Lifestyle

มหัศจรรย์โลกใบเล็ก เมื่อเด็กมีพื้นที่สร้างสรรค์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

...

เมื่อโลกเล็กๆ ของเด็กไทย ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ไม่สำคัญอีกต่อไป การเปิดโอกาสให้เด็กวัย 2-6 ปีมีกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในด้านต่างๆ เพราะการที่เด็กได้เล่นอย่างอิสระ หัวใจความคิดของเขาก็จะมีความสร้างสรรค์กิจกรรมการเล่นของตัวเอง จะทำให้เขาเติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดีครบทุกด้าน และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมในอนาคต

สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ร่วมกับสำนักส่งเสริมวิถีสุขภาวะ (สำนัก 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะของเด็กปฐมวัยในศูนย์ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ  การติดตามเสริมศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ในศูนย์ฯ ผ่านโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการปฐมนิเทศครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 138 ศูนย์ และปี 2558 จำนวน  200 ศูนย์ กระจายครอบคลุมทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ เป็นเด็ก 20,517  คน  ครู 1,332 คน โดยในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 3 จึงมีการจัดอบรมเพิ่มอีกจำนวน 175 ศูนย์ โดยมีศพด.ต้นแบบจำนวน 17 ศูนย์ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพจนเป็นพี่เลี้ยงและแหล่งเรียนรู้ของศพด.อื่นๆ 

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน กล่าวว่าหัวใจแรกของโครงการนี้ คืออยากให้เกิดแรงบันดาลใจ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในตัวครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ เพื่อเปิดมิติใหม่ และสร้างทัศนคติ “เปิดพื้นที่ให้เด็กออกมาเล่น” คือการสร้างสรรค์พื้นที่ให้เด็กได้ออกไปมีกิจกรรมแอคทีฟ ได้ออกกำลังกาย พัฒนากล้ามเนื้อมัดต่างๆเพราะช่วงอายุนี้จะเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อและพัฒนาการของเราต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งยังส่งผลไปถึงการพัฒนาสติปัญญา สัมพันธ์กับการพัฒนาสมองและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

เข็มพรขยายความต่อว่า แต่ก่อนเราอาจมองแค่พัฒนาการของเด็กเฉพาะกรอบการให้การศึกษาพยายามเลี้ยงให้เด็กอยู่แต่ในห้อง ให้กินนม อาบน้ำ ประแป้ง นอน ทำให้เติบโตในรูปแบบนี้กลายเป็นเด็กนิ่งๆ อยู่ในกรอบระเบียบ ขาดโอกาสเรียนรู้พัฒนาการ ขณะที่ภาครัฐก็เน้นการลงทุนให้กับเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัยต่อหัวสูงมากกว่าการลงทุนเด็กเล็ก ทั้งที่เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการสำคัญของบุคลากรของประเทศตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น

“การสร้างแรงบันดาลใจให้ครูค้นพบศักยภาพของตัวเอง และสามารถระดมทรัพยากรในชุมชน เรามองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลายจุด”

เธอบอกว่าส่วนหนึ่งเพราะโครงการนี้จะเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันการได้เห็นตัวอย่างแนวคิดใหม่ๆ สร้างแรงกระตุ้นให้กับตัวครู แม้ว่าจะมีทรัพยากรหรือสนับสนุนงบประมาณน้อย ไม่ว่าจะมีพื้นที่น้อยแค่ไหน ครูจะต้องออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการเล่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกายของเด็กได้

โดยการเรียนรู้ระหว่างกันของกลุ่มครู จากการเกิดศูนย์ต้นแบบที่เป็นศูนย์พี่ศูนย์น้องเป็นเครือข่ายกัน ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ และรู้จักนำทรัพยากรชุมชนมาช่วยพัฒนา โดยไม่ต้องรอภาครัฐเพียงอย่างเดียว ชุมชนสามารถทำด้วยตัวเองได้

“ที่ผ่านมา สสส. ให้การสนับสนุนโครงการและให้การสนับสนุนงบประมาณและสื่อต่างๆ ไปแล้วกว่า 500 ศูนย์ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าด้วยกำลังของ สสส.สามารถให้การสนับสนุนในงบประมาณจำกัด และอาจไม่ได้เยอะมาก ดังนั้น ทางออกสำคัญที่เราอยากมุ่งเน้นคือการที่เขาได้มารับรู้แนวคิดใหม่ๆ ว่าเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กได้ ผ่านกรอบแนวคิด 3ดี  คือสื่อดี พื้นที่ดีและภูมิดี3 สิ่งนี้จะเป็นแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เราเห็นว่า เป็นการลงทุนแค่ไม่เท่าไหร่ แต่ก็ให้ผลได้มากมาย”

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจาก 2 ปีที่ผ่านมาคือ คุณครูเห็นคุณค่าและภูมิใจในงานที่ทำ ขณะที่สถิติการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กที่เล็กจากครูพี่เลี้ยงที่ผ่านการอบรมโครงการมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น  อาทิ ด้านวินัยและความรับผิดชอบ รู้จักถูกผิด เช่น เก็บของเล่น ไม่พูดปด ไม่ลักขโมย เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 75.51 จากเดิม ร้อยละ 34.88  ด้านความฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ ด้านกิจกรรมทางกาย เช่น มีการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 75.34 จากเดิมร้อยละ 40.08 และความสัมพันธ์ ความรู้จักผูกพัน การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น  มีทักษะในการสื่อสาร อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้  เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 73.57 จากเดิม ร้อยละ 37.68 

เข็มพรเสริมว่าไม่เพียงการเปลี่ยแปลงในตัวครู สิ่งที่เห็นเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กจากการดำเนินโครงการมา พบว่าเด็กแอคทีฟมากขึ้น  เด็กเริ่มมีพัฒนาการด้านร่างกายและความคิด กล้าแสดงออก จากหนังสือที่ครูเคยเป็นผู้คัดเลือกอ่านสื่อหนังสือให้ กลายเป็นเขากล้าตั้งคำถามและบอกความต้องการตัวเองได้ ว่าเขาต้องการเล่น จับเขามาขังทำไม แม้แต่ผู้ปกครองบางรายเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเคสที่เคยพูดไม่ได้ พูดไม่ชัด เริ่มเปลี่ยนไป

“จากการวัดพฤติกรรมเด็กที่ได้ออกไปเล่นข้างนอก ไม่เพียงแข็งแรงขึ้น ความสูงดีขึ้น น้ำหนักดีขึ้น กินผักและดื่มนมได้มากขึ้น นอนหลับดีขึ้น”สายใจ คงทน กลุ่ม We are Happy  แกนหลักในการติดตามเสริมศักยภาพโครงการ กล่าว

พร้อมอธิบายต่อว่าเป้าหมายสุดท้ายของการคิดสื่อเหล่านี้ คือการเรียนรู้ร่วมกันของครูและเด็ก และหลังๆ เริ่มมีพ่อแม่ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมเข้ามาช่วยจัดกิจกรรมให้กับลูกหลานของตัวเองพัฒนาศูนย์ให้มีความพร้อมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และสิ่งสำคัญคือเด็กๆมีความสุข หรือสุขภาวะที่ได้มาศูนย์และได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการที่คุณครูจัดขึ้นในทุกวัน  

“เราอยากให้เขามองว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานี่แหละคือสื่อเรียนรู้ของเด็ก บางคนใช้โรงละคร ใช้กล่องกระดาษ ไม่อัด หรือใบไม้มาทำสื่อประดิษฐ์บ้าง พัฒนาให้เด็กได้เล่นน้ำอย่างง่าย การปลูกผักสังเกตการเจริญเติบโต หรือมีการใช้ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นมาประกอบ”

โดยย้ำว่าชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้ความสำคัญ

“สิ่งนี้เป็นประเด็นใหญ่เลย เพราะหากเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เขาต้องดึงชุมชนเข้ามาสนับสนุน ศูนย์ที่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะขาดการมีส่วนร่วมดังกล่าว”

ด้านเข็มพรขยายภาพอนาคตของแนวคิดดังกล่าวนี้ว่า ควรขับเคลื่อนไปสู่ภาคนโยบาย รัฐต้องให้การลงทุนสนับสนุนด้านทรัพยากรมากขึ้น และองค์กรส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุน

“เพราะนี่คือการสร้างคนที่มีศักยภาพในท้องถิ่น และต้องให้กำลังใจเชิดชูครูเหล่านี้ ว่ามีความสำคัญมากกว่านี้” เธอกล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ