Lifestyle

ตอบโจทย์ ตรงจุด แก้ปัญหาชุมชนแบบมีกระบวนคิด ด้วย “วิจัยเชิงพื้นที่”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

​“ความรู้ความเข้าใจที่จำกัด” อาจเป็นกับดักที่ทำให้มองไม่เห็นปัญหา หรือหาทางออกไม่พบ

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมบางครั้งเราจำเป็นใช้ “เลนส์” จากมุมมองของคนนอกช่วยสะท้อนปัญหาได้ดีกว่า

เช่นเดียวกันในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่และการหาทางออกของชุมชนท้องถิ่นเอง ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้และมุมมองจากคนภายนอกชุมชนเข้าไปกระตุ้น หรือเพื่อการเปิดโลกทัศน์

งานนี้จึงต้องพิสูจน์ว่า “วิชาการ” สามารถเป็น “ทุน” องค์ความรู้ ที่ช่วยเสริมพลังการทำงานให้กับชุมชนก้าวสู่อีกระดับได้จริงหรือไม่ และทำได้อย่างไร ด้วย “การวิจัยเชิงพื้นที่”

เมื่อก่อนอาจจะเคยแยกกันอยู่ แยกกันคิด และแยกกันทำ แต่วันนี้ “ชุมชนท้องถิ่น” กับ “สถาบันวิชาการ” ได้เกิดความเชื่อมโยงเครือข่ายที่เชื่อมเข้าหากันมากขึ้น ผ่านโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน 

โครงการนี้จับคู่มหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 10แห่ง ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ม.ราชภัฏพิบูลสงครามม.ราชภัฏนครปฐม ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ม.ราชภัฏเพชรบุรี ม.ราชภัฏมหาสารคาม ม.ราชภัฏเลย ม.ราชภัฏลำปางมาลงพื้นที่ลุยงานวิจัยร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ด้วยแนวทางการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่

หลังดำเนินการครบสองขวบปี ล่าสุด จึงได้จัดเวทีนำเสนอวิจัยเชิงพื้นที่ โดยสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ที่ตั้งเป้าเพื่อสร้างองค์ความรู้ และเปลี่ยนกระบวนการคิด วิธีการทำงาน ควบคู่กับการเสนอผลงานทางวิชาการ 5 ประเด็นสุขภาพ ได้แก่ อาหารปลอดภัย การดูแลสุขภาพ การจัดการ เศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาเด็กและเยาวชน

ในฐานะประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สมพร ใช้บางยาง เล่าถึงแนวคิดว่า การสนับสนุนให้เกิดสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือชุมชนท้องถิ่น สสส. ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงการทำงานของ 2 ส่วน คือสถาบันการศึกษาและชุมชนท้องถิ่นที่เดิมต่างคนต่างทำต่างเป้าหมาย มาร่วมคิดร่วมทำโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเกิดคู่ความร่วมมือ 210 พื้นที่ เกิดจำนวนนักวิจัยจากสถาบันวิชาการ และนักวิจัยชุมชน(ในพื้นที่) 988 คน และมีผลงานวิจัย 439 เรื่อง 

นอกจากนี้ผลปรากฏว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่าสองปี การดำเนินโครงการ ยังทำให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ จากงานวิจัยในพื้นที่ขึ้นมากมาย อาทิ การพัฒนาอาหารปลอดภัยในท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ การพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ที่ได้ทั้งผลงานวิจัย และสามารถนำเอาความรู้มาใช้ต่อยอดในพื้นที่ด้วย

“สิ่งที่เราย้ำ คือเราอยากเห็นผลพวงจากสิ่งที่ สสส.สนับสนุน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตข้างหน้า โครงการนี้เป็นการนำเอาศักยภาพของสถาบันวิชาการไปหนุนเสริมเพื่อให้พี่น้องชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากขึ้น”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และอธิบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เผยความรู้สึกในฐานะตัวแทนฝ่ายวิชาการว่า  

“สิ่งที่เราทำมานั้นถือเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือเราได้นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมถึงวิธีการทำงานกับชุมชน และยังสร้างเครือข่ายนักวิจัยในชุมชนท้องถิ่น

ซึ่งวันนี้เราทราบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎต้องทำงานในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น แต่สิ่งที่จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราเรียนรู้ว่าควรต้องเริ่มอย่างไร คือโครงการนี้ที่เกิดเป็นนวัตกรรม ของการสร้างแบบอย่างที่ดี ในการทำงานร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่น ต่อไปการทำงานของเราต้องเป็นไปตามแนวทางนี้”

ซึ่งท้ายสุด ผช.ดร.เรืองเดช เอ่ยว่าโครงการที่นำร่องโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎ 10 แห่ง นี้จะเป็นโมเดลที่จะขยายไปใช้กับราชภัฎทั้ง 38 แห่งได้ต่อไปในอนาคต

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การนำความรู้จากการปฏิบัติกับความรู้จากหลักวิชาการมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยงในการกำหนดยุทธศาสตร์ หรือกลวิธี ร่วมกันสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง จะเป็น “หลักการใหม่ในการสังเคราะห์ความรู้” ให้เป็น “ความรู้ใหม่” ที่มีหลักวิชาการรองรับ ปฏิบัติได้จริง และสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่เป็นสายใยให้ชุมชนท้องถิ่นอยู่ร่วมกัน

“นอกจากแรงกระตุ้น สสส. โดยการให้ทุนกับชุมชนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องใช้ทุนทางวิชาการเข้าไปกระตุ้นด้วย แม้ว่าการกระตุ้นจากฝั่งวิชาการจะไม่ได้เสริมพลังเขา แต่จะเป็นการจุดประกายให้ชุมชนสามารถเสริมพลังตัวเองได้”

พร้อมยกตัวอย่างให้ฟังถึงปัญหาใกล้ตัว ใกล้ชุมชน อย่างทำนาแล้วขาดทุน น้ำท่วมซ้ำซาก ภาควิชาการจากสถาบันการศึกษามาเก็บข้อมูลทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านแล้วแก้ปัญหาร่วมกัน 

“ขณะนี้มีโมเดลของราชภัฏอุตรดิตถ์ที่มีความแนบแน่นกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ ชาวบ้านมีปัญหาเดินไปที่ราชภัฎฯ ซึ่งสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือท้องถิ่นมาจากชุดความคิด 3 ชุด ชุดที่ 1 ปัญหาในท้องถิ่นยังต้องการความรู้และมุมมองจากคนในชุมชน คนภายนอกไม่สามารถแก้ปัญหาเพียงลำพังได้ ชุดองค์ความรู้ที่ 2 สถาบันวิชาการมีความจำเป็นต้องพิสูจน์องค์ความรู้ทำให้คนในชุมชนเข้มแข็ง นำหลักวิชาไปช่วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุดความคิดที่3 เวลาใช้องค์ความรู้ปฏิบัติต้องผสานกับภูมิปัญญาและหลักวิชาเหล่านี้จะเป็นเส้นทางการพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืน” ดวงพรกล่าว

อีกผลพวงของโครงการยังสร้างนักวิจัยในท้องถิ่น ซึ่งจะให้ชาวบ้านช่วยกันคิดกันทำ สถานศึกษาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโดยอาศัยองค์ความรู้ เพราะชุมชนท้องถิ่นต้องการองค์ความรู้ แต่ลึกๆ คือการช่วยกัน ท้ายที่สุดเมื่อชาวบ้านคิดเองทำเองจะกลายเป็นนโยบายของท้องถิ่นโดยตรง 

​หลังการผลักดันโครงการ ท้ายสุดคือความหวังว่าสามารถส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนยกระดับสู่การกระบวนการคิด และทำงานแบบมีหลักการและองค์ความรู้ ที่สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทั่วประเทศอย่างยั่งยืน

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ