Lifestyle

จากงานวิจัยสู่ลงมือปฏิบัติจริง สารสนเทศจัดการน้ำ “เมืองจัง”โมเดล “มหาวิทยาลัย” คู่ท้องถิ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระบบสารสนเทศเพื่อบริการจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้ร่วมกับอบต.เมืองจัง ได้จัดทำระบบสารสนเทศการใช้น้ำ ถือเป็นตัวอย่างของการทำแนวคิด มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น ให้ออกมาเป็นรูปธรรม

สมคิด ทุ่นใจ นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เล่าว่า จากการศึกษาเชิงพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มีพื้นที่ ประมาณ 86.38 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 11 หมู่บ้านอาทิ บ้านหาดเค็ด บ้านเมืองจังใต้ บานหาดผาขน บ้านเมืองหลวง สภาพพื้นที่มีทั้งเป็นพื้นที่ราบ ที่ลาดเชิงเขา และภูเขา แบ่งได้ดังนี้ พื้นที่ราบ 30 % ที่ดอน 10 % ที่ลาดเชิงเขา และภูเขา 60 % มีพื้นที่ทั้งหมด 23,495 ไร่ เกษตรกรมีที่ดินทำกินเฉลี่ย 5-7 ไร่ต่อครอบครัว แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญที่ประชาชนใช้ประโยชน์ในการเกษตรและการอุปโภค บริโภค คือ แม่น้ำน่าน แม่น้ำยาว และมีลำห้วยสายต่างๆ จำนวนมาก เช่น ห้วยผาตอง ห้วยจะลองแวง ห้วยน้ำจำ ห้วยโป่ง ห้วยหวาย ห้วยเหี้ย ห้วยฝาย ห้วยขี้นา      

นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นอีก เช่น อ่างเก็บน้ำ คลองชลประทาน ฝาย บ่อน้ำตื้น สระน้ำขุดเอง บ่อบาดาล และประปาหมู่บ้าน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าข้อมูลทั้งหมดนี้ยังขาดการบ่งบอกตำแหน่งเชิงพื้นที่ของแหล่งน้ำ แหล่งพื้นที่การทำเกษตรกรรม ขาดการบอกเชิงประมาณหรือปริมาตรการบรรจุของแหล่งน้ำ ซึ่งยากต่อบริหารจัดทรัพยากรน้ำของชุมชน 

“จากการทำงานเก็บข้อมูลร่วมกับชาวบ้านทำให้ทราบว่าพื้นที่มีแหล่งน้ำอยู่ในจุดไหน และบอกระยะทางเดินทางไปถึงแหล่งน้ำ นำข้อมูลไปให้อบต.เพื่อวางแผนจัดสรรงบประมาณการวางท่อ และวางแผนการเพาะปลูก ซึ่งเดิมทีกลุ่มชาวบ้านที่ทำนาจะได้สิทธิ์ในการใช้น้ำในสัดส่วนที่สูงกว่า แต่กลุ่มที่ปลูกไม้ผล ปศุสัตว์ ได้รับการใช้น้ำรองลงมา เมื่อมีฐานข้อมูลสามารถจัดสรรได้อย่างทั่วถึง ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้าไปดูแหล่งน้ำได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งในระยะต่อไปต้องให้อบต.ขึ้นทะเบียนเกษตกรระบุประเภทของการเพาะปลูกเพื่อบริหารจัดสรรน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งปีซึ่งโมเดลนี้สามารถต่อยอดไปยังอำเภอใกล้เคียงจนถึงระดับจังหวัดได้”สมคิด บอกเล่า

ขวัญประชา วันสนิท กลุ่มผู้ใช้น้ำตงเมืองจัง อ.ภูเพียง เล่าถึงพื้นที่ว่า เดิมนายกอบต.ได้ริเริ่มการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เดิมใช้ระบบเหมืองฝาย แต่ปัจจุบันมีกลุ่มใช้น้ำใหม่ เช่นเกษตรกรปลูกพืชหลังนา ปลูกไม้ผล ปศุสัตว์ ขณะที่ผู้ใช้น้ำดั้งเดิมคือ ชาวนา เมื่อมีสถาบันการศึกษาเข้ามาได้สร้างน่าเชื่อถือ ลดปัญหาความขัดแย้งในการการใช้น้ำ ทุกคนนำข้อมูลไปใช้ได้ เช่นแหล่งน้ำมีกี่ที่ แนวท่ออยู่ตรงไหน

ด้าน สำรวย ผัดผล นายกอบต.เมืองจัง เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงว่า

“เมื่อเรามีฐานข้อมูลเรื่องน้ำ ปกติเวลาประชุมสภา การจัดตั้งงบประมาณของท้องถิ่น จะใส่ข้อมูลอะไรลงไปไม่ง่ายแล้ว จะมีการทักท้วง ตรงนี้กลายเป็นนิสัยใหม่ของ อบต. ก่อให้เกิดทำงานในลักษณะพหุภาคี จะเห็นว่างานวิจัยต้องเป็นความต้องการของท้องถิ่นโดยแท้จริง”

การขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่(Area Based) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นภายใต้แนวคิด “มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น” เป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่องที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ในช่วงระหว่างปี 2558-2561

โดยเป็นการออกแบบร่วมกันของมหาวิทยาลัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) โดยผสานภาระหน้าที่หลักของทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนวัตกรรม องค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า จากการทำงานของสสส. ร่วมกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พบว่า การแก้ไขปัญหา และหาทางออกของชุมชนท้องถิ่น ต้องอาศัยองค์ความรู้และมุมมองจากคนภายนอกชุมชนเข้าไปกระตุ้นหรือ สะกิดเพื่อการเปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของผู้นำชุมชนท้องถิ่น การนำความรู้จากการปฏิบัติกับความรู้จากหลักวิชาการมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยงในการกำหนดยุทธศาสตร์ หรือกลวิธี ร่วมกันสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง จะเป็น “หลักการใหม่ในการสังเคราะห์ความรู้” ให้เป็น “ความรู้ใหม่” ที่มีหลักวิชารองรับ ปฏิบัติได้จริง และสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่เป็นสายใยให้ชุมชนท้องถิ่นอยู่ร่วมกันเป็น สถาบันวิชาการเองก็ต้องพิสูจน์ (วิจัยเชิงปฏิบัติการ) ว่าองค์ความรู้จากหลักวิชาการหรืองานวิจัย จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร 

“ปัญหาใกล้ตัว ใกล้ชุมชน อย่างทำนาแล้วขาดทุน น้ำท่วมซ้ำซาก ภาควิชาการจากสถาบันการศึกษามาเก็บข้อมูลทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านแล้วแก้ปัญหาร่วมกัน ขณะนี้มีโมเดลของราชภัฏอุตรดิตถ์ที่มีความแนบแน่นกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ ชาวบ้านมีปัญหาเดินไปที่ราชภัฎฯ ซึ่งสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือท้องถิ่นมาจากชุดความคิด3 ชุด ชุดที่ 1 ปัญหาในท้องถิ่นยังต้องการความรู้และมุมมองจากคนในชุมชน คนภายนอกไม่สามารถแก้ปัญหาเพียงลำพังได้ ชุดองค์ความรู้ที่ 2 สถาบันวิชาการมีความจำเป็นต้องพิสูจน์องค์ความรู้ทำให้คนในชุมชนเข้มแข็ง นำหลักวิชาไปช่วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุดความคิดที่3 เวลาใช้องค์ความรู้ปฏิบัติต้องผสานกับภูมิปัญญาและหลักวิชาเหล่านี้จะเป็นเส้นทางการพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืน”ดวงพรกล่าว

ขณะที่ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สมพร ใช้บางยาง กล่าวว่า การสนับสนุนให้เกิดสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือชุมชนท้องถิ่น สสส. ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงการทำงานของ 2 ส่วน คือสถาบันการศึกษาและชุมชนท้องถิ่นที่เดิมต่างคนต่างทำต่างเป้าหมาย มาร่วมคิดร่วมทำโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเกิดคู่ความร่วมมือ 210 พื้นที่ เกิดจำนวนนักวิจัยจากสถาบันวิชาการ และนักวิจัยชุมชน(ในพื้นที่) 988 คน และมีผลงานวิจัย 439 เรื่อง แบ่งเป็นวิจัยแบบมีส่วนร่วม และวิจัยเชิงทดลอง ใน 5 ประเด็น คือ 1.เศรษฐกิจชุมชน 2.การจัดการขยะ 4.เด็กและเยาวชน 4.อาหารปลอดภัย 5.การดูแลสุขภาพ ซึ่งผลวิจัยเหล่านี้จะถูกนำไปสู่การต่อยอดขยายผลทำงานร่วมกันต่อไป

“เพราะการเรียนรู้ที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่สร้างทุกอย่าง ทั้งกาย จิต สังคม เป็นศักยภาพในการเรียนรู้ที่สูงมาก เราต้องช่วยกันพัฒนา และช่วยให้เพื่อนมนุษย์พบกับกระบวนการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้ทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว” ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส กล่าวชื่นชมราชภัฎอุตรดิตถ์ไว้เมื่อปี 2554 

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 10 แห่ง ประกอบด้วย ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ม.ราชภัฏพิบูลสงครามม.ราชภัฏนครปฐม ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ม.ราชภัฏเพชรบุรี ม.ราชภัฏมหาสารคาม ม.ราชภัฏเลย ม.ราชภัฏลำปาง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ