Lifestyle

ถึงเวลาทบทวน “โอกาส” หรือ “วิกฤต” ในวันที่สงกรานต์ต้องมีเหล้า?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 ระบุว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 55.9 ล้านคน เป็นผู้ที่ดื่มสุราในรอบปีที่ผ่านมาประมาณ 15.9 ล้านคน (28.4%) สะท้อนจำนวนผู้ดื่มสุราลดลงจากเดิมเมื่อปี 2557 และ 2558 (32.3% และ 34.5%) ฟังดูแล้วน่าจะดีใจ

แต่...แม้ว่าสถานการณ์การดื่มของประชาชนไทยลดลง ทว่าผลกระทบจากสุราทั้งการบาดเจ็บ ตาย พิการ พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ มีให้เห็นตลอดระยะเวลาในช่วงเทศกาลหยุดยาวของคนไทยยังคงอยู่ตลอด10 ปีที่ผ่านมา

เมื่อหลายฝ่ายลงความเห็นแบบเอกฉันทน์ว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทและเมาในช่วง “เทศกาลสงกรานต์” ไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป หากแต่เป็นสถานการณ์ “วิกฤต” ของสังคมไทยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย  จึงมาร่วมถอดบทเรียนหวังผลักดันให้มีการทบทวนอย่างจริงจังและหามาตรการรับมือก่อนงานสงกรานต์ปีหน้าเสียแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่วันนี้

สงกรานต์เป็นเทศกาลที่น่ากลัวมาก วันแรกก็เกิดอุบัติหตุหรือมีผู้เสียชีวิตแล้ว เห็นได้ชัดเลยว่า “ความเมาและแอลกอฮอล์” เกาะติดชีวิตเราตั้งแต่วันแรกของเทศกาลพรหมมินทร์กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ

เขาเล่าต่อว่า ในฐานะของคนทำงานตรงนี้มากว่าสามสิบปี ยังคงพบสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวเพราะแอลกอฮอล์ รวมถึงช่วงสงกรานต์ไม่ได้ลดจำนวนลง หากกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ

“ยิ่งสงกรานต์ปีนี้ทำลายทุกสถิติ”ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุเอ่ย

ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่วันที่11-17 เมษายน 2561 ได้สรุปสถิติผู้เสียชีวิตสะสมถึง 418ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,897ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีผู้เสียชีวิต390ราย

พรหมมินทร์ยังเอ่ยถึงข่าวเหตุการณ์ที่ชายวัยรุ่น 4 คน ดื่มเหล้าขณะขับรถเล่นสงกรานต์ แล้วไลฟ์สดผ่านโซเชียลมีเดีย แล้วประสบอุบัติเหตุรถกระบะชนต้นไม้เสียชีวิตยกคัน ที่ได้กลายเป็นเรื่องสะเทือนขวัญและน่าเศร้าสลดใจในสังคมไทยที่สุดในสงกรานต์ปีนี้ โดยให้ข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้คนเราอยู่กับสื่อต่างๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งข้อความหรือภาพที่เห็นจากสื่อโฆษณา ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างสูง

ซึ่งคนในพื้นที่อย่าง สมควรงูพิมาย  ภาคประชาสังคมนครราชสีมา คืออีกหนึ่งบุคคลที่ได้รับรู้เรื่องราวสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดถ่ายทอดให้ฟังว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เรื่องราวหรือปัญหาไม่ได้จบแค่การสูญเสียชีวิตของ 4วัยรุ่น เพราะผลกระทบที่สำคัญยังคงตกเป็นภาระของคนที่ยังอยู่ เนื่องจากชายคนขับที่เสียชีวิตมีครอบครัว ลูก ภรรยาและพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดู เมื่อขาดคนหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ทุกคนต้องเผชิญกับความเดือดร้อน

“คนขับเนื่องจากเขาเมาแล้วขับ จึงไม่ได้มีค่าทำขวัญหรือค่าประกันสักบาท ที่สำคัญรถคันที่ชนยังผ่อนอยู่เลย รถพังแต่ยังต้องส่งค่างวดเดือนละ 9,000 บาท เราได้เข้าไปเยี่ยมบ้านพบสภาพครอบครัวยากจนมาก ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าเกิดเพราะในหมู่บ้านมีด่านชุมชน แต่พอขับขึ้นถนนใหญ่เท่านั้นเขาแวะซื้อเหล้าที่ไหนก็ได้

อีกข้อเท็จจริงบนเวทีเสวนา“ควันหลง...สงกรานต์  ถอดรหัส เจ็บ ตาย : หรือเกาไม่ถูกที่คัน”ผ่านการนำเสนอของ กนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปีนี้เธอและคณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ “จริง” ของเทศกาลสงกรานต์ระหว่างพื้นที่โซนนิ่งปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และพื้นที่ปกติ3จังหวัด คือ เชียงใหม่  ขอนแก่น และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กนิษฐาได้ตีแผ่ข้อมูลที่ทำให้หลายฝ่ายชวนอึ้งว่า จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เข้า กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจในเชียงใหม่ต่างยอมรับว่า แม้เทศกาลงานสงกรานต์จะส่งผลดีในแง่ธุรกิจการท่องเที่ยว แต่ทุกครั้งที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะนำไปสู่ปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะเบาะแว้ง การลวนลามทางเพศที่เกิดจากความเมาเป็นประจำ

ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวพบมากที่สุดในพื้นที่รอบคูเมือง จ.เชียงใหม่ ทั้งที่ปีนี้ถูกประกาศเป็นเขตโซนนิ่งปลอดสุรา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และห้ามใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ แต่กลับพบว่ายังมีการละเมิดตลอดช่วงการจัดงาน

“เราลงพื้นที่เก็บข้อมูล สิ่งที่เราเห็นคือ พบจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 182 จุด เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67 ขณะที่พื้นที่นอกเขตโซนนิ่งกลับเพิ่มแค่ร้อยละ 8 ที่แย่กว่าเดิมคือมีการเดินขายบนถนนด้วยโดยจากการสำรวจรอบคูเมือง เราพบว่ามีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ทั้งบนรถ ทางเท้าบนถนน แม้แต่ในงานพิธีกรรมด้านประเพณีและศาสนา หรือในงานขบวนแห่ดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เองก็ยังพบหลักฐานชัดเจนว่ามีคนดื่มแอลกอฮอล์สิ่งที่เราเจอคือคำพูดสะดุดใจว่า “มันเป็นประเพณี ถ้าห้ามไม่ให้ชาวบ้านดื่ม เขาก็จะไม่มาร่วมงาน แต่ความจริงแล้วพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่ประเพณีของคนเชียงใหม่ หรือจังหวัดอื่นๆ เลย

กนิษฐาเสริมด้วยสถิติสำคัญล่าสุดว่า ยังพบผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20ปีมากที่สุดถึง ร้อยละ 19.5 นอกจากนี้ในการจัดงานสงกรานต์เชียงใหม่ทุกครั้ง ยังมีปัญหาเรื่องขยะที่ถูกทิ้งมากมาย และน้ำเสียท่วมขังที่กลายเป็นภาระที่ต้องมาจัดการหลังจากเสร็จสิ้นการจัดงานในทุกปี

ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจทำให้ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะหากในวันข้างหน้าทุกคนเข็ดขยาด ไม่อยากมาเที่ยวประเพณีสงกรานต์เพราะความไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

“เราหวังว่าสถิติเหล่านี้จะลดลง แต่กลับสูงขึ้นทุกปี แล้วปีหน้าเราจะทำอย่างไรให้สถิติการเสียชีวิตน้อยลงได้” กนิษฐากล่าวด้วยความกังวล

ปัญหาที่มีต้นเหตุจากแอลกอฮอล์ ยังมีปัญหาอื่นที่ไม่ใช่แค่อุบัติเหตุ ทำให้ตั้งคำถามว่า ในค่านิยมความคิดเรื่องเทศกาลสงกรานต์ที่ต้องมี เมา-อุบัติเหตุ-โป๊เปลือย” นี้ ทำไมเราถึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบการรับมือให้มากขึ้นหรือไม่” พรหมมินทร์เอ่ยเสริม

เช่นเดียวกับความเห็นของวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าที่สนับสนุนว่าสถานการณ์ดังกล่าว ลำพังแค่ สสส.และเครือข่ายสามารถทำได้แค่เพียงเป็นน้ำมันหล่อลื่นในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ฝ่ายที่ต้องขับเคลื่อน ไปจนถึงกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง คือภาคนโยบายของประเทศ

ซึ่งแม้วันนี้เหล่าภาคีที่ตระหนักและห่วงใยปัญหาดังกล่าวจะจับมือกันจนสามารถส่งเสริมมาตรการหลากหลายรวมถึงการผลักดันพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำปลอดภัย ปลอดแอลกอฮอล์ต้นแบบในพื้นที่เล่นสงกรานต์สำคัญๆ ทั่วประเทศ จนขยายผลสู่ถนนตระกูลข้าวทั้ง 50 กว่าแห่ง ในพื้นที่เอกชนที่หันมาให้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมโดยปราศจากแอลกอฮอล์

แต่วันนี้ก็ยังเกิดกลยุทธ์ใหม่ๆ ของฝั่งผู้จำหน่ายหรือได้ผลประโยชน์จากเหล้าก็มากขึ้นอาทิ เกิดการจัดงานมิดไนท์สงกรานต์ (Midnight Songkran) ที่ได้กลายเป็นสถานการณ์หรืออีเวนต์ใหม่ ที่กำลังส่งผลให้คนตายและบาดเจ็บในช่วงเวลาดึกดื่นมากขึ้น และยังได้เปลี่ยนย้ายความตายจากถนนสายหลักสู่ถนนสายรองมากขึ้น

สรุปสุดท้ายในเสวนาวันนี้ ทุกฝ่ายจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ว่าควรขยายขอบเขตโซนนิ่งไปยังพื้นที่จัดงานเอกชนทั้งหมด และควรทำข้อตกลงกับร้านค้าและผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์เพื่อลดจำนวนกิจกรรมส่งเสริมการขายการดื่มในช่วงเทศกาล โดยภาคสังคมและหน่วยงานควรช่วยกันยกย่องสนับสนุนผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเหล่านี้ นอกจากนี้ควรตั้งหน่วย ฉก.เฉพาะกิจเพื่อควบคุมเครื่องดื่ม

“สิ่งสำคัญทุกคนต้องมีจิตสำนึกในเรื่องวินัย ทำยอ่างไรให้กลไกระดับจังหวัดมีบทบาทมากขึ้น ต่อไปเราอยากนำเสนอว่าหากใครจัดงาน ควรให้ผู้ว่าเป็นผู้ดูแลและต้องมีการขออนุญาตทุกครั้ง” พรหมมินทร์กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ