Lifestyle

พัฒนาท่องเที่ยวชุมชน 3 จ.ชายแดนใต้ ลดเหลื่อมล้ำเพิ่มรายได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มักเกิดความหวาดหวั่นทุกครั้งเมื่อพูดถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะหลายคนอาจนึกถึงแต่เรื่องความไม่สงบ จนอาจหลงลืมไปว่า แผ่นดินสุดเขตแดนสยามสามจังหวัดล่างสุดนี้ยังอุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ และเสน่ห์วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ไม่นับรวมการเคยเป็นพื้นที่เคยมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ไปจนถึงอาหารปักษ์ใต้รสชาติโดดเด่นเข้มข้นจนหลายคนยากจะอดใจ

เมื่อสามชายแดนยังคงรุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรหลากหลายวันนี้จึงถูกหนุนเสริมให้ก้าวสู่การเป็นอีกพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้าน “การท่องเที่ยวชุมชน” ที่กำลังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และลดคความเหลื่อมล้ำ ของชุมชนพี่น้องสามชายแดนใต้ให้อยู่ดีมีสุขสามัคคีปรองดอง ไปจนถึงเกิดความสงบสุขแท้จริงอีกครั้ง

ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ9 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ที่ต่างมีสัญญาใจร่วมกันว่าจะส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลายเป็นความจริง

 “การพัฒนาชุมชนให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีระบบ ไม่ใช่เพียงแค่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสสร้างความเข้าใจยกระดับความเชื่อมั่นให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงความงาม และความจริง เต็มไปด้วยเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และสร้างความสามัคคี ลดความเลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานของรัฐบาล”พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาอีกหนึ่งในหัวเรือสำคัญของการขับเคลื่อนครั้งนี้

เสริมโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นการสนับสนุนให้คนในชุมชนนำต้นทุนในพื้นที่มาจัดการให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน นำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคง รวามถึงสร้างความสามัคคีในชุมชน ซึ่ง สสส.ได้ร่วมเป็นหนึ่งในตัวเชื่อมประสานนำเครือข่ายชุมชนสุขภาวะเข้ามาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ทั้งการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัย รวมทั้งการเสริมสร้างสุขภาพทั้ง 4 ด้าน คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม

“การลงนามครั้งนี้ ได้สร้างความร่วมมือกับอพท. และภาคีหน่วยงานวิชาการและพื้นที่ เพื่อหนุนเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดยดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก คือ 1.กิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ 2.กิจกรรมศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3.กิจกรรมพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ 4.กิจกรรมสร้างการรับรู้การท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ เพื่อพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน และส่งเสริมให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดการท่องเที่ยวคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ”ดร.สุปรีดา กล่าว

ขณะที่ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สสส. ได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดการตนเองของชุมชนมานาน โดยผลักดันในหลายประเด็นที่ครอบคลุมสุขภาวะ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ ป่าชุมชน ระบบอาหารชุมชน ซึ่งในบางพื้นที่ของเครือข่ายตำบลสุขภาวะบางพื้นที่ก็มีส่งเสริมการสร้างโฮมสเตย์ และการท่องเที่ยวในพื้นที่แต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ การลงนามครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสทางให้การทำงานส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวชุมชนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งชุมชนเป้าหมายที่ร่วมดำเนินงาน การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวน 6 ชุมชนต้นแบบนำร่อง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เครือข่าย ตำบลสุขภาวะของ สสส. จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนบางปู ต.บางปู อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 2.ชุมชนทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ 3.ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา12 ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

นางสาวดวงพร กล่าวอีกว่า จากการได้ลงพื้นที่ด้วยตนเองพบว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้เป็นพื้นที่อันตรายอย่างที่คิด ชุมชนต่าง ๆ มีเอกลักษณ์ที่น่าสัมผัส เช่น  หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่า มีปลานับพันชนิดอยู่ในลำน้ำที่สมบูรณ์ ที่รอให้คนจากภายนอกมาสัมผัสด้วยตาของตนเอง ซึ่งทุนทางสังคม เป็นส่วนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเชื่อว่าทุกพื้นที่ของประเทศไทยก็สามารถทำได้

เสียงขานรับจากคนพื้นที่อย่าง อภิสิทธิ์ บินซา ผู้ประสานงานท่องเที่ยวชุมชน หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จ.นราธิวาส ที่เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวของชุมชนเกิดจากการที่ สสส. เข้ามาหนุนการจัดการป่า และอาหารในชุมชน เมื่อมองเห็นศักยภาพ และต้นทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ จึงร่วมกันจัดตั้งการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา เป็นหมู่บ้านที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสมาชิกผู้ต่อต้านอังกฤษที่ปกครองมาลายา แต่หลังจากมีการเซ็นสัญญายุติการต่อสู้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 โดยมีรัฐบาลไทยเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย

โดยนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน นอกจากจะได้สัมผัสกับหมู่บ้านในม่านหมอกท่ามกลางหุบเขาสีเขียวและผู้คนที่ยิ้มแย้มเป็นมิตรแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มาของชุมชน และเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรท้องถิ่น โดยแปรรูปให้เป็นสบู่ เทียนหอม และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่สามารถใช้ในชุมชนเพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสามารถขายเป็นสินค้าของฝากได้ต่อไปได้อีกด้วย

อีกพื้นที่คือ “ตำบลบางปู” ชุมชนมุสลิมที่อยู่ริม “อ่าวปัตตานี” ซึ่งมีความเก่าแก่นับร้อยปี มีป่าชายเลนยะหริ่งที่มีพื้นที่เกือบหมื่นไร่ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย เต็มไปด้วยป่าโกงกางหนาทึบ ต้นสูงใหญ่กว่า 10 เมตรขึ้นไป ทำให้กลายเป็นเหมือนอุโมงค์โกงกางที่มีความสวยงาม การท่องเที่ยวชุมชนจึงเกิดขึ้นโดยหวังอยากให้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้มาสัมผัสบรรยากาศที่สวยงาม อาหารทะเลที่อร่อย และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนมุสลิม

คมกริช เจะเซ็ง เลขาเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนบางปู จ.ปัตตานี กล่าวว่าการท่องเที่ยวในพื้นที่ในระยะเริ่มแรกเป็นการทำแบบไม่มีองค์ความรู้ทำให้ยังจับทางไม่ถูก แต่ก็ทำให้คนในชุมชนเริ่มให้ความสนใจ มีการจัดตั้งเพจเพื่อกระจายช่องทางการติดต่อให้กับนักท่องเที่ยว และได้ร่วมเป็นเครือข่ายตำบลสุขภาวะกับ สสส. บูรณาการองค์ความรู้ทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ อาหาร และลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน เพราะปัญหาหลักของชุมชนคือ ยาเสพติด ซึ่งผลที่ได้คือปัญหาลดลง เพราะเมื่อคนในพื้นที่สามารถสร้างรายได้ของตนเองได้พึ่งพาตนเอง มีความสุขในการดำเนินชีวิต ปัจจัยเสี่ยงก็ลดลง

“ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาตลอดทั้งปีโดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ค.- ก.ย. ที่มีหิ่งห้อยอยู่เป็นจำนวนนับหมื่นๆ ตัว ทำให้เกิดบรรยากาศล่องเรือชมหิ่งห้อยที่สวยงามมาก อีกทั้งยังมีการสร้างศาลาลอยน้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวพักชมธรรมชาติ เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำหรับการถ่ายรูปอีกด้วย ซึ่งหากใครคิดว่า 3 จังหวัดชายแดนเป็นเมืองที่น่ากลัว หากลองมาสัมผัสที่นี่เชื่อว่าจะเปลี่ยนความคิดที่มีอยู่ได้แน่นอน” คมกริชให้ข้อมูลทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ