Lifestyle

พลังภาคีฯ ไทย รวมใจร่วมต้าน‘บุหรี่’ ภัยคุกคามสุขภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแก้ปัญหาเรื่องบุหรี่ ต้องอาศัยข้อมูลที่ละเอียด เพื่อนำมาขยายเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุด งานวิจัย จึงเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวในพิธีปิด งานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด "บุหรี่ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือดสมอง"จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ

ที่ผ่านมาบุหรี่ คร่าชีวิตคนไทยปีละ 50,000 คน และประเทศไทยต้องสูญเสียเม็ดเงินจากการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ ถึงปีละ 75,000 ล้านบาท  ข้อมูลจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี พ.ศ.2559 ประเทศไทย มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็น 32.3 คนต่อแสนประชากร และโรคหลอดเลือดในสมองเป็น 48.7 คนต่อแสนประชากร

แม้ปีนี้สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง เหลือร้อยละ 19.1แต่การทำงานควบคุมยาสูบต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ดังนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ งานนี้จึงได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาแนวทางดำเนินงานร่วมระหว่างภาคีเครือข่ายในการควบคุมยาสูบที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน

การมอบรางวัลงานวิจัยศจย.ดีเด่น ถือเป็นการมอบกำลังใจให้กับนักวิจัยที่ตั้งใจค้นคว้าข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยทุกผลงานวิจัยล้วนมีคุณค่าในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการเพื่อการควบคุมยาสูบของประเทศ

 อย่างไรก็ดีการมอบรางวัลงานวิจัยศจย.ดีเด่น เป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมในงานครั้งนี้  นอกจากนั้น ในงานยังมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยน เสวนา ถอดบทเรียนและถ่ายทอดยุทธศาสตร์การทำงานต้านบุหรี่แบบมีส่วนร่วม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า หากจะเปรียบเทียบภารกิจที่ร่วมกันควบคุมการบริโภคยาสูบซึ่งเป็นการช่วยเหลือกันระยะยาวอย่างต่อเนื่อง สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยได้จำนวนมากและช่วยชีวิตคนไทยได้มหาศาลยาสูบทำให้เกิดพิษภัยและโรคต่างๆมากมาย ภาพที่คนติดตา คือ มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง แต่สิ่งหนึ่งที่คนยังไม่รู้ คือ บุหรี่ เป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด ถ้าเราควบคุมการสูบบุหรี่ได้ เราก็ลดการเสียชีวิตของคนไทยไปได้จำนวนมาก มาตรการในการควบคุมก็มีตั้งแต่ทำยังไงให้คนที่ไม่สูบบุหรี่รู้ถึงพิษภัยและไม่สูบบุหรี่ และความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีมาตรการทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมาย ค่านิยม และทัศนคติ เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเยาวชนรุ่นใหม่ถือเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะผลักดันการควบคุมการบริโภคยาสูบซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง

ด้านดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงการผลักดันและสนับสนุนเครือข่ายที่ทำงานควบคุมยาสูบ ว่าการควบคุม ลด ละ เลิก บุหรี่ เป็นภารกิจสำคัญ ของ สสส. ซึ่งหน้าที่สำคัญของ สสส. คือการสนับสนุนผู้สนใจ ผู้ทำงานหลัก และทุกภาคส่วนในการควบคุมยาสูบในด้านต่างๆ ซึ่งสถิติสำคัญที่แสดงถึงชัยชนะขั้นต้น คือ พบว่า ผลการสำรวจปี 2560 การสูบบุหรี่ของคนไทยลดลง โดยภาคีทุกหน่วยงานเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้การสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงเกือบ 20 %ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยจะลดลงเหลือ ร้อยละ 16.7  ภายในปี 62

“หัวใจสำคัญอีกอย่าง คือควันบุหรี่มือสอง ซึ่งผู้ที่รับผลกระทบโดยไม่ได้เป็นผู้สูบเอง มีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ อย่างตลาดสด ร้านอาหาร และสถานีขนส่ง ซึ่งต้องช่วยกันรณรงค์และขับเคลื่อนให้เห็นถึงโทษภัยของการสูบบุหรี่ ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นส่วนหนึ่งจากการที่สูบบุหรี่ ซึ่งถ้าทุกภาคส่วนช่วยรณรงค์และกระจายความรู้ให้กว่างขวางขึ้น คงจะช่วยผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม”ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

อีกหนึ่งโครงการที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และมีผลของการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ นั่นคือ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน  โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าสู่การทำงานในปีที่ 3 แล้วโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือและดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข สสส.ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมหมออนามัยสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข  สมาคมอาสาสมัครเพื่อสังคมไทย (อสม.) และภาคีเครือข่าย

ดร.นพ.ภานุวัฒน์  ปานเกตุ  รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงบทบาทของการทำงานของ อสม.ในการดำเนินโครงการนี้  ว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีภารกิจหลัก คือ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและตนเอง รวมถึง ส่งเสริม กำกับ ดูแล อสม. ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน  ผ่านการทำงานของอสม.4.0 โดยมีวิธีดำเนินงาน 3 ขั้นตอน คือ  1. อสม.ต้องเลิกบุหรี่ 2.ชวนให้คนรอบข้างเลิกบุหรี่และเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 1-3 คน และ 3. ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ในที่สุด

เช่นเดียวกับ ดร.นพ.บัณฑิต  ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึง การดำเนินโครงการในการสร้างความร่วมมือและผนึกภาคีเครือข่าย ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ว่า โครงการดังกล่าว เป็นกลไกความร่วมมือของภาคเครือข่ายและ อสส. และ อสม. โดยอาศัยพลังของ อสม.ในการตรวจสอบและชักชวนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการบำบัดผู้สูบบุหรี่ในระบบเป็นเรื่องที่จำเป็น  รวมถึงเป็นมาตรการในการรณรงค์นักสูบหน้าใหม่  และมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อม เช่นการขึ้นภาษี การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ โดยยุทธศาสตร์ 4 ด้านที่สนับสนุนโครงการนี้ ได้แก่ การขับเคลื่อนด้วยพลังของ อสม. , เป็นการสร้างกระแสคู่ขนาน มีการรณรงค์ทุกเดือนในวันสำคัญต่างๆ,การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลวิชาการ รวมไปถึงการจัดตั้งชมรม โดยเชื่อว่า ปีที่ 3 ในการดำเนินโครงการนี้จะมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงกว่าสองปีแรกอย่างแน่นอน รองผู้จัดการ สสส.กล่าว

นี่คือส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ปลอดบุหรี่ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ