Lifestyle

ติดอาวุธ คนสร้างสุข ในวันที่ถ่ายโอน รพ.สต สู่ ท้องถิ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกิดกระแสทั้งด้านบวกและลบ หลังมีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการ เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี แม้หลายฝ่ายจะตระหนักดีว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปตามหลักการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ที่ต้องการกระจายอำนาจและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของคนในท้องที่ให้มีความคล่องตัวและตอบโจทย์งานแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

แต่ท่ามกลางความกังวลและโจษจันถึงความ“เปลี่ยนแปลง”ครั้งนี้จะเดินหน้าไปอย่างไร กับระบบใหม่ที่อาจไม่คุ้นเคย

แต่วันนี้มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รีรอตั้งคำถาม กลับเดินหน้าติดอาวุธ เตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงกับให้ “คนทำงาน” ด้านสุขภาพในท้องที่ นั่นคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มหาวิชชาชัยดอนแก้วสร้างสุข ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาะชุมชน (ศวช.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้จัดเวทีสานพลังสร้างฐานสุขให้คนไทย กำลังเดินหน้าโดยล่าสุดเพิ่งมีพิธีมอบปัญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข จำนวน 352 คนไปเมื่อเร็วๆ นี้

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่าสสส.และภาคีร่วมกันพํฒนา บทเรียนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ไปอยู่ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ภายใต้การกำกับของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

สสส. โดย สำนัก 3 ได้ร่วมกันยกระดับให้องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว เป็น “ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านสุขภาพ” โดยใช้ชื่อศูนย์ฝึกอบรมว่า “มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข” ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรม ได้ถูกพัฒนาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับมหาวิชชาลัยดอนแก้ว ใช้ชื่อว่า “หลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน” (Management for Healthy Community : MHC)

โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถ่ายโอนรับการฝึกอบรม จำนวน 28 แห่ง รวมทั้งสิ้น 352 คน

ซึ่งจากการฝึกอบรมได้เห็นถึงจุดแข็งของการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถ่ายโอนได้ดึงศักยภาพทุนทางสังคมของชุมชนท้องถิ่นมาเป็นกำลังหลักในการจัดการตนเองด้านสุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มอายุและครอบคลุมทุกภาวะคุกคามต่อสุขภาพ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1) บริการสาธารณะด้านสุขภาพ 2) ชุมชนจัดการสุขภาพ และ3) การบูรณาการของทุกภาคส่วนในการสร้างสุขภาพชุมชน ผ่านรูปธรรมการทำงาน ใน 7 ประเด็นตัวอย่าง ได้แก่ 1) การดูแลเด็กปฐมวัย 2) การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 3) การดูแลผู้สูงอายุ 4) การดูแลคนพิการ  5) การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 6) การดูแลผู้ป่วยจิตเวช และ 7) การจัดการโรคระบาด

            "การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ และการปฏิรูปแนวทางการจัดการภารกิจการบริการสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดเวทีการเรียนรู้แนวคิดหลักการ เทคนิคและวิธีการในการบริหารจัดการพื้นที่ การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาเครือข่ายและนโยบายสาธารณะด้านการดูแลสุขภาพประชาชน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน เพื่อสานพลังเครือข่ายให้ขับเคลื่อนการจัดการภารกิจด้านการดูแลสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาวะของประชากรในชุมชน” ดวงพรกล่าว

ที่ดอนแก้วเป็นรุ่นแรกที่นำร่องการถ่ายโอน โดยความสมัครใจของ นพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว เชียงใหม่ ที่ต้องการนำสุขภาพที่ดีมาสู่คนดอนแก้ว

ดอนแก้วเริ่มถ่ายโอนเมื่อปี 2550 โดยเกิดจากวิสัยทัศน์ของดอนแก้วที่ต้องการสร้างบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน  และไม่ติดเงื่อนไขเก่าๆ แนวคิดเดิมๆ ซึ่งด้วยความเข้มแข็งของคนในพื้นที่ทำให้ความสำเร็จมาถึงจุดนี้

“มองว่า รพ.สต.กับ อบต.ก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือความอยู่ดีความสุขของพี่น้องประชาชนดังนั้นจึงควรเดินไปด้วยกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการเต็มที่”

อีกคำบอกเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของสุชีลา พลไสย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เทศบาลตำบลเขาสมอคอน  อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี

กับการทำงานมากว่าสามสิบปี ว่าแต่ก่อนการทำงานจะถูกจำกัด ด้วย” คน เงิน ของ” เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทต้องดูแลสุขภาพคนทั้งประเทศ ทำให้จำเป็นต้องวางนโยบายเน้นภาพกว้างและภาพใหญ่ และเป็นนโยบายเดียวกันซึ่งใช้กับประชากรทั้งประเทศ

“แต่คนทำงานอย่างเราเองก็รู้ดีว่า บางนโยบายอาจไม่เหมาะกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เหมือนเป็นการตัดเสื้อมาหนึ่งตัวมีไซส์เดียวแต่ใช้กับคนทั้งหมด ทีนี้ทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคือทำอย่างไรให้ทุกคนใส่เสื้อตัวนี้ให้เหมาะสม จึงค่อนข้างลำบาก เพราะเราไม่สามารถวางแผนได้ว่า สำหรับคนใน อบต.ท่าวุ้ง ควรทำแบบไหนที่จะทำให้เราดูแลพี่น้องในชุมชนได้มากที่สุด

“แต่บางครั้งตัวชี้วัดบางตัวก็ไม่จำเป็นหรือควรนำมาใช้กับพื้นที่เรา อย่างเช่น มะเร็งปากมดลูก คนในพื้นที่เราไม่มีใครเป็นหรือเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ที่สำคัญผู้หญิงในชุมชนเองเขาก็ไม่กล้ามาตรวจกับเราเพราะรู้จักกัน เขาอายเรา เราก็ต้องให้ไปตรวจที่อื่น

“เราถ่ายโอนรุ่นที่ 2 ในปี 2555 แม้เดิมต้นสังกัดจะไม่ค่อยอยากให้เรามา แต่เราบอกว่าเราอยากลอง ของลองไปทำดู

หลักการก็คือว่าอนามัยที่ได้รับการถ่ายโอนสามารถที่จะปรับปรุงแนวทางการทำงานหรือสิ่งที่ต้องการปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมด เราเริ่มจากระดมทุนเพื่อขอปรับปรุงอาคาร เพราะเมื่อก่อน รพ.สต.เดิมเป็นอาคารใต้ถุนสูง ต้องเดินขึ้นบันได ซึ่งลำบากมากสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ต้องเดินขึ้นไป”

ผลจากการโอนถ่ายครั้งนั้น ในวันนี้ทำให้ ท่าวุ้งได้อาคารกายภาพบำบัดมาหนึ่งหลัง ที่คอยเปิดบริการแพทย์แผนไทย บริการทันตกรรม

“การมีอาคารแห่งนี้ทำให้เรามีพื้นที่การบริการมากขึ้น โดยอาคารนี้เราต่อเติม โดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย เพราะเราจัดงานทอดผ้าป่าให้ชาวบ้านช่วยกันบริจาคจนได้เงินทุน เพราะทุกคนไม่มีใครอยากขึ้นบันได”

นอกจากนี้ รพ.สต. ยังเพิ่มเติมทั้งส่วนบริการ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย ที่สำคัญทั้งหมดเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรองบประมาณ

ในด้านการทำงาน รพ.สต. ท่าวุ้งเน้น 4 มิติในการดูแลสุขภาพพี่น้องในชุมชน ได้แก่ การรักษา ป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟู

“ในเรื่องการป้องกัน คัดกรองเรายังคงทำตามระบบกิจกรรม แต่เรามองเรื่องฟื้นฟูเป็นเรื่องสำคัญที่สุดค่ะ เพราะเราเชื่อว่าคือแนวทางที่จะทำให้คนในชุมชนท่าวุ้งสามารถอยู่อย่างมีความสุข มีคุณค่าและมีสุขภาวะ  เราเชื่อว่าหมอที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น หน้าที่เราคือเป็นคนเอื้อให้เขา

“ทุกวันนี้แม้จะเป็นข้าราชการถ่ายโอนแต่ศักดิ์ศรีและสิทธิเรายังมีเท่าเดิม สิ่งไหนที่เรายังได้ก็ยังได้เหมือนเดิม ทุกวันนี้เราเก็ยังได้รับเงินเดือนและสิ่งต่างๆ เหมือนเดิมติดไปจนเกษียณ”

 

           

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ