Lifestyle

แกนนำเยาวชนหวั่นเด็กไทยจมลึกพนันบอลออนไลน์ เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกัน สกัดวงจรเสี่ยง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟุตบอลโลก เป็นเทศกาลกีฬาใหญ่ที่มาทุก 4 ปี แต่ปีนี้บอลโลก 2018 ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น ทำให้การพนันฟุตบอลในรูปแบบเดิมพัฒนาเข้าสู่การพนันออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่การพนัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดหรือยุคไหนก็คือการพนัน

จากการสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการเล่นพนัน ประจำปี 2560 พบว่า คนไทย ร้อยละ 75.2 หรือเกือบ 40 ล้านคน เคยเล่นการพนัน โดยมีจำนวนผู้ที่เล่นพนันฟุตบอลราว 2.5 ล้านคน เป็นกลุ่มเยาวชน อายุ 15-25 ปี กว่า 6 แสนคน และมีนักพนันหน้าใหม่ที่เริ่มเล่นการพนันครั้งแรกในปีที่ผ่านมาถึง 1.1 แสนคน” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการติดตามเฝ้าระวังของศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะ การลดปัจจัยจากการพนันของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติที่พบว่า ในช่วงปี 55-59 การพนันออนไลน์ที่เด็กวัยรุ่นนิยมมากที่สุดคือฟุตบอล โดยในระหว่างปี 58-59 ได้มีเว็บไซต์การพนันมากถึง 213,000 เว็บไซต์ ทำให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นกลุ่มเสี่ยงใหญ่ เนื่องจากการเข้าถึงง่าย และเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้สถานการณ์การเล่นพนันของเด็กมัธยมต้นพบว่า เด็กม.1 ถึง ม.3 รู้จักการเล่นพนันจากคนในครอบครัว ชุมชน และญาติ โดย 1 ใน 4 บอกว่า รู้สึกอยากเล่นพนันเมื่อเห็นผู้ใหญ่เล่น

ข้อมูลเสริมอีกด้านจากฟากตัวแทนเยาวชนพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 13 – 21 ปี จำนวนกว่า 3 พันคนทั่วประเทศ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เด็กและเยาวชนร้อยละ 70 เข้าถึงช่องทางเว็บพนันออนไลน์ได้ง่ายกว่าการเข้าบ่อนหรือโต๊ะพนัน ในขณะที่ร้อยละ 20.6 ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่มีโอกาส แต่หากมีโอกาสก็ย่อมสามารถเข้าถึงเว็บพนันได้ง่ายกว่าบ่อนหรือโต๊ะพนัน ซึ่งจะทำให้มีผู้เข้าถึงการพนันผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 90 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่ออนาคตของชาติ  นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนร้อยละ 62.2 ระบุว่าเคยเห็นโฆษณาของเว็บพนันทุกครั้งที่ออนไลน์ โดยมีผู้ที่พบเห็นแบบนานๆ ครั้งอีกร้อยละ 25.5  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า กว่าร้อยละ 80 ของเด็กและเยาวชนที่ใช้ระบบออนไลน์จะได้รับทราบการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อทำการตลาดของผู้ให้บริการเว็บพนันซึ่งมีนับแสนเว็บไซต์

เมื่อวันนี้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนที่รวดเร็ว รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการพนันผ่านทางโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น

ทำให้ 3 แกนนำองค์กรเยาวชน ไม่ดูดายและอยากเห็นความเอาจริงเอาจังของปัญหาดังกล่าวและมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการลดปัญหาการพนันในสังคมไทย  จึงจูงมือกัน เข้ายื่นหนังสือต่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เพื่อแสดงความขอบคุณและเป็นกำลังใจให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในการป้องกันและปราบปรามธุรกิจพนันด้วยความเข้มแข็งจริงจัง โดยมี พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนรับหนังสือ ณ ทำเนียบรัฐบาล

ณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เอ่ยว่า “ในฐานะตัวแทนเด็กและเยาวชน ขอให้รัฐบาลช่วยเผยแพร่สื่อรณรงค์ต่างๆ ที่เครือข่ายจัดทำขึ้น ตลอดช่วงเวลา 1 เดือนในการแข่งขันฟุตบอลโลก  และพวกเรามุ่งหวังให้มีการทำงานป้องกันและปราบปรามการพนันทายผลฟุตบอลอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ไม่เพียงเฉพาะในช่วงเทศกาลฟุตบอลที่สำคัญเท่านั้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการพนันที่มีกฎหมายชัดเจน เช่นเดียวกับคณะกรรมการควบคุมยาสูบหรือแอลกอฮอล์ด้วย เพื่อให้เป็นหน่วยการควบคุม รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของผู้ที่ติดพนัน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคมที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการลดปัญหาและผลกระทบจากการพนัน” 

ด้านธนวัฒน์ พรหมโชติรองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่ลูกหลานอย่างใกล้ชิด แต่ก็อยากให้มีบทลงโทษที่เป็นยาแรงมากขึ้น  และควรแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.การพนัน ที่ใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ด้วย เพราะปัจจุบันนี้เป็นยุคของการพนันออนไลน์และการพนันประเภทใหม่ๆ อีกมากมาย  ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ไม่มีมาตราที่คุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงมาตรการควบคุมและกำกับดูแลที่ชัดเจนเลย  และกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ควรมีการปรับปรุงเช่นกัน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกด้าน  ทั้งนี้ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยทั้ง 8,780 แห่ง ทุกระดับทั่วประเทศ มีความตื่นตัวต่อปัญหาการพนันทายผลฟุตบอลในช่วงฟุตบอลโลกปีนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมและสื่อรณรงค์ต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเยาวชนในแต่ละภูมิภาค 

“พวกเราชื่นชมและขอบคุณที่รัฐบาลเข้มงวดกวดขันจริงจังมากในช่วงฟุตบอลโลกปีนี้ แต่ก็อยากให้ทำอย่างต่อเนื่องตลอดไปแบบเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยมาตรการที่สนับสนุนการแก้ปัญหาในทุกมิติ โดยร่วมมือกันทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจน มีขั้นตอนการจับและปิดเว็บพนันให้รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือปิดทันทีที่จับได้เลยยิ่งดี เพราะเด็กอยู่กับโลกออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้เข้าถึงเว็บพนันได้ง่าย และไม่ควรปล่อยให้มีเว็บพนันจำนวนมากเช่นนี้”  พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยกล่าว

ส่วนอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้น เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จึงได้ร่วมมือกับหลายฝ่ายจัดทำโครงการผลิตสื่อรณรงค์ประเด็นการพนันในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ภายใต้หัวข้อ “การสื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนัก รู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อของการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึง

 “โลกอินเทอร์เน็ตทำให้มีการพัฒนา ที่เราเข้าถึงได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา ทำให้ชีวิตของคนในสังคมได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของอินเทอร์เน็ตมากขึ้นแต่ในทางกลับกัน เรื่องของโทษหรือว่าสิ่งที่อาจเป็นอันตรายก็มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น” ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวถึงการพนันออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย

ด้าน ดร.สุปรีดา ผู้จัดการ สสส.ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า “สำหรับการจัดโครงการในครั้งนี้เป็นการใช้มุมมองของเด็กและเยาวชนที่มองเห็นโทษของการพนันที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์สั้น โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความตระหนักรู้เท่าทัน และหยุดยั้งการเล่นพนันฟุตบอลที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลของฟุตบอลโลก 2018 นี้ และหวังว่าสื่อภาพยนตร์สั้นดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เผยแพร่ในช่วงคั่นโฆษณาระหว่างฟุตบอลโลกอีกด้วย”

นฤมล กูสนั่น ตัวแทนจากทีม BUCA คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากผลงานเรื่อง “คู่ตรงข้าม” กล่าวถึงแนวคิดในการผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นของทีมตัวเองว่า  ต้องการนำเสนอให้ผู้ชมเห็นถึงจุดจบของการพนัน ที่ผู้พนันสามารถเลือกได้เองว่า จะเลือกจุดจบของตนเองแบบไหน เพราะการพนันบอลมันง่ายเพียงถ้ามีโอกาสที่ถูกหยิบยื่นจากเพื่อนเพียงนิดเดียว เพียงแค่ปลายหยิบนิ้ว บวกกับสื่อดิจิทัลที่ทุกคนมีอยู่ จึงอยากให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงจุดนี้

“สังคมในปัจจุบันเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 เด็กในยุคนี้จึงเป็นคนยุคดิจิทัล เลยอยากนำเสนอสื่อให้มันเป็นรูปแบบดิจิทัลผสมกับสื่อดั้งเดิม คือ ในอดีตกว่าจะพนันได้ต้องไปโต๊ะบอล แต่ทุกวันนี้มันง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว เราสามารถเล่นพนันได้ผ่านสมาร์ทโฟน”

ในขณะที่กฤษฎา ภิญโญจิตร์ ตัวแทนจากทีมฤดูสน โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน จากผลงานเรื่อง “จุดจบเดียวกัน” (In The End)กล่าวถึงแนวคิดในการผลิตภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ว่าเพราะความอยากรู้อยากลองของวัยรุ่น ที่ไม่ว่าใครที่เดินเข้ามาสู่วงจรของการพนันแล้ว จะพบกับจุดจบเดียวกัน โดยบทเรียนที่ผู้ชมจะได้จากภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้คือ ผลลัพธ์ของการอยากรู้อยากลองในสิ่งที่ผิด ไม่ว่าจะในยุคไหนรูปแบบใดก็จะมีจุดจบเดียวกัน

นอกจากนี้ สสส.ยังร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เปิดนิทรรศการ “สกัดจุดโทษ”ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2561  เพื่อรณรงค์ลดปัญหาและผลกระทบจากการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลในช่วงฟุตบอลโลก 2018 นี้ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้และรู้เท่าทันโทษพิษภัยของการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนันออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ทุกที่ ทุกเวลา โดยจัดขึ้นที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซอยงามดูพลี จากลานน้ำพุ ชั้น 1 สู่ชั้นใต้ดิน พร้อมทั้งมีกิจกรรม เกมละครการเรียนรู้ ชุด “ตะลุยรัสเซียเชียร์บอลโลก กับพี่โชค พี่ทำ”  เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการทบทวนตนเอง และผ่านประสบการณ์ตรงจากกิจกรรมเกมละคร และยังร่วมกับเครือข่ายภาคีในการผลิตสปอตรณรงค์ทางโทรทัศน์ การผลิตคลิปรณรงค์ทางสื่อออนไลน์ การจัดทีมวิทยากรสัญจรสร้างการเรียนรู้แก่นักเรียนในโรงเรียนมัธยมและชุมชนต่างๆ รวม 100 แห่งทั่วทุกภูมิภาค โดยมุ่งสกัดคนเริ่มและลดคนเล่นการพนันทายผลฟุตบอล ด้วยความรู้เท่าทันโทษพิษภัยและผลกระทบที่จะตามมา

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า ปัญหาการติดการพนันทางการแพทย์จัดว่าเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง และมีผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชนซึ่งสถานการณ์การพนันกลุ่มเยาวชน 2560 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันคาดว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะมีเด็กนักเรียนระดับมัธยมมากกว่าร้อยละ 10 ที่ตั้งใจจะเล่นพนันทายผลฟุตบอล บางคนอาจเล่นกับเพื่อนหรือคนใกล้ชิด แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจจะเล่นการพนันกับธุรกิจรับแทงพนัน และเยาวชนที่เริ่มเล่นพนันจากการทายผลฟุตบอล มีสัดส่วนที่จะเล่นพนันอย่างต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 82.6  สสส. จึงให้ความสำคัญด้านการลดปัญหาและผลกระทบจากการพนัน โดยแผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคมดำเนินงานเพื่อพัฒนาเครือข่ายการทำงานเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาจากการพนัน สร้างภูมิคุ้มกันและสภาพแวดล้อมปกป้องเด็กและเยาวชน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ