำท้องถิ่นต้องขยายผลสิ่งที่ทำดีอยู่แล้ว

“ผู้นำต้องสามารถจัดการตัวเองด้านสุขภาพ และเป็นต้นแบบการรณรงค์ด้านสุขภาพทุกเรื่องรวมถึงต้องจัดการบ้าน ชุมชน และประเทศตนเอง ต้องมีการประสานงานและสร้างการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในสังคม”นพ.วิศิษฐ์เอ่ย

เทศบาลตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยาคือหนึ่งใน 75 ชุมชนที่ได้รับประกาศเป็นสุดยอดชุมชนท้องถิ่น

เดิมเป็นลูกข่ายบ้านต๋องจังหวัดพะเยาในปี 2554และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน(ศจค.) ในปี 2556 ปัจจุบันมีเครือข่ายอีก 20 แห่งโดยชุมชนมีการจัดการด้านสุขภาวะหลายโครงการ อาทิ โครงการยิมโมเดล โครงการปฐมวัย 4G ล่าสุดเราต่อยอดในเรื่องระบบสูงวัยสามสี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้จากการทำข้อมูล TCNAP และ RECAP ของ สสส.และจัดตั้งโฮงเฮียนสร้างสุข ที่ปัจจุบันมีนักเรียนสูงวัยกว่า 140 คนมีวัตถุประสงค์หลักคือการให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ และไม่เป็นโรคเพิ่มขึ้น

“จากเดิมที่เราทำงานแบบมวยวัด เพราะสิ่งที่เราไม่มีคือเรื่องระบบการจัดการข้อมูล เปลี่ยนมาเป็นการมองอะไรเป็นระบบ ทำให้มองเห็นสถานการณ์ชุมชนคนอื่นอาจมองว่าเป็นการเพิ่มภาระงาน แต่เราเชื่อว่าการที่เราเข้าไปร่วมกับ สสส. สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องในชุมชนเทศบาลงิมที่เคยได้ชื่อว่าเป็นคนหลังเขา แต่วันนี้ผู้สูงอายุสามารถเป็นวิทยากรได้

นิภาวรรณ์ หายทุกข์ ปลัดเทศมนตรีตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยาเผยความรู้สึกต่อว่า การที่มีเครือข่ายไปอยู่ในชุมชน ทำให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้ และมีการพัฒนาตนเองในหลายมิติ ชุมชนเปลี่ยนแปลงพัฒนาเป็นโฮมสเตย์เพื่อรองรับเครือข่ายที่มาศึกษาดูงานสร้างวัฒนธรรม “แกงหยวก” อาหารประจำถิ่นกลายเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างสายใยระหว่างกันกับเครือข่ายกัน

“มีผู้สูงอายุคนหนึ่งที่เราภูมิใจที่สุด เคยเป็นโรคซึมเศร้า โรงพยาบาลส่งมาที่เราเพราะเขาไม่ดีขึ้นต้องกินยาตลอด แต่เมื่อมาเข้าโรงเรียนผู้สูงอายุเขากลับลุกขึ้นมาแต่งหน้าทาปากเพื่ออยากจะมาโรงเรียน และหมอสั่งให้หยุดกินยา การที่เราได้เห็นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมากกว่าการได้รับรางวัลในวันนี้” นิภาวรรณ์กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ