Lifestyle

ร่วมแรง ร่วมใจ คืน “คลองเลข 3” ใสสะอาดสู่ชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลายคนอาจแปลกใจกับชื่อ “คลองเลข 3” และหาไม่พบว่าคลองนี้ตั้งอยู่ที่ใด เพราะคลองเลข 3 คือชื่อที่การประปานครหลวง (กปน.) เรียกแนวคลองที่ต่อเนื่องกันมีรูปร่างลักษณะคล้ายเลข 3 ได้แก่ คลองบ้านพร้าว คลองอ้อม และคลองบางหลวงเชียงราก ซึ่งคลองเหล่านี้เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน มีความยาวรวมประมาณ 22 กิโลเมตร อยู่ในเขต อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

แม้ว่าพื้นที่บริการของ กปน. จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ แต่จังหวัดปทุมธานีก็เป็นอีกพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะจุดรับน้ำดิบทางฝั่งตะวันออกของ กปน. ก่อนจะนำน้ำจากสถานีสูบน้ำดิบมาผลิตเป็นน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อความมั่นใจและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกภาคส่วน กปน. จึงให้ความสำคัญ ดูแลรักษา รวมทั้งตรวจสอบเฝ้าระวังแหล่งน้ำดิบให้มีคุณภาพอยู่เสมอ

คลองเลข 3 ปทุมธานี แหล่งน้ำสำคัญของประเทศ

 จังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านประมาณ 30 กิโลเมตร มีคลองธรรมชาติและคลองชลประทานถึง 84 คลอง และยังเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำของ กปน. และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ด้วย ดังนั้น จังหวัดปทุมธานีจึงเป็นแหล่งน้ำประปาที่สำคัญของเทศ

ในอดีตคลองเลข 3 มีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ชุมชนสามารถนำน้ำจากคลองมาใช้อุปโภค บริโภคและการเกษตรได้ แต่หลายปีที่ผ่านมาพื้นที่โดยรอบคลองเลข 3 มีการขยายตัวของที่พักอาศัย ภาคเกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการรุกล้ำพื้นที่ริมคลอง แนวร่องน้ำเดิมตื้นเขิน มีผักตบชวาขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น น้ำในคลองไม่สามารถไหลเวียนได้ และน้ำเสียจากชุมชนและเกษตรกรรมที่ระบายลงคลอง ส่งผลให้น้ำในคลองเสื่อมคุณภาพลง

ด้วย กปน. มีสถานีสูบน้ำดิบสำแลซึ่งตั้งอยู่ข้างวัดสำแล ต.บ้านกระแชง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ติดปากคลองอ้อม หากมีการเปิดประตูระบายน้ำในบริเวณดังกล่าว อาจทำให้น้ำดิบซึ่งมีสารอินทรีย์สูงจากคลองอ้อมไหลเข้าสถานีสูบน้ำดิบแล้วเข้าในคลองประปา กระทบต่อกระบวนการผลิตน้ำ ซึ่งปัญหาคุณภาพน้ำที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของพื้นที่เท่านั้น แต่อาจกระทบกับประชาชนอีกกว่า 10 ล้านชีวิต

ก้าวเดินด้วยกัน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่คลองเลข 3 กปน. จึงมีโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองบ้านพร้าว คลองอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยดำเนินการในลักษณะโครงการประชารัฐ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ  กรมชลประทาน จังหวัดปทุมธานี หน่วยงานท้องถิ่น อบต. ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ บ้านกลาง เชียงราก บางพูน บางพูด สวนพริกไทย บ้านใหม่ บ้านกระแชง บางกระดี หน่วยงานเอกชน เช่น นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงชุมชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองเลข 3 ให้กลับสู่สภาพดี และเกิดความร่วมมืออย่างยั่งยืน

การทำงานของโครงการฯ ประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งการประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ประสานกับกรมชลประทานเพื่อบริหารการเปิดปิดประตูน้ำในพื้นที่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้น้ำในคลองได้หมุนเวียน และมีการศึกษาการปรับสภาพคลองให้น้ำสามารถไหลได้เองโดยไม่ต้องผลักดันน้ำ ซึ่งในเบื้องต้น ต้องมีการนำน้ำดีมาผลักดันน้ำด้อยคุณภาพให้เจือจางลง  สำหรับจังหวัดปทุมธานีจะนำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดด้านสิ่งแวดล้อม มาบูรณาการการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังประสานกับกรมทางหลวง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคกับระบบไหลเวียนในคลอง ร่วมกิจกรรมกับสวนอุตสาหกรรมบางกะดี เพื่อมอบความรู้การเรื่องการรักษาทรัพยากรน้ำสู่เยาวชน และที่สำคัญ คือ ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสื่อสารข้อมูลและความรู้เรื่องการทิ้งน้ำลงคลอง เช่น การลดการใช้สารเคมี การกรองไขมันและเศษอาหารก่อนทิ้ง และร่วมกันกำจัดวัชพืชและขุดลอกคลอง แก้ปัญหาคลองตื้นเขินและตีบตันบางช่วง ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำไม่ไหลเวียนจนเสื่อมด้อยลง

มุ่งมั่นรักษาคลองเลข 3 อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน โครงการฯ นี้ได้ยกระดับเป็นคณะทำงานโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก และคลองบ้านพร้าว ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอำเภอ อุตสาหกรรมจังหวัด  ชลประทานจังหวัด  กปน. ฯลฯ โดยมีภารกิจในการร่วมกันปรับปรุงระบบการไหลเวียนของน้ำในคลอง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และบูรณาการความร่วมมือด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์แหล่งน้ำในพื้นที่คลองเลข 3

ในวันนี้ แม้จะมีคณะทำงานในโครงการฯ แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น การที่จะช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ดีที่สุด ไม่ใช่เพียงการทำงานของหน่วยงาน แต่คือความร่วมมือของประชาชนทุกคน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาปกป้องดูแล ไม่ทิ้งขยะ น้ำเสียลงคลอง เมื่อชุมชนเข้าใจความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้จากการรักษาคลอง ภาพของคลองเลข 3 ที่ใสสะอาดก็จะสำเร็จได้อย่างยั่งยืน…เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในทุกมิติของทุกคน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ